สภาเกษตรฯเร่ง สธ.ต้องสร้างมาตรฐานน้ำมันกัญชาทุกสูตร อย่าใช้แค่ดุลยพินิจของจนท.

สภาเกษตรฯเร่ง สธ.ต้องสร้างมาตรฐานน้ำมันกัญชาทุกสูตร อย่าใช้แค่ดุลยพินิจของจนท.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม ที่อาคาร 6 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นำเครือข่ายเกษตรและครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาแจ้งการครอบครองนิรโทษกรรม

นายประพัฒน์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณ อย. และสำนักงานงานสาธารสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ได้เปิดรับแจ้งรับแจ้งการครอบครองกัญชาในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เนื่องจากใกล้หมดเวลาแจ้งครอบครองในวันที่ 21 พฤษภาคม ปัจจุบันผู้ใช้กัญชารักษาตัวเองและเครือข่ายใต้ดินยังคงสับสนและกังวลใจที่จะเดินทางมาแจ้งครอบครองต่ออย. เพราะเกรงว่ากัญชาที่อยู่ในการครอบครองและใช้รักษาตัวเองอยู่นั้น จะถูกเปิดเผยข้อมูลและถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่ของกลางก็จะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารสุข (สธ.) ออกมาให้ความชัดเจนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนว่า สิ่งดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาสภาเกษตรกรฯ จะทำความเข้าใจต่อเครือข่ายได้ระดับหนึ่งเท่านั้น สภาเกตรกรฯ ขอให้ผู้ป่วยและเครือข่ายเดินทางมายื่นแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อประโยชน์ต่อตนแองในระยะยาว มิฉะนั้นทางหน่วยงานเกี่ยวข้องจะไม่มีระบบฐานข้อมูลในการพัฒนาและผลิตสารสกัดเพื่อผู้ป่วย เช่น ปริมาณของสารกัดที่จะต้องผลิต การปลูกและการใช้รักษาอาการป่วย สิ่งต่อมาที่เป็นห่วงคือ หลังครบ 90 วันแล้วทางสธ.จะทำอย่างไรต่อไป เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้คำตอบ

นายประพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากทางราชการไม่มีความสามารถในการสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอ เพราะมีขีดความสามารถในการทำน้ำมันกัญชาได้เพียงปีละไม่เกิน 2,000-3,000 โดส ขณะที่มีปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยต้องการใช้ถึง 100,000 โดส ดังนั้น จึงขอเสนอให้เครือข่ายใต้ดินที่ลักลอบสกัดน้ำมันกัญชามาแจ้งยื่นถึงการสกัดกัญชาให้ทางการรับทราบ โดยการนำเครื่องหรืออุปกรณ์ที่ใช้สกัดน้ำมันกัญชามาแจ้ง ขณะเดียวกัน สธ.ควรเตรียมการในการสร้างมาตรฐานของน้ำมันกัญชาในทุกสูตร เพื่อหลังจากครบ 90 วันแล้ว จะได้ลงไปตรวจสอบมาตรฐานเพื่อพัฒนาน้ำมันกัญชาให้ได้คุณภาพ และหากไม่ได้มาตรฐานก็ให้หยุดผลิต รวมถึงตรวจสอบราคาที่เป็นธรรม โดยราคาควรจะอยู่ที่ไม่เกินซีซี.ละ 200 บาทและต้องมีสัดส่วนยาเข้มข้นอย่างน้อย 50-60% พร้อมให้สธ.เปิดโอกาสให้เครือข่ายที่อยู่ระหว่างสกัดน้ำมันกัญชาหรือทำการสกัดอยู่แล้วให้เดินหน้าดำเนินการต่อไปภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ทั้งมาตรฐาน คุณภาพและราคาที่เหมาะสม ปัจจุบันต้องยอมรับว่าแต่ละเครือข่ายมีการผลิตน้ำมันกัญชาหลากหลายสูตร แต่ละสูตรมีความเข้มข้นแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3-60% ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ดังนั้น สธ.จะต้องเป็นหน่วยงานกลางในการควบคุมและกำหนดมาตรฐานเพื่อรักษาสิทธิผู้ป่วย โดยควรจะได้รับยาอย่างมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

