จับตามาตรการความพร้อม หลังพ้น กม.นิรโทษ 19 พ.ค.

ใกล้จะครบกำหนดเส้นตาย 90 วันของการแจ้งนิรโทษครอบครองกัญชาสำหรับกลุ่มที่ได้รับการละเว้น หากมาแจ้งการครอบครองก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตได้ เช่น หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย ฯลฯ กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคอยู่ และ 3.กลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่ต้องส่งมอบของกลาง และหากจะขออนุญาตต้องทำตามกฎหมาย

โดยหลังจากวันที่ 19 พฤษภาคม ใครที่ครอบครองโดยไม่ได้แจ้งมาทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และไม่ได้แจ้งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตามกฎหมาย หากพบมีการครอบครองย่อมเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที

เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเกิดข้อห่วงใยว่า ด้วยสถานการณ์การขึ้นทะเบียนครอบครองกัญชาดูจะไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เพราะข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เมษายน 2562 พบว่ามีผู้ครอบครองกัญชาในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย ฯลฯ มีจำนวน 19 ราย ส่วนกลุ่มผู้ป่วย มี 6,395 ราย และกลุ่มที่ 3 บุคคลอื่นๆ ที่ต้องส่งมอบของกลางมีเพียง 1 ราย จนนักวิชาการและแพทย์ต่างกังวลว่าจำนวนที่มาแจ้งไม่ใช่จำนวนทั้งหมด ยังมีอยู่ใต้ดินอีกมาก และหากพ้นกำหนดนิรโทษ ผู้ป่วยจะขาดแคลนสารสกัด หรือน้ำมันกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์หรือไม่

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ตามกฎหมายได้ให้ผู้ป่วยที่มาแจ้งการครอบครองมีสิทธิที่จะขอใช้น้ำมันกัญชา หรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ออกไปได้จนกว่าจะได้พบแพทย์ที่ผ่านการอบรมและได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะมีทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่ผ่านการรับรองคือ กรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการอยู่ โดยผู้ป่วยสามารถมาแจ้งขอการครอบครองว่าจะใช้ไปอีก 90 หรือ 180 วัน

Advertisement

อย่างแพทย์แผนปัจจุบัน ในวันที่ 29-30 เมษายน 2562 จะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์โดยกรมการแพทย์ ประมาณ 200 คน ออกมารุ่นแรก และทางเราก็ได้บอกกับทางกรมการแพทย์ว่าขอให้เพิ่มการอบรมขึ้นมาอีก นอกจากนี้ การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ นอกจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ยังมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมมือกันกับทางเครือข่ายจิตอาสาและหน่วยงานรัฐ ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำสารสกัดกัญชามาใช้ในผู้ป่วย ซึ่งการใช้ก็จะมีการติดตาม มีแนวทางการใช้ตามที่กรมการแพทย์ ซึ่งมีคณะกรรมการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา ขณะที่วัตถุดิบก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากมีหลายวิธีจะได้มา ไม่ใช่แค่การเริ่มปลูกใหม่เท่านั้น เราสามารถใช้ของกลาง ซึ่ง ป.ป.ส.เคยแจ้งว่ามีคุณภาพหลายเกรด บางเกรดก็ค่อนข้างดี โดยของที่มีคุณภาพดีและผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนก็จะสามารถนำมาใช้ได้

ประเด็นคือเราต้องการให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทั้งกลุ่มจิตอาสาที่ปลูก ผลิต กลุ่มผู้ป่วย และหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการร่วมกันศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอนุญาตเพียงเท่านี้

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการฝึกอบรมแพทย์แผนปัจจุบันที่จะสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ว่า สำหรับการอบรมแพทย์แผนปัจจุบันในการใช้กัญชาทางการแพทย์จะมี 6 รุ่น โดยรุ่นแรกเริ่มวันที่ 29-30 เมษายนนี้ เบื้องต้น 200 คน ซึ่งหลังการอบรมก็จะมีการสอบและนำใบที่ผ่านการสอบไปขึ้นทะเบียนกับทาง อย. เพื่อขออนุญาตในการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านการอบรมและได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ในระเบียบกำหนดว่าทุก 2 ปีหลังออกใบรับรองต้องมีกระบวนการรีเทรนด์กันใหม่ เนื่องจากองค์ความรู้เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

Advertisement

กรมการแพทย์ยังออกคู่มือให้กับแพทย์ด้วยว่า สิ่งสำคัญก่อนจ่ายยาต้องทำความเข้าใจกับคนไข้เรื่องต่างๆ และต้องทำทะเบียนในการติดตามผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดกัญชาด้วย เนื่องจากองค์ความรู้แบบนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก เรียกว่าเป็นการเก็บข้อมูลวิจัยจากการใช้จริง นอกจากนี้ ทางกรมการแพทย์ยังอยู่ระหว่างทำกรอบการวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้กัญชาอีกด้วย เพื่อให้เป็นตัวอย่างในการศึกษาเรื่องนี้

อธิบดีกรมการแพทย์ยังระบุว่า จริงๆ ตัวหลักสูตรในการอบรมนั้นไม่ได้เปิดให้เฉพาะกรมการแพทย์ทำการอบรมเท่านั้น หากหน่วยงานใดอยากจะจัดหลักสูตรก็สามารถส่งข้อมูลหลักสูตรมาให้ทางคณะกรรมการพิจารณา หากคณะกรรมการเห็นชอบก็สามารถจัดหลักสูตรได้ โดยหลักสูตรนั้นก็จะมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคู่มือคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น ก็จะระบุถึงโรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ การวางแผนการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์กัญชา และการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในทางการแพทย์ เป็นต้น และในอนาคตมีการหารือกันถึงคู่มือในการใช้กัญชาทางการแพทย์ฉบับประชาชน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้อย่างกว้างขวางด้วย

เห็นได้ว่า องค์กรรัฐได้มีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะในเรื่องของแพทย์ผู้จ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชา แต่สิ่งสำคัญในการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น คงต้องขอยกหลักคิดของ นพ.สมศักดิ์ที่ระบุว่า ในการทำงานเรื่องนี้ กรมการแพทย์ยึดปฏิบัติคือ 1.ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย 2.ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และ 3.ต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image