“รายชื่อ ส.ว.” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

รายชื่อ ส.ว.ที่เพิ่งประกาศไม่ช่วยให้ popularity หรือความนิยมของ คสช.เพิ่มขึ้นเลย

จากผลการเลือกตั้ง ประชาชนที่นิยม คสช.มีอยู่แน่ หากการเลือกตั้งครั้งนี้กระทำอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมทุกฝ่าย (ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจริง) ประชาชนผู้นิยม คสช.จะมีเท่ากับคะแนนเสียงที่พรรค พปชร.ได้มา นับเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าคะแนนเสียงของพรรคที่ประกาศขัดขวางการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างเทียบกันไม่ได้

ดังนั้น เมื่อพูดว่า รายชื่อ ส.ว.ไม่เพิ่มความนิยมของประชาชนให้มากขึ้น จึงหมายความว่า ฐานประชาชนของ คสช.ซึ่งเคยง่อนแง่นอย่างไร ก็ยังคงง่อนแง่นอยู่อย่างนั้น หรือจะยิ่งง่อนแง่นมากหนักขึ้นไปอีกก็ได้

คสช.ไม่เคย “เล่นการเมือง” ด้วยฐานประชาชน จึงอาจคิดว่าฐานประชาชนเป็นปัจจัยที่ไม่สำคัญ เพราะถึงอย่างไร คสช.ก็มีอำนาจดิบที่จะควบคุมการแสดงออกของประชาชนได้ แต่นับจากตั้งรัฐบาลขึ้นได้เมื่อไร อำนาจดิบนั้นก็จะลดน้อยลงจนแทบไม่เหลือ อย่าลืมว่าสมรรถภาพในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากอำนาจดิบของ คสช.ก็ลดลงหรือไม่มีเหลือในมือด้วย อย่างน้อยกองทัพทั้งหมดหลุดไปอยู่ในมือของคนอื่นแล้ว

Advertisement

คสช.จึงไม่อาจยึดอำนาจตนเองได้อย่างที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเคยทำใน 2494 หรือถนอม กิตติขจร ทำใน 2514 ถ้ากองทัพจะยึดอำนาจอีกครั้ง ก็ไม่มีเหตุที่เขาจะเอา คสช.ไว้ให้หนักบ่าเปล่าๆ

หากการบริหารงานของรัฐบาล คสช. (ในนามของรัฐบาลผสมซึ่งมี พปชร.เป็นแกนนำ) ยังทำให้เกิดความเคลือบแคลงในความสุจริตดังที่ผ่านมา กล่าวคือเอื้อต่อผลประโยชน์ของทุนขนาดใหญ่
(ซึ่งโดยปกติแล้วไม่มีใครทำอย่างนี้ฟรีๆ) การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีลัด กรณีเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่อง
อื้อฉาวเสียยิ่งกว่าการรับจำนำข้าว เพราะ คสช.ไม่มีอำนาจที่จะระงับความอื้อฉาวเหล่านี้ได้เสียแล้ว

ทุนขนาดใหญ่ก็จะไม่เห็นประโยชน์ของ คสช. เพราะไม่มีอำนาจพิเศษที่จะช่วยการตักตวงผลประโยชน์จากบ้านเมือง ถึงกฎหมายที่ คสช.ออกไว้ระหว่างมีอำนาจ อาจช่วยยับยั้งหรือบรรเทามิให้การเคลื่อนไหวของประชาชนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล

Advertisement

แต่ทุนก็พร้อมจะเปลี่ยนรัฐบาลด้วยการสนับสนุนด้านการเงินแก่ทหารที่พร้อมจะยึดอำนาจ

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การรัฐประหารของไทย ส่วนใหญ่ของการยึดอำนาจของกองทัพ ไม่ใช่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน นั่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่น้อยครั้งกว่ามาก ส่วนใหญ่แล้วคือการยึดอำนาจจากรัฐบาลทหาร (ที่ออกหน้าหรือแอบหนุนหลัง) นั่นแหละ ยิ่งรวมความพยายามยึดอำนาจที่ไม่สำเร็จเข้าไปด้วย ก็จะยิ่งเห็นว่ารัฐประหารเป็นเครื่องมือ “เล่นการเมือง” ของกองทัพในกองทัพเอง ไม่น้อยกว่า “เล่นการเมือง”
ในชาติ

บทบาทของวุฒิสภากลับไปเหมือนวุฒิสภาก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 คือเป็นผู้รักษาเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้ ค่อนข้างจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” แต่ก็ไม่ถึงกับสอดคล้องกันอย่างแท้จริงนัก เจตนารมณ์ของวุฒิสภาลักษณะนี้คือรักษาเสถียรภาพของชนชั้นนำต่างหาก เช่น ให้อำนาจต่อรองของชนชั้นนำไว้มากบ้างน้อยบ้าง เมื่อต้องเผชิญกับสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนสามัญ

