‘อรรถพล ใหญ่สว่าง’ปธ.ก.อ. ลุยภารกิจ‘อัยการ’สะสางคดี

หมายเหตุนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุดคนที่ 11 ให้สัมภาษณ์ “มติชน” หลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มีการแก้ไขใหม่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 มีสาระสำคัญว่าตัวประธาน ก.อ.จะต้องมาจากการเลือกตั้งของอัยการทั่วประเทศ จากเดิมตำเเหน่งนี้อัยการสูงสุด (อสส.) จะนั่งควบเก้าอี้อยู่ บุคคลจะนั่งประธาน ก.อ.ในปัจจุบันจะต้องไม่เป็นข้าราชการอัยการ ในการเลือกตั้ง ประธาน ก.อ.ครั้งเเรกในประวัติศาสตร์อัยการนี้ จากบัตรลงคะเเนนจำนวน 3,061 ใบ ผลปรากฏว่ามีอัยการลงคะเเนนให้ “นายอรรถพล” 1,810 เป็นคะเเนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้เลือกตั้งทั้งหมด

ภารกิจที่ต้องดำเนินการหลังจากรับตำแหน่ง
ในการประชุม ก.อ.ครั้งเเรกเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมามี ก.อ.ทุกคนนอกจากรอง อสส.คนที่ 5 ติดราชการต่างประเทศ เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง เป็นการพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกันเเละให้รู้จักภารกิจแต่ละจุดของข้าราชการอัยการ โดยยังไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญ
ที่เราจะประชุมกันในเนื้อหาจริงๆ จะเป็นคราวหน้า ในวันที่ 19 มิ.ย. ในครั้งนั้นในที่ประชุมจะมีการนำเสนอเรื่องว่าควรจะกำหนดโครงสร้างองค์กรหรือกำหนดหลักเกณฑ์ในการพัฒนากรอบอัตรากำลังของอัยการอย่างไรหรือไม่ เราจะได้มีการพูดคุยกัน

⦁ตำเเหน่ง ประธาน ก.อ.จะนั่งหัวโต๊ะพิจารณาให้คุณให้โทษอัยการ จะถูกมองว่ามีอำนาจซ้ำซ้อนกับ อสส.เเละจะส่งผลต่อเอกภาพในการบริหารงาน อสส.หรือไม่
พ.ร.บ.องค์กรอัยการเเละพนักงานอัยการ หรือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ อสส.เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือเรียกว่าเบอร์ 1 ขององค์กรอัยการ ในการบริหารและทำงาน ส่วนประธาน ก.อ.และ ก.อ.มีหน้าที่ในกรณีที่กำหนดนโยบาย กำหนดกรอบอัตรากำลัง หรือข้อกำหนดในการพัฒนาองค์กรอัยการ โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการไปสั่งคดีหรือปฏิบัติงานหรือสั่งพนักงานอัยการทำงาน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องซ้ำซ้อน เราน่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนสนับสนุนในการทำงานของ อสส.เพราะการทำงานบางครั้งก็ติดขัดได้ เราเพียงมาช่วยคิด ช่วยทำ แต่ผู้บริหารระดับสูงยังคงเป็น อสส.ตัวประธาน ก.อ.จะนั่งหัวโต๊ะจริงๆ ก็คือประชุมเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลเท่านั้น

⦁แนวคิดของกฎหมาย ก.อ.ใหม่นี้มาจากไหน
