อภ.เตรียมนำเข้า ‘กัญชา’ ใช้รักษาผู้ป่วยระหว่างรอผลผลิตตามกฎหมาย

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

เวลา 16.30 น.วันที่ 21 พฤษภาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า สำหรับยอดผู้แจ้งครอบครองกัญชาทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน 16,000 คน คาด 20,000 คน โดยมีผู้มาแจ้งครอบครองที่อย. 2,000 คน ซึ่งร้อยละ 90 เป็นกลุ่มผู้ป่วยและจำเป็นต้องใช้กัญชารักษาโรค ส่วนร้อยละ 10 เป็นผู้ที่ไม่ควรจะมีกัญชาไว้ในครอบครอง โดยในจำนวน 16,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยจำเป็น ซึ่งเป็นโรคที่มีข้อมูลชัดเจนว่ากัญชาได้ประโยชน์ ครอบคลุม 4 โรค ซึ่งมีผู้มาแจ้งเข้าข่ายโรคดังกล่าว 50-60 คน เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย ลมชักในเด็กที่รักษาอาการในโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มอื่น เช่น พาร์กินสัน ร้อยละ 20 ส่วนร้อยละ 30 เป็นการแจ้งโรคอื่น เช่น โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งกลุ่มนี้สามารถรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันได้ บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้กัญชารักษา นอกจากนี้ พบว่ายังมีการแจ้งอื่น เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน ซึ่งกลุ่มนี้ใช้แพทย์แผนปัจจุบันรักษาได้ โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้กัญชา

นพ.สุรโชค กล่าวว่า หลังจากนี้ อย.จะแจ้งไปยังแพทย์ที่ผ่านการอบรมเพื่อจับคู่ผู้ป่วยในการรับรักษายังสถานพยาบาล ขณะเดียวกัน อย.ได้รับการบริจาคจากหน่วยงานภายนอก 500 ขวด ซึ่งผ่านการตรวจวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว และอีกส่วนอยู่ระหว่างการจัดหาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสภากาชาดไทย โดยเป็นการนำเข้ากัญชาในช่วงสั้นๆ ตามข้อสั่งการของคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งได้สั่งการให้สามารถนำเข้ากัญชาได้ หากมีความจำเป็นในการนำมาให้ผู้ป่วยระหว่างที่รอผลผลิตตามกฏหมายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและไม่สามารถรอได้ โดย อย.จะจัดส่งไปยังสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วสั่งจ่ายยาให้ได้ยาในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอีกกลุ่มที่มีความจำเป็นและสามารถรอได้ เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หากหยุดได้จะมีอาการตัวสั่น กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่อย.จะต้องจ่ายยาให้อย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มอาการอื่นจะอยู่ในกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับยา เพราะหากนำไปใช้ในกลุ่มที่จำเป็นอาจทำให้ปริมาณยาไม่เพียงพอ สำหรับกลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชา ปัจจุบันหน่วยงานหลายภาคส่วนมีความพยายามให้ข้อมูลต่อผู้ป่วย พร้อมให้คำแนะนำในการรักษา ซึ่งยืนยันว่าบางโรคใช้กัญชารักษาไม่ได้ผล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกัน ทางตำรวจและปปส.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการส่งกัญชาของกลางไปตรวจสอบและวิเคราะห์ว่ามีความบริสุทธิ์เพื่อนำมาสกัดใช้ทางการแพทย์ได้หรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมจะนำมามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาสกัดต่อไป

Advertisement

“สำหรับความคืบหน้าการนำเข้ากัญชา ล่าสุด อย.ได้ส่งหนังสือถามสอบถามไปยัง อภ.และสภากาชาดไทย เพื่อให้เร่งนำเข้ากัญชาให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ หรืออย่างเร็วที่สุดภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย และเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปริมาณการนำเข้าจะพิจารณาจากฐานข้อมูลที่มีการยื่นแจ้งครอบครองกัญชา เบื้องต้นมีผู้ป่วย 2,000 ราย จำนวนนี้จะต้องไปวินิจฉัยโรคอีกครั้ง ซึ่งช่วงแรกอาจยอมรับว่าผลผลิตที่ได้ตามกฏหมายอาจไม่เพียงพอ” นพ.สุรโชค กล่าว

ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการสั่งจ่ายสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้กับกลุ่มผู้ป่วยว่า ล่าสุด กรมการแพทย์ ได้มีการหารือการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ประกอบด้วย ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มโรคที่ต้องใช้กัญชารักษาโรค คณะทำงานจากกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม

“เป็นการหารือแนวทางขั้นตอนการนำสารสกัดกัญชาไปใช้กับผู้ป่วย และกำหนดระบบติดตามการใช้กัญชาทางการแพทย์ เบื้องต้นในแนวทางสั่งจ่ายยาสารสกัดกัญชา ซึ่งสถานพยาบาล ที่สามารถสั่งจ่ายยาสารสกัดกัญชาได้นั้น ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุญาตจาก อย. โดยสถานพยาบาลต้องมีการควบคุมการใช้ยาสารสกัดกัญชาให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่น การรักษาอาการกลุ่มโรคลมชัก ของสถาบันประสาทวิทยา แพทย์ต้องประเมินผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล ก่อนที่จะทำการสั่งจ่ายยากัญชาในการรักษา สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการวางแผนเชิงระบบในการสั่งจ่ายยาสารสกัดกัญชา เพื่อกำกับดูแลและขออนุญาต ส่วนนี้ต้องมีการพูดคุยหารือให้ชัดเจน ซึ่งสถาบันประสาทวิทยา จะเป็นโมเดลในการกำหนดรูปแบบ การประเมินและสั่งจ่ายยาสารสกัดกัญชาในกลุ่มผู้ป่วย หากมีปัญหาและอุปสรรคระหว่างนี้จะมีการปรับแก้ เพื่อให้เป็นต้นแบบ กับสถานพยาบาลอื่นๆในการนำไปเป็นรูปแบบการสั่งจ่ายยาสารกัดกัญชาให้กับผู้ป่วยต่อไป” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกุมารประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า เบื้องต้นการสั่งจ่ายยาสารสกัดกัญชาจาก อภ. จะเลือกในกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก โดยจะประเมินอาการผู้ป่วยที่มีความต้องการในการรักษามากที่สุดก่อน เนื่องจากในช่วงแรก ปริมาณยาสารสกัดกัญชาจาก อภ. อาจจะยังไม่สามารถรักษาในผู้ป่วยโรคลมชักได้ทุกราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image