Advertisement

นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเปิดห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพสารสกัดของเครือข่ายนั้น มองว่าปัจจุบันทางสธ.ได้มีเทคโนโลยีในการตรวจสอบอยู่แล้ว รวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐก็มีความสามารถที่จะตรวจสอบความเข้มข้นของสารสกัดที่อยู่ภายในน้ำมันกัญชาได้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าหากนำเครือข่ายเข้าสู่ระบบแล้ว ควรจะอบรมให้แต่ละสูตรมีมาตรฐานเช่นเดียวกัน เช่น สูตร 1 สำหรับอาการและโรคใด ควรมีส่วนผสมในสัดส่วนเท่าใด หรือควรมีสิ่งเจือปนไม่เกินปริมาณเท่าใด และผสมน้ำมันมะพร้าวได้ปริมาณใด รวมถึงแต่ละสูตรควรกำหนดราคาที่เท่าใด โดยทางสธ.สามารถประกาศเป็นเกณฑ์มาตรฐานให้ปฏิบัติในทิศทางเดียวกันได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตั้งหลักให้ดี อย่าให้ประชาชนก้าวหน้ากว่าและสร้างผลกระทบด้านลบต่อพี่น้องประชาชน

“ปัจจุบันยังมีกลุ่มเครือข่ายใต้ดินจำนวนมากที่ยังไม่เดินทางมาแจ้งยื่นครอบครอง ยังมีกลุ่มใต้ดินจำนวนใหญ่มาก เพราะยังหวาดหวั่นถึงความชัดเจนของรัฐบาล โดยบางจังหวัดยังพบว่าเจ้าหน้าที่ สสจ.ยังให้ข้อมูลผิดพลาดว่าครบ 90 วัน แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการยึดและนำมาซึ่งการทำลายของกลาง เพราะแม้ปัจจุบัน อย.ระบุว่าอนุญาตให้ผู้ป่วยใช้ยาต่อเนื่องได้ แต่ยังคงระบุว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีหลักประกันยืนยันให้ได้ชัดเจน เพียงแต่พยายามดิ้นรนแต่เขามาแจ้ง” นายประพัฒน์ กล่าว

นายประพัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการปลูกกัญชาว่า เข้าใจว่าทางราชการยังไม่อนุญาต แต่เป็นเพียงการแจ้งให้ประชาชนที่มีครอบครองให้มาแจ้ง รวมถึงผู้ป่วยที่มีกัญชาในครอบครองก็สามารถนำกัญชาของตนเองมาแจ้งครอบครองได้ แต่ใบอนุญาตปัจจุบันยังไม่ถูกพูดคุย ส่วนการปลูกกัญชาที่ทางสภาเกตรกรฯ อยู่ระหว่างร่วมมือการกรมการแพทย์แผนไทยเพื่อมอบหมายให้ทางสภาเกษตรกรฯ ปลูกวัสดุดิบให้ 7,000 กิโลกรัม หรือ 7 ตัน เพื่อนำไปสกัดยาตำรับแพทย์แผนไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างพูดคุยในรายละเอียด โดยทางสภากเกษตรกรฯ ยืนยันจะไม่มีการซื้อขายและทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่อยากจะส่งสัญญาณว่าผลิตแล้วเราจะรวย แต่ต้องการทำเพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง ส่วนพื้นที่ปลูกจะกระจายไปยังพื้นที่ 4 ภาค เช่น ลำปาง นครปฐม เพราะในไทยยังไม่พื้นที่สำหรับปลูกขนาดใหญ่ จึงกระจายพื้นที่ปลูก รวมถึงจะต้องมีการปลูกเพื่อทำการวิจัยและเก็บข้อมูลทางวิชาการด้วย ทั้งนี้ ทางสภาเกษตรฯ จะทำให้คนไทยรู้ว่าเมืองไทยมีความสามารถปลูกได้ไม่แพ้กับต่างประเทศ และมีคุณภาพที่ดีมากกว่าชาติอื่นในโลก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image