ร่างนี้มีเสนอทั้งฝ่ายรัฐบาลก็คือมาจากต้นร่างของสำนักงานอัยการสูงสุดและก็เสนอโดยฝ่ายสภาด้วย ที่มีการเเก้ไขหลักสำคัญอันนี้เป็นการแก้ไขครั้งที่ 3 มาจากแนวความคิดของประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะมีบุคคลที่ไม่ใช่ อสส.อยู่ในตำแหน่ง มาดูแลด้วย ความเห็นโดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะ อสส.จะเป็นหัวมังกรเพียงคนเดียวในหน่วยงานของอัยการ อย่างศาลยังมีประธานฎีกาและมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แต่ของ อสส.ภารกิจก็มากอยู่แล้วตามกฎหมาย ถ้าต้องมาเสียเวลากับการบริหารงานบุคคลอาจทำให้มีความละเอียดรอบคอบน้อยลง
กฎหมายนี้ อัยการส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการว่าต้องมีประธาน ก.อ.และมีกรรมการอัยการ ที่มีที่มาเเบบนี้ แต่ก็มีบางคนเองก็มีความเห็นว่า อัยการอาวุโสน่าจะเป็นกรรมการอัยการได้ด้วย กับอีกประการ คือคณะกรรมการอัยการทำไมไม่ทำให้เหมือนเดิมที่ให้อยู่ในตำแหน่งได้ 2 สมัยติดต่อกันแล้วถึงค่อยเว้นวรรค เพราะขนาดปัจจุบันศาลก็ยังให้ 2 สมัยติดต่อกันแต่คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวประธาน ก.อ.หรือ ก.อ.เองอยู่ได้ 2 ปี เเละเเค่สมัยเดียว มองว่าน้อยไปหรือไม่ หลักการตรงนี้แก้อย่างไร อาจต้องนำมาพิจารณาอีกที

Advertisement

⦁การพิจารณาเสนอชื่ออัยการสูงสุดคนต่อไปจะยึดหลักอะไร ใช้หลักอาวุโสหรือไม่
คงตอบแทน ก.อ.คนอื่นไม่ได้ แต่ความเห็นส่วนตัวในฐานะประธาน ก.อ.เห็นว่าการจะพิจารณาเลือกผู้จะดำรงตำเเหน่ง อสส., รอง อสส., ผู้ตรวจฯนั้น ต้องฝ่ายของผู้บริหาร ก็คืออธิบดี ก.อ.ในฐานะเลขา ก.อ.จะเสนอเรื่องผ่านรอง อสส.จนถึง อสส. มายังประธาน ก.อ.ก็ต้องดูว่าทางฝ่ายบริหารจะเสนอเข้าที่ประชุม ในวันที่เท่าไหร่ จะเสนอเข้าในครั้งหน้าวันที่ 19 มิ.ย. เลยหรือไม่ เเละหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้ขึ้นเป็น อสส.นั้นจะต้องมีการประเมินก่อนว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลกับอัยการใช้หลักเดียวกันคือแพ้คัดออก นั่นหมายความว่า ถ้าคนไหนไม่ผ่านหลักเกณฑ์ก็ตก คนไหนผ่านหลักเกณฑ์ก็เอาหลักเกณฑ์นั้นมาพิจารณา
กรณีผ่านหลักเกณฑ์ เช่น ตำเเหน่งอัยการสูงสุดที่มีตำเเหน่งเดียว เเต่เวลาประเมินเข้าหลักเกณฑ์นี้ อาจจะต้องมีจำนวนมาก เเต่จะมากเท่าไหร่ เเล้วเเต่การนำเสนอเเล้ว ที่ประชุม ก.อ.จะพิจารณาว่าผ่านหลักเกณฑ์หรือไม่ แล้วค่อยมาพิจารณาอีกวาระหนึ่งว่าบุคคลควรจะได้เป็นอัยการสูงสุดคือลำดับที่เท่าไหร่
แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเท่าที่ทำมา อย่างในสมัยผมเองเคยเป็นทั้ง ก.อ. อธิบดี ก.อ. และ อสส. พบว่าเรามักจะนำบุคคลที่อาวุโสแล้วไม่มีประวัติด่างพร้อยขึ้นมาเป็นอัยการสูงสุด เเละรอง อสส.ยันผู้ตรวจ พูดกันง่ายๆ ว่าตามคิว นี่คือความเห็นโดยส่วนตัว เเต่ถ้าทาง ก.อ.คนอื่นมีความเห็นอีกเเบบ เช่น อาจจะให้เเสดงวิสัยทัศน์เพื่อไว้พิจารณาก็ต้องว่ากันอีกที
ปรากฏว่าคราวนี้จากระดับอธิบดีขึ้นมาเป็น อสส.เลย เนื่องจากระดับรอง อสส.เเละผู้ตรวจอายุพ้นตำเเหน่งบริหารกันหมด อัตราที่ต้องเคลื่อน ถือว่ามากเป็น 100 ตำเเหน่ง โดยอัยการสูงสุดเราจะเสนอทีละคน ส่วนรองเราอาจจะให้เสนอขึ้นมาทั้งเเผง
การพิจารณาแต่งตั้งครั้งนี้ของ ก.อ.หนักมากๆ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมกัน บัตรสนเท่ห์มาเลย ถ้ากล้าเขียนมา ต้องลงชื่อมาเราจะสอบ เพื่อจะได้เกิดความเป็นธรรม ส่วนระดับรอง อสส.ที่บอกว่าจะปรับขึ้นมายกแผงเนี่ย อย่างในปัจจุบันยังมี 8 ตำเเหน่งจะมีการเสนอแค่ 8 คนหรือไม่ ก็ต้องดูก่อนว่าจะเสนอไปเลยเป็นเเผง เเล้วค่อยพิจารณา หรือเราอาจจะเสนอไปตามโครงสร้างใหม่ที่ตนเตรียมจะเสนอว่า เราต้องเพิ่มรอง อสส.
จะเสนอที่ประชุม ก.อ.เรื่องปรับโครงสร้างบริการงานบุคคลในองค์กรอัยการเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะภารกิจของอัยการสูงสุดกับรองอัยการสูงสุดมีจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีชี้ขาดความเห็นแย้งค้างอยู่ตั้ง แต่อัยการสูงสุดคนก่อนๆ ต้องเร่งสะสาง เพราะความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วไม่ใช่ล่าช้า จึงได้เชิญอธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มาหารือว่าตนต้องการให้มีรองอัยการสูงสุดมาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้เพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มเท่าไหร่ให้ทางอธิบดี ก.อ.กับทางข้าราชการในสำนักงาน ก.อ.ไปคิดพิจารณาเพื่อนำเสนอในที่ประชุมวันที่ 19 มิ.ย.
ขณะนี้มีเรื่องที่รอชี้ขาดคดีอยู่หลายร้อยคดี ส่วนรอง อสส.ขณะนี้มี 8 คน และมีภารกิจอื่นด้วย กรณีชี้ขาดคดีเเม้จะไม่ได้จบที่รอง อสส.ต้องไปจบที่ อสส. เเต่ถ้าได้คนกลั่นกรองมาดี ก็จะพิจารณาได้เร็ว จึงเห็นเสนอปรับโครงสร้างให้มีรอง อสส.เพิ่มขึ้น รอง อสส.กับผู้ตรวจฯ เป็นอัยการชั้นเดียวกันคือชั้น 7 รอง อสส.มี 8 ตำเเหน่ง ส่วนผู้ตรวจฯมี 9 ตำแหน่ง คือภาค 1-9 รวมเป็น 17 ตำแหน่ง ผู้ตรวจภาคละคนนั้นภารกิจน้อยไป จึงน่าจะเเบ่งใหม่เป็น 2 ภาคต่อ 1 คน เช่น ภาค 8 ภาค 9 ใช้ผู้ตรวจ 1 คน ที่เหลือก็ประกบภาคกันไป และให้เหลือส่วนกลางไว้ 1 คน รวมแล้วจะเหลือผู้ตรวจเป็น 5 คน ที่เหลือก็จะปรับไปเป็นรอง อสส.ได้อีก 4 คน รวมเป็นรอง อสส. 12 คน การปรับโครงสร้างดังที่ว่านี้ไม่ต้องไปแก้กฎหมายให้เพิ่มรอง อสส.