รำลึก มหาประสาร บุญประคอง ปรมาจารย์แห่งจารึกศึกษา

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาครบรอบ 37 ปี การถึงเก่กรรมของ มหาประสาร บุญประคอง ผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการจารึกศึกษาของไทย

มหาประสาร บุญประคอง เกิดเมื่อวันพฤหัสที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 เป็นบุตรของนายต้อย บุญประคอง กับนางกิมลี้ แซ่ซื้อ ท่านเป็นคนอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จบการศึกษาระดับเปรียญ 5 ประโยคที่วัดมหาธาตุฯ เข้ารับราชการที่หอสมุดแห่งชาติในตำแหน่งข้าราชการวิสามัญ จนต่อมาจึงได้สมัครเข้ารับราชการในกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรตามคำแนะนำของศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี

ท่านได้รับราชการกรมศิลปากรจนเกษียณอายุราชการ และหลังจากนั้นทางกรมศิลปากรก็ยังคงจ้างท่านในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญจนก่อนท่านจะถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2525

โดยส่วนตัวผมนั้น เรียกว่าไม่ทันเรียนกับ มหาประสาร บุญประคอง รวมถึงไม่ทันได้เจอตัวท่าน เพราะท่านได้ถึงแก่กรรมหลายปี ก่อนที่ผมจะเรียนมหาวิทยาลัย หากแต่ผมได้อาศัยผลงานการอ่านศิลาจารึกของอาจารย์อยู่เรื่อยมา ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถที่จะบอกความรู้สึกตัวที่มีต่ออาจารย์ท่านได้ นอกจากความชื่นชมในผลงานของอาจารย์เท่านั้น

Advertisement

มหาประสาร บุญประคอง หลายท่านคงจะไม่รู้จักท่านอะนะ เพราะสังคมวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีขาดอดีตที่มา ความเป็นมาเป็นไปของสาขาวิชา

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มหาประสาร บุญประคอง ท่านมีความสำคัญอย่างไรในวงวิชาการ โดยเฉพาะสายการจารึก

หลังจากที่รัชกาลที่ 4 ทรงได้จารึกสุโขทัยมา 2 หลัก การตื่นตัวในสาขาวิชาการอ่านจารึก แต่ก็คงจำกัดเขตเฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ในส่วนตัวแล้วเรื่องการอ่านจารึกโบราณของผู้ดีในสมัยนั้นเกิดขึ้นจากอิทธิพลด้านการศึกษาประวัติศาสตร์จากชาติตะวันตก และผมก็เชื่อว่าการอ่านจารึกในราชสำนักก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะการศึกษาของราชสำนักในสมัยนั้นจำเป็นที่จะต้องเรียนอักษรเขมร ดังนั้น ถ้าจะอ่านตัวอักษรเขมรโบราณก็ไม่ใช่เรื่องยากประการใด

Advertisement

เมื่ออักษรเขมรโบราณไม่ใช่เรื่องยาก อักษรไทยโบราณก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจะเห็นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยในพระอธิบายพระราชพงศาวดาร หรือแม้แต่ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงใช้ประกอบพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง

จารึกวัดอารามป่าญะ
จารึกป้านางคำเยีย

ต่อมาเมื่อทางในสมัยรัชกาลที่ 6 หอพระสมุดวชิรญาณได้ว่าจ้างศาสตราจารย์จอร์ช เซแดส หรือเรียกตามแบบคุ้นปากว่า จอร์ช เซเดส์ การศึกษาจารึกจึงได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ

สาเหตุที่ผมบอกว่าเช่นนั้นก็เพราะ ความรู้ของราชสำนักจำกัดเพียงรูปแบบอักษรที่เก่าไปเพียงเขมรโบราณเท่านั้น แต่ถ้าเป็นรูปแบบที่เก่าขึ้นอักษรปัลลวะซึ่งเป็นรูปแบบอักษรของวัฒนธรรมอินเดียใต้ ผมว่าคงไม่มีใครอ่านออก

อีกทั้งภาษาที่ใช้ ถ้าเป็นภาษาบาลี อ่านเสร็จก็ส่งไปให้พระราชาคณะอ่านก็เป็นการจบปัญหาไป แต่ถ้าเป็นจารึกภาษาสันสกฤตจะส่งไปให้ใครละทีนี้ เพราะฉะนั้นการที่ศาสตราจารย์จอร์ช เซเดส์ ซึ่งท่านมีความรู้ด้านภาษาเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤต และรูปแบบอักษร จึงทำให้ดูเหมือนสำเร็จรูปในตัว และผลงานที่สำคัญของศาสตราจารย์ท่านนี้เมื่อครั้งทำงานที่หอพระสมุดวชิรญาณก็คือ ประชุมศิลาจารึก ภาค 1 และภาค 2

ต่อมาเมื่อศาสตราจารย์จอร์ช เซเดส์ ต้องเดินทางกลับไปรับตำแหน่งอำนวยการสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ก็เกิดปัญหาว่าใครจะมาเป็นทำหน้าที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือกให้ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ รับหน้าที่นี้

แต่อย่างไรก็ตาม บุคลากรที่ทำหน้าต่อจากศาสตราจารย์จอร์ช เซเดส์ ก็ไม่มีใครที่สำเร็จรูปในตัวที่สามารถอ่านจารึกและแปลข้อความเองไปพร้อมๆ กัน

ในปี พ.ศ.2506 เมื่อศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ เกษียณอายุและหมดเขตการต่ออายุว่าจ้าง นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรก็ได้มอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่มหาประสาร บุญประคอง เมื่อแรกท่านก็ตอบไปว่า “กระผมไม่ศึกษาการอ่านจารึก เห็นจะไม่สามารถอ่านได้” อดีตอธิบดีท่านจึงกล่าวว่า “สิ่งใดในโลกที่ผู้ชายทำไม่ได้ ไม่มี”

ด้วยเหตุนี้เอง มหาประสารจึงได้ทำการศึกษาจารึกโดยการนำมาหัดอ่านทบทวนสังเกตดูและสอบทานกับตัวอักษรจารึกที่หลักศิลา ดังนั้น ท่านจึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอ่านจารึกของกรมศิลปากร ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของนักปราชญ์ในสมัยนั้นที่มีความรู้จากการสั่งสมและศึกษาด้วยตนเอง

แม้ว่าท่านจะไม่เคยรับปริญญาใดๆ ก็ตาม แต่จากความสามารถของท่านก็สามารถขึ้นไปสอนหนังสือในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงานของมหาประสาร ส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านจารึกที่ตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร แต่ที่สำคัญคือ หนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 6

มหาประสาร ถ้าเทียบกับศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ดูเหมือนว่า ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ จะโชคดีกว่าท่าน เพราะศาสตราจารย์ฉ่ำ ยังได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมเพียงไม่น้อย แต่มหาประสาร ผมเองไม่มั่นใจถ้ามีอายุยืนยาวกว่านี้หน่อยจะได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์หรือไม่

แต่แน่ๆ คือ สังคมได้ลืมมหาประสารไปแล้ว ทั้งๆ ที่เราก็ไปเป็นหนี้บุญคุณของอาจารย์ ในเรื่องการนำเนื้อความจารึกมาใช้

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
—————–
ภาพจาก กรมศิลปากร และฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image