วิเคราะห์ : ยึดเก้าอี้นายกฯ สเต็ปแรก‘ลุงตู่’ ชิงจัด รบ.260เสียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา
รัฐพิธีจัดขึ้นที่ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายนัฐ ผาสุก เลขาธิการวุฒิสภา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าฯ รับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ความว่า บัดนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภา พุทธศักราช 2562 แล้ว
ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ขอให้สมาชิกแห่งสภา พึงนึกถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะการกระทำทุกอย่างของแต่ะคน จะมีผลโดยตรงถึงความมั่นคงของประเทศ และความสุขทุกข์ของประชาชน จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวง โดยเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริต และด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบ หนักแน่นด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเที่ยงตรง ตามหลักนิติธรรม และคุณธรรม ให้งานของชาติดำเนินก้าวหน้าไป โดยไม่ติดขัดและบังเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์ สมบูรณ์ บริบูรณ์
ขออำนวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย สัมฤทธิผล เป็นความผาสุก สุขสวัสดิ์ และความวัฒนาถาวรแก่อาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมือง ทั้งขอให้ทุกคนที่ประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ ประสบความสุขความเจริญทุกเมื่อถ้วนหน้ากัน
จากนั้นเสด็จออกจากห้องประชุมวิเทศสโมสร เสด็จฯกลับ

หลังจากนี้ การเมืองจะขยับเดินหน้าต่อไปอีก
ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมวุฒิสภาในช่วงเย็น เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา ซึ่งทาง คสช.วางตัว นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช.เอาไว้
พร้อมกับเลือกรองประธานอีก 2 คน
ผ่านขั้นตอนนี้ไป ถือว่าองค์กรวุฒิสภามีความพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะคือบทบาทหน้าที่ ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ ได้แก่ การร่วมกับสภาผู้แทนฯ ลงมติรับรองนายกรัฐมนตรี
ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ และรองอีก 2 คน สภาผู้แทนฯมีกำหนดประชุมเลือกในตอนเช้าวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.
เมื่อได้ประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะทำหน้าที่ “ประธานรัฐสภา” ด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพ.ค.ก็คือ ประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมรัฐสภา อันประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.
เพื่อดำเนินกระบวนการรับรองบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีชื่อนายกฯของแต่ละพรรค
เป็นรายการลุ้นระทึกของขั้วพรรคพลังประชารัฐ ที่ผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
แม้ว่าจะมั่นใจอย่างมากว่า ด้วยการสนับสนุนของ 250 ส.ว. ต้องการเสียงจากสภาผู้แทนฯ อีกเพียง 126 เสียง จากทั้งหมด 490 กว่าเสียง ก็เพียงพอสำหรับการไปต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ คนที่ 29

อุปสรรคของปฏิบัติการผลักดัน “นายกฯลุงตู่” ก็คือ การต้านทานจากพรรคขั้วไม่เอา “ลุงตู่”
นําโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคที่ร่วมทำสัตยาบัน รวม 7 พรรคด้วยกัน
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยประกาศเดินเครื่องสู้ แต่ประสบปัญหาในการดึงการสนับสนุนจากนอกขั้ว แม้ได้พยายามทาบทาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมาเป็นนายกฯ และดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมวงไพบูลย์ แต่ดีลไม่ลุล่วง จึงต้องถอย ให้พรรคอนาคตใหม่ออกหน้าแทน
เป็นที่มาของการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศตัวจะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง
พร้อมๆ กันนั้นเอง นายธนาธรก็เจอข้อหา “ถือหุ้นสื่อ” ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดย กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติรับเรื่อง 9-0 และ มติ 8-1 ให้นายธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
ทำให้นายธนาธรจะได้เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ค. เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อปฏิญาณตัว จากนั้นต้องออกจากห้องประชุม
รอการพิจารณา รอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าจะออกหัวหรือก้อย

อีกอุปสรรคของการผลักดัน “ลุงตู่” ก็คือ การต่อรองจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรค ปชป. และภูมิใจไทย
ปชป.มี 52 เสียง ส่วนภูมิใจไทย มี 51 เสียง รวม 103 เสียง ถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ หากขาดไป     ขั้วพลังประชารัฐจะมีจำนวนเสียง ส.ส. เป็นรองขั้วเพื่อไทย-อนาคตใหม่ทันที
ทั้ง 2 พรรคเข้าใจความสำคัญของตนเองเป็นอย่างดี ปชป.ออกมาเปิดเผยว่า ต้องการกระทรวงมหาดไทย พาณิชย์ และพลังงาน
ส่วนภูมิใจไทย ต้องการสาธารณสุข, คมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
เป็นข้อเสนอที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐตึงเครียด แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเจรจาหาจุดลงตัวให้ได้
สำหรับ ปชป. กระทรวงมหาดไทยมีโอกาสน้อย เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่เลิฟของ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมานั่ง
ส่วนภูมิใจไทย ข้อเรียกร้องจะรับเก้าอี้คมนาคม มีตัวเลขเกี่ยวข้องสูงมาก จนรัฐบาลเกิดความยุ่งยากใจ
แต่แกนนำพรรคพลังประชารัฐยังเชื่อว่าหากมีการติดต่อเจรจาในช่องทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะติดต่อผ่านหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง ก็น่าจะมีบรรยากาศที่ดีขึ้น
และอาจยุติในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับขั้วพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

หัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ที่ต้องจับตาในสัปดาห์ปลายเดือนพ.ค. ก็คือ ก่อนจะโหวตรับรองนายกรัฐมนตรี
ขั้วรัฐบาลมั่นใจว่าจะรวมเสียง ส.ส. ได้เกิน 260 เสียงขึ้นไป
ตัวเลขนี้ แสดงว่านอกจาก พปชร., ปชป. ภูมิใจไทย และพรรคขนาดเล็กที่จับมือมาแต่ต้นแล้ว อาจจะรวมถึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และ “งูเห่า” ที่ได้จากพรรคต่างๆ
แกนนำพรรคขั้ว คสช.เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ เชื่อว่าการจัดรัฐบาล การเชื้อเชิญพรรคต่างๆ มาร่วม น่าจะพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น
ซึ่งนั่นก็คือสถานการณ์ในเดือนมิ.ย.
ในภาพรวม การฟอร์มรัฐบาล นับตั้งแต่ 24 มี.ค. มาจนปัจจุบันประสบปัญหาหลายระลอก
ปัญหาใหญ่มาจากคะแนนเสียงของทั้งสองขั้วไม่เด็ดขาด พรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่ได้เป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1
ขณะที่สัญญาณจากผลเลือกตั้ง ย้ำชัดว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง
ทำให้แต่ละพรรคต้องระมัดระวังท่าที
แม้กฎกติกาที่ดีไซน์ไว้ เป็นใจอย่างมาก แต่กระแสของประชาชน ทำให้การเดินตามแนวที่ดีไซน์ไว้มีข้อขัดข้องตลอด
นอกจากแจ้งเกิดยากแล้ว ยังทำให้ภาพอนาคตของรัฐบาลนี้ หากจัดตั้งสำเร็จ ไม่สดใสนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image