เลย เพราะผู้ตรวจได้เงินเดือนเเละค่าตอบแทนเท่ากันอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องที่มีข้อคิดมาจากที่ประชาชนเป็นห่วงว่า จะไม่ได้รับความยุติธรรมจากอัยการ ผมเห็นว่าการสั่งคดีของอัยการควรเป็นเเบบองค์คณะ 3 คน ประกอบด้วยหัวหน้าองค์คณะ 1 คน และอีก 2 คน อยู่ในองค์คณะนั้น 1 ใน 2 คน เป็นองค์คณะ อาจจะกำหนดว่าจะต้องเป็นอัยการอาวุโส เคยผ่านตำเเหน่งบริหารระดับสูงมาแล้ว เพราะถือว่าเมื่อมาเป็นอัยการอาวุโส ท่านต้องทำหน้าที่เหมือนอัยการทั่วไปเมื่อท่านไม่ได้เป็นผู้บริหารแล้ว องค์คณะ 3 คนนั้นในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท ควรจะมีอำนาจสั่งคดีได้โดยไม่ต้องเสนออัยการจังหวัดหรืออัยการพิเศษฝ่ายเพื่อพิจารณา เเต่จะเป็นการเสนอเพื่อรับทราบเท่านั้น
ตรงนี้ก็จะเป็นการเเบ่งเบาภาระของอัยการจังหวัดไปได้ เเละประการต่อไป ต่อไปนี้อัยการจะไปว่าความที่ศาลควรมีอย่างน้อย 2-3 คน หรืออย่างอย่างน้อยสุดต้อง 2 คน เพราะปัจจุบันนี้คดีที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือคดีที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากนั้นมีจำนวนมาก ลองสังเกตทนายความบางคดีไปศาลกันเป็นทีมแต่ว่าความจริงเพียงคนเดียว
ดังนั้นอัยการที่ไปว่าความ 2 คน นั้นอาจจะมี 1 คน ว่าความด้วยมือ คือช่วยเขียนข้อมูลหรือช่วยตรวจส่งเอกสารได้ อย่างที่ผ่านมาคดีใหญ่ๆ อย่างคดีกบฏของ กปปส.ก็จะเห็นได้ว่าอัยการเราไปว่าความคนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ ฝ่ายจำเลยก็มีทีมทนายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจำเลยก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมด้านต่างๆ ต่อไปเราก็ต้องมีทีมไปช่วยกัน
ต้องฝากทางด้านรัฐบาลหรือผู้ดูแลงบประมาณว่าอัยการจำเป็นต้องมีเพิ่มเติมอย่างน้อย 1,000 คน ปัจจุบันเรามีประมาณ 3,000-4,000 คน เเต่ 1,000 คน เราไม่ได้ขอทีเดียวเราขอปีละ 200 คน 5 ปีก็ครบถ้าได้ตามที่ขอประสิทธิภาพในการทำงานจะดีขึ้นผมมองเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนเรื่องการพัฒนาในส่วนของราชการอีกมากมาย จะต้องมีการนำเสนอโดยให้อธิบดี ก.อ.และคณะทำหน้าที่เลขานุการเป็นผู้นำเสนอผ่านอัยการสูงสุดมาจนมาถึงตัวผมในฐานะประธาน ก.อ.ถ้าเห็นเรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญก็จะนำเสนอผ่านทางที่ประชุมกันต่อไป

⦁ที่ผ่านมามีการวิจารณ์ว่า ก.อ.ลงโทษอัยการผิดวินัยไม่เฉียบขาด ทั้งที่มีภาพปรากฏออกสาธารณะหลายกรณี ต่างกับของศาล ปรากฏราชกิจจาฯไล่ออกผู้พิพากษาอยู่บ่อย ในฐานะ ประธาน ก.อ.จะวางนโยบายลงโทษเฉียบขาดขึ้นหรือไม่
