อภ.เผย ‘น้ำมันกัญชา’ มาตรฐานเมดิคัลเกรดล็อตแรก 2,500 ขวด ถึงมือผู้ป่วยภายในก.ค.นี้

​เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม  ร่วมกับ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. นางศิรินุช  ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการ อภ. ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. และ รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แถลงความคืบหน้าโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบทางการแพทย์ “กัญชาเมดิคัลเกรด ออกดอกแล้ว”

นพ.โสภณ แถลงว่า ขณะนี้ต้นกัญชา 140 ต้น ที่ปลูกด้วยมาตรฐานการปลูกแบบเมดิคัล เกรด (Medical Grade) หรือมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ที่นานาชาติให้การยอมรับใน “โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” ที่องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้เริ่มออกดอกแล้ว ใช้เวลาอีกประมาณ 10-12 สัปดาห์ ดอกจะเจริญเติบโตเต็มที่ มีลักษณะเป็นถุงใสคล้ายเรซิ่นทั่วทั้งด้านใน และด้านนอกของดอก ซึ่งยังคงต้องติดตามดูการเจริญเติบโตโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นครั้งแรกที่ปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ ซึ่งมีความอ่อนไหวและมีรายละเอียดในการดูแลค่อนข้างมาก

​”การปลูกครั้งนี้ อภ.ได้ใช้เมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ที่ให้สารสำคัญ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ให้สารทีเอชซี (THC) สูง ประเภทที่ 2 ให้สารซีบีดี (CBD) สูง และประเภทที่ 3 ให้สารทีเอชซี และสารซีบีดี ในอัตราส่วนเท่ากัน 1 ต่อ 1 ปลูกในอาคารแบบปิดด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานเมดิคัลเกรดบนพื้นที่ 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยการปลูกกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์นี้ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ปลอดสารพิษต่างๆ และทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญเป็นไปตามที่ต้องการและสม่ำเสมอ” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement
ทีมวิจัยกัญชา

ด้าน ​นพ.วิฑูรย์ แถลงว่า ดอกกัญชาที่ได้จากการปลูกจะเป็นดอกกัญชาตัวเมีย ซึ่งดอกเป็นส่วนที่มีสารสำคัญมากที่สุดที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา โดยเมื่อออกดอกเติบโตเต็มที่ ก็จะทำการเก็บเกี่ยวนำมาทำให้แห้ง และสกัดด้วยเอทานอลซึ่งเป็นสารละลายที่มีความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในการใช้สกัด เพื่อนำมาทำเป็นยา โดยใช้เทคนิคเฉพาะ จากนั้นระเหยเอทานอลออกให้หมดจนเหลือเป็นน้ำมัน นำมาเจือจางและผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นที่ทราบความเข้มข้นของสารสกัดทีเอชซีและซีบีดี ระดับหน่วยเป็น mg/ml เพื่อให้แพทย์สามารถคำนวณเป็นโดส หรือปริมาณการใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายและแต่ละโรคได้เหมาะสม และมีประสิทธิผลต่อการรักษาได้ต่อไป

“ตามแผนการดำเนินงานจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชาสำหรับการหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ขนาด 5 มิลลิลิตร (มล.) จำนวน 2,500 ขวด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่ง อภ.จะทำงานร่วมกับกรมการแพทย์และทีมวิจัยทดสอบทางคลินิกอย่างใกล้ชิด ไม่จ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยโดยตรง” ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวและว่า การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์นั้น ก็จะมีการติดตามโดยคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีกรมการแพทย์เป็นผู้ดูแล และมีการศึกษามาอย่างรอบคอบในการนำไปรักษาแล้ว ยกตัวอย่าง หากใช้ในโรคลมชักก็ต้องมีตัวสารซีบีดีในปริมาณมาก และต้องมีความเข้มข้นประมาณไหน และวิธีการใช้อย่างไร หรืออาการแก้คลื่นไส้รุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยคีโม ก็ต้องใช้สารทีเอชซีประมาณไหน ก็จะมีคู่มือให้แพทย์ โดย อภ.จะวางแผนกว้างๆ เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กำหนดในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นผู้พิจารณา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image