บทนำ : เสียงจากภาคเศรษฐกิจ

พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ระหว่างเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เสียงจากภาคเศรษฐกิจ เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ เตรียมตัวรับมือสถานการณ์ต่างๆ และชี้บทบาทสำคัญของรัฐบาลใหม่ ที่จะมีผลต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต่างเฝ้ารอการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อยากให้รีบเข้ามาทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ส.อ.ท.คาดหวังทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ทำงานแบบบูรณาการกับกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง

รองประธานสภาอุตสาหกรรมชี้ว่า โจทย์สำคัญคือ ต้องรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน หลังสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สู่ระดับ 25% จากระดับ 10% และจีนตอบโต้ด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การตอบโต้ครั้งนี้กระทบกับการค้าทั้งโลกแน่นอน ไทยพึ่งพิงการส่งออก 70% จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ จะต้องมีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเข้ามารับมือ หากเงินบาทไทยแข็งค่าเพิ่มขึ้น และสหรัฐขึ้นภาษีอีกระลอก จะกดดันส่งออกไทยให้ลดลงมากกว่านี้

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียกร้องรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ อยู่ทำงานอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้นโยบายต่างๆ เดินต่อไปได้ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะไตรมาส 1-2/2562 เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว เมื่อมาเป็นรัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยกราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น

ภาคเศรษฐกิจเรียกร้องมือบริหารและรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งไม่ง่ายสำหรับการจัด ครม.ขณะนี้ เพราะกฎกติกาออกแบบเพื่อตอบโจทย์การเมือง เศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาต่อไปนี้ น่าจะยุ่งยากพอสมควร เป็นการบ้านของฝ่ายการเมือง ที่จะต้องแก้ไขกฎกติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นกติกาที่เปิดกว้างมากขึ้น เอื้ออำนวยให้เกิดรัฐบาลที่มีคุณภาพ ได้รับความเชื่อมั่นจากภายในและนอกประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image