การจะไล่ออกอัยการ จะต้องเป็นวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นวินัยไม่ร้ายแรง โทษสูงสุดก็อาจจะลดบำเหน็จเลื่อนขั้น 3 ปี หรือลดหลั่นลงมา ถ้าถามว่าที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดเคยมีไล่ออกหรือไม่ ต้องตอบว่ามีเช่นเดียวกัน เเต่ของเราจำนวนไม่มาก เพราะการจะกระทำความผิดวินัยร้ายแรง จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์เข้าไปในเรื่องร้ายแรง คงไม่มีการเปิดช่องให้อัยการทำเรื่องร้ายแรง หรือพูดกันตรงๆ ว่าคงไม่มีช่องจะทุจริตได้มาก หรือมีโอกาสน้อย
เเม้บางส่วนปรากฏออกมาจะดูเป็นเรื่องร้ายแรง แต่พอไปกำกับดูว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องวินัยร้ายแรง อาจจะไม่เข้า ต้องยอมรับความจริงว่าข้อมูลบางอย่างที่สื่อเสนอและข้อมูลที่เรามี อาจจะไม่ตรงกัน
ส่วนที่มองว่าอัยการมีช่วยเหลือกันนั้น เท่าที่เป็น ก.อ.มาหลายสมัยบอกเลยว่ายากที่จะมาช่วยเหลือกัน บางครั้งไม่ใช่สื่อไม่ดี เรื่องราวก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า แต่มุมมองต่างกันเช่นเรื่องนี้ มองว่าร้ายแรง แต่มุมมองในเรื่องของฐานะว่าผู้ปฏิบัติอาจจะดูว่าไม่ร้ายแรงถึงขั้นต้องไล่ออก แต่คนกระทำต้องถูกลงโทษลดตำเเหน่งและลดบำเหน็จแน่นอน
ส่วนเรื่องการวางนโยบายลงโทษวินัยเด็ดขาดขึ้นหรือไม่นั้น ตั้งเเต่ทำหน้าที่ใน ก.อ.หรือเคยเป็น อสส.มาก่อนหน้านี้ ผมบอกน้องๆ อัยการทุกคนอยู่เสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม เหมือนที่เรามีประมวลจริยธรรมอยู่ และการกระทำใดๆ นั้น อย่าคิดว่าเป็นความลับ เพราะสักวันมันจะเปิดเผยออกมาแน่นอน เเต่ถ้าเรามีคุณธรรมและจริยธรรมเราก็สามารถจะทำงานได้โดยไม่มีข้อครหา
การทำงานนี้ให้เรายึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง เเละต้องทำ 3 ภารกิจหลักคือ 1.อำนวยความยุติธรรม หมายถึงดำเนินคดีอาญาทั่วโลกทำเหมือนกันหมด
2.การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ข้อนี้ไม่ใช่อัยการจะทำหน้าที่เข้าข้างรัฐอย่างเดียวจะต้องไปดูที่ภารกิจ 3.คือการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพราะการรักษาผลประโยชน์ของรัฐต้องคำนึงถึงประชาชน ถ้ารัฐไปเอาเปรียบประชาชน อัยการต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะอัยการเเม้เป็นทนายของแผ่นดินก็ตาม แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนทนายทั่วไป เพราะทนายทั่วไปจะรักษาผลประโยชน์ของลูกความ เเต่อันนี้เป็นผลประโยชน์ของแผ่นดิน
ฉะนั้นถ้าอัยการทำหน้าที่ได้ 3 อย่างนี้อย่างถูกต้อง มีคุณธรรมและจริยธรรมแล้วเชื่อมั่นเลยอัยการคนนั้นก็จะได้ผลลัพธ์คือความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้

สแกนคิวอาร์โค้ด ฟังคำให้สัมภาษณ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image