ด้วยเหตุดังนั้นการคัดสรรวุฒิสมาชิกเพื่อทำหน้าที่นี้ จึงมักกระจายไปยังกลุ่มชนชั้นนำหลากหลายกลุ่ม แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นทหาร แต่ไม่ใช่ทหารกลุ่มเดียวที่เป็นพวกพ้องของผู้นำ ต้องกระจายไปอย่างกว้างขวางในบรรดานายทหารคุมกำลังของกองทัพ ตัวแทนทุนก็จากทุนที่หลากหลายกว่าทุนสอพลอ ฯลฯ แต่การคัดสรรวุฒิสมาชิกครั้งนี้จำกัดวงไว้แคบมาก จนไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นนำที่กว้างขวาง เพราะดังที่พูดกันทั่วไปอยู่แล้วว่า เป็นเพียง “พรรคพวก” และนักสอพลอของแกนนำ คสช.ไม่กี่คนเท่านั้น

วุฒิสภาก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 คือองค์กรควบคุมของชนชั้นนำทั้งกลุ่ม (ซึ่งหลากหลายและลึกๆ ก็แตกแยกกันพอสมควร) ไม่ใช่ของกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คนในหมู่ชนชั้นนำ ลองคิดถึงบทบาทการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระของวุฒิสภาที่เป็นสมบัติส่วนตัวไปแล้วเช่นนี้ ว่าจะก่อให้เกิดความ
ร้าวฉานในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองมากเพียงไร

นับจาก 2540 วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือผสมแต่งตั้ง ได้สร้างบทบาทของตนเองในฐานะผู้ตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร ผลงานของวุฒิสภาจนถึง 2557 จะดีเลวอย่างไรก็ตาม มีบทบาทที่เห็นได้เด่นชัด ไม่เซื่องเหมือนสภานิติบัญญัติของ คสช. แต่วุฒิสภาใหม่จะเซื่องไม่ต่างจาก สนช. ถ้าเป็นที่ยอมรับได้ของคนทั่วไปได้ก็เสมอตัว แต่ถ้าไม่เป็นที่ยอมรับ อำนาจอันกำกวมที่รัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักมอบให้วุฒิสภา ก็จะกลายเป็นอำนาจที่ไม่ยอมรับของคนทั่วไปไปด้วย

นั่นหมายความว่าองค์กรอิสระทั้งหลายจะสูญเสียความน่าเชื่อถือซึ่งเหลืออยู่น้อยแล้วไปโดยสิ้นเชิง

องค์กรทางการเมืองที่ไม่สามารถขยายพันธมิตรออกไปได้เกินกว่า “แฟนประยุทธ์” จะมีความหมายทางการเมืองอะไรได้มากไปกว่าแฟนคลับของนักร้อง-ดาราทั่วไป แต่กลับมีอำนาจหน้าที่สำคัญหลายอย่างซึ่ง รธน.ฉบับไม่น่ารักสร้างไว้ให้ ปัญหาจึงกลับมาอยู่ที่ว่า อำนาจหน้าที่นั้นเกิดจากกฎหมายล้วนๆ หรือเกิดจากกฎหมายและการยอมรับของสังคม

รายชื่อ ส.ว.ซึ่งประกาศในราชกิจจาฯ น่าจะเป็นสัญญาณให้รู้ว่า กว่าคำฟ้องของพรรคอนาคตใหม่ต่อการคำนวณบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กกต. จะผ่านการพิจารณาของผู้ตรวจการรัฐสภา เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และกว่าจะผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องใช้เวลานานมาก เพราะผลของการวินิจฉัยจะทำให้รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปในทันที

ซ้ำ กกต.ก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะคงมีคดีเลือกตั้งติดค้างอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองอีกหลายคดี ทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่นิ่ง และไม่อาจคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้อีกนาน

กล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือ สภาพติดตังทางการเมืองกับ คสช.จะดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จะนานแค่ไหนก็เดาไม่ถูก

รายชื่อ ส.ว.ทำให้รู้ว่าไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะแก้เพียงบางส่วนหรือแก้ทั้งฉบับ พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่มีทางออกมาได้ และ พ.ร.บ.ใดๆ ที่จะช่วยบรรเทาความเสียหายซึ่ง คสช.ได้ทำไว้ ก็ไม่มีทางออกได้ในช่วงนี้เช่นกัน

ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านต้องวางเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะหน้าใหม่ การทำงานทางการเมืองนอกสภาเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่การออกไปเป่านกหวีดหรือขัดขวางการเลือกตั้ง หรือไม่ใช่เพียงการให้สัมภาษณ์สื่อ แต่ต้องรณรงค์อย่างเป็นระบบให้ประชาชนส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนนโยบายที่เคยเสนอไว้ระหว่างหาเสียง หรือแม้แต่ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเดียวกัน

พรรคฝ่ายค้าน (อย่างน้อย 7 พรรคที่ประกาศและกระทำการเพื่อขัดขวางการสืบทอดอำนาจของ คสช.) ควรประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกสภาให้มีพลัง

รายชื่อ ส.ว.ทำให้รู้ด้วยว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวกลับคืนสู่วิถีทางประชาธิปไตยโดยสงบ เหลืออยู่น้อยเต็มที 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image