รู้จัก ‘บาป 7 ประการ’ ของมหาตมะ คานธี ที่ ‘อภิสิทธิ์’ กล่าวแถลงลาออก

รู้จัก ‘บาป 7 ประการ’ ของมหาตมะ คานธี ที่ ‘อภิสิทธิ์’ กล่าวแถลงลาออก

จากการแถลงข่าวลาออกจากการเป็น ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนหนึ่ง ซึ่งได้อ้างอึงหลักการหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจดังกล่าว

“มหาตมะ คานธี ส่งจดหมายให้กับหลาน ระบุถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” นายอภิสิทธิ์กล่าว

อนึ่ง มหาตมา คานธี  ได้เขียนหนังสือชื่อว่า The Story of My Experiments with Truth เนื้อความส่วนหนึ่งระบุถึง ‘บาป 7 ประการ’ ในทรรศนะของเขา ซึ่งภายหลังมีการแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อหนังสือ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” โดยเรืองอุไร กุศลาศัย แปลไว้ว่า

1.เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ (Politics without principles)

การเล่นการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือไม่ยึดหลักการของเสียงส่วนใหญ่ แต่มองว่าเสียงส่วนน้อยสำคัญกว่าเสียงส่วนใหญ่ การเล่นการเมืองมีลักษณะส่งเสริมการรัฐประหาร แต่ไม่ส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มบางคน

Advertisement

2.หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด (Pleasure without conscience)

ผู้ปกครองหรือนักการเมืองมุ่งเสพสุข หลงใหลอำนาจอิทธิพลเพื่อสร้างความเกรงกลัว โกงเงินจากประชาชนโดยวิธีที่แยบยลทำให้ราษฎรไม่ได้รับผลประโยชน์จากผู้ปกครอง หรือคนมีอำนาจ เพราะโกงกินจากงบประมาณไปจนหมด แถมยังสร้างภาระหนี้สินฝากความทรงจำแก่ราษฎรด้วย

3.ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน (Wealth without work)

Advertisement

ความร่ำรวยที่ไม่สุจริต ไม่ใช้ฝีมือหรือทักษะในการทำงานหาเงิน แต่หาเงินด้วยวิธีง่ายๆ คือการทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติดการรีดไถเงินจากประชาชน การใช้อิทธิพลซ่อนเร้นแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ฯลฯ

4.มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี (Knowledge without character)

ระบบการศึกษาอาจไม่สามารถสอนคนให้เป็นคนดีได้ เพราะการศึกษาส่วนใหญ่เน้นแต่การทำหากิน แต่ไม่เน้นการทำประโยชน์สังคม ทำให้คนมีความรู้มุ่งแต่หาเงิน จนไม่มีเวลาสนใจปัญหาของสังคม ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาน้อยไม่เท่ากับคนที่มีความรู้ แต่อาศัยความรู้ทำสิ่งไม่ดี เช่น การคดโกงการเอาเปรียบสังคมการใช้อำนาจที่ไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ หรือมีความรู้แต่ไม่ช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสกว่า

5.ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม (Commerce without morality)

เอาเปรียบแรงงาน พอขึ้นค่าจ้างก็โอดครวญ แต่ตัวเองร่ำรวยมหาศาลมีบ้านใหญ่โต, มีรถหลายคันจากการเอาเปรียบแรงงานมามากไม่ได้นึกถึงความถูกต้อง แทนที่จะเสียสละเพื่อสร้างคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีการเป็นเศรษฐีแบบนี้นับวันสังคมก็จะดูแคลน และไม่ให้ความเคารพนับถือหากเป็นคนที่ไม่นึกถึงประชาชนที่ลำบากยากจน

6.วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์ (Science without humanity)

คิดค้นวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์ต้องเข่นฆ่ากัน เช่น การคิดระเบิดปรมาณู ผู้นำมาใช้ในสงครามเป็นผู้นำประเทศ แต่ไอน์สไตน์ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คำนึงถึงความเมตตาธรรม ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นอะไรมากมาย ก็อาจทำลายสิ่งแวดล้อมทำลายธรรมชาติ

7.บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ (Worship without sacrifice)

บูชาพระบูชาเทพเจ้า แต่ไม่มีธรรมะในใจ ไม่มีความเสียสละ จึงทำให้สังคมเดือดร้อนเพราะความหลงใหลไปในทางที่ผิด หลงผิดบูชาไสยศาสตร์เพื่อเป็นที่พึ่ง แต่ความเสียสละจะหมายถึงการยินยอมให้โอกาสเพื่อนมนุษย์ได้รับสิ่งดีสูงสุด ซึ่งเป็นวิธีแบบประชาธิปไตย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image