‘บุญรักษ์’ ย้ำ ‘บิ๊กอาชีวะรัฐ-เอกชน’ สอดส่อง ดูแล น.ร.ตีกัน

‘บุญรักษ์’ ย้ำ ‘บิ๊กอาชีวะรัฐ-เอกชน’ สอดส่อง ดูแล น.ร.ตีกัน

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยแนวทางป้องกันปัญหานักเรียน นักศึกษาสถานบันอาชีวศึกษารัฐและเอกชน ทะเลาะวิวาท ในปีการศึกษา 2562 ว่า การแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาทกันนั้น นายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อดีตเลขาธิการสอศ. ทำไว้ดีมาก และจากการสรุปสถิติการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา พบการทะเลาะวิวาทที่ลดลงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในระยะสั้น ตนจะเดินหน้าต่อทำตามกฎระเบียบที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม นักเรียน นักศึกษามีวุฒิภาวะต่างกัน มีความเป็นมาของครอบครัวที่ต่างกัน ฉะนั้นมาตรการที่จะใช้กับ นักเรียน นักศึกษาแต่ละกลุ่ม ต้องศึกษารายละเอียดวิธีการดำเนินงานให้ดี

“แต่ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในเชิงวิชาการว่าถ้าผู้เรียนมีความสุข จะมีจิตใจที่ดี ผู้เรียนจะลดเรียนความก้าวร้าว ความรุนแรงลงไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมได้คุยกับ นายสุเทพ ในช่วงที่เรียนรู้งานกันและได้ทำข้อตกลงร่วมกันคือต่อไป สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะทำงานเชื่อมโยงกันเพื่อให้นักเรียนค้นพบตัวตนของตนเองได้เร็วที่สุด ตั้งแต่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้นักเรียนค้นพบตัวเองว่าต้องการเรียนอะไรทำอาชีพอะไร จะไม่เหมือนแต่ก่อนที่นักเรียน จบม.3 ไปเรียนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของนักเรียน ก็จะเกิดความเครียด ไม่มีความสุข ต่อไป สอศ.จะนำวิชาที่มีอยู่โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุสาหกรรมเป้าหมายของไทย เข้าสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับ ม.ต้น ในรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อให้นักเรียนรู้จักวิชาชีพ และค้นพบตัวเอง และจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในการสร้างคนเข้าสู่ 10 อุตสาหกรรมหลักไปด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าหากนักเรียนในที่สิ่งตนมีความสุข จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว”นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.และสอศ.จะประสานงานร่วมกันระหว่าง ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) สพฐ. และศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาอาชีวะของ สอศ. เนื่องจากนักเรียน นักศึกษากลุ่มนี้จะมีช่วงอายุที่ทับซ้อนกัน อะไรที่จะดำเนินการร่วมกันได้จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือนักเรียน

“ถึงแม้ สอศ.มีกฎระเบียบให้ปฏิบัติทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว ในช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม นักเรียน นักศึกษาอาจจะต้องปรับตัวเข้าสถานบันใหม่ เพื่อนใหม่ บางคนปรับตัวได้ บางคนปรับตัวไม่ได้ ของให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ช่วยดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ให้สังเกตด้วยว่าเด็กคนไหนที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้เก่ง มีอะไรครูหรือผู้อำนวยการสามารถช่วยได้ก็ให้ช่วย ควรจะมีกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมเชิงบวก ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม เช่น กิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เพื่อให้เด็กปรับตัวเข้าหากัน และกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าตนเอง” นายบุญรักษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image