ชีวิตดีๆ ที่จะไม่สนใจการเมืองคงไม่ได้ : โดย กล้า สมุทวณิช

ช่วงนี้ผมได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในเชิงสุขภาพอย่างสำคัญ ด้วยการไปตอบรับคำท้า 30 Days Challenge กับมิตรสหาย Podcaster และนักฟัง Podcast กลุ่มใหญ่

กฎของการ Challenge ตลอดเดือนมิถุนายนนี้เหมือนจะธรรมดาแต่ทำยาก คือข้อหนึ่ง กิน “คลีน” คืออาหารเพื่อสุขภาพที่สดใหม่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปและปรุงแต่งน้อยที่สุด ข้อสอง ทำ “Intermittent Fasting” คือการอดอาหารเป็นช่วงเวลา ซึ่งนิยมกันขั้นต่ำคืออดอาหาร 16 ชั่วโมง โดยมีช่วงที่กินอาหารได้ 8 ชั่วโมง ข้อสาม งดการกินน้ำตาล และอาหารที่เติมน้ำตาล และข้อสุดท้าย ออกกำลังกายทุกวัน

นั่นทำให้ผมได้ค้นพบและครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ซึ่งมันจุดประกายขึ้นหลังจากออกกำลังกายประจำวันของวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน เสร็จตอนประมาณเที่ยงคืนพอดี เพราะเพิ่งกลับถึงบ้านก่อนหน้านั้นไม่ถึงสองชั่วโมง

คนกรุงเทพฯ คงจำได้ว่าวันที่อ้างถึงนั้นคือวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นวันที่การจราจรติดขัดมหาวินาศโกลาหลที่สุดครั้งหนึ่ง เป็นการ “เปิดฤดูฝน” ที่คงจะประทับใจ เมื่อฝนเทลงมาตั้งแต่ประมาณช่วงบ่าย ส่งผลให้เกิดน้ำระบายไม่ทันอย่างหนักในแทบทุกจุดในกรุงเทพมหานคร จนถึงเวลาเลิกงานและเป็นวันศุกร์แรกของเดือน วินาศภัยสมบูรณ์แบบบังเกิด

Advertisement

ใครอยู่บนท้องถนนในวันนั้นช่วงนั้นต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมงถือเป็นวาสนา สองถึงสามชั่วโมงคือมาตรฐานเพื่อนร่วมทุกข์ สี่ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะเรียกได้ว่าโชคร้าย และบวกเพิ่มด้วยข้อจำกัดและความจำเป็นของแต่ละคน เช่น เจ็บป่วย ปวดเข้าห้องน้ำ มีลูกเล็กๆ ที่ต้องไปรับ มีนัดธุระสำคัญ คูณด้วยการต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเชื่อว่าคงได้เห็นภาพหรือมีประสบการณ์ร่วมกันไปแล้ว

มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่เล่าในตอนต้นหรือ นั่นคือข้อระลึกขึ้นของผมที่ว่า เราจะมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเลือกใช้ชีวิตที่จะกินอาหารดีๆ หรือออกกำลังกาย เพื่อในที่สุดจะสามารถทำงานหรือสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มความสามารถได้นั้น ในสภาพความเป็นจริงในสังคมเมืองหลวงนั้นจะต้องอาศัย “แต้มต่อ” คือการต้องมีอิสรภาพในทางการเงิน เวลา และความสามารถในการจัดการกับตัวเองได้ในระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งเป็นระดับที่จะต้องเป็น “คนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ” ด้วย

คุณจะกิน “คลีน” ทุกมื้อได้อย่างไร ถ้าคุณไม่สามารถเลือกเวลาทำงานได้ คุณต้องไปเข้างานเวลา 08.30 นาฬิกา ซึ่งจะต้องใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ไม่รวมการอาบน้ำจัดการธุระส่วนตัว และมันยิ่งคาดเดาไม่ได้เข้าไปใหญ่ถ้าคุณต้องใช้บริการขนส่งมวลชน หรือคุณอาจจะตื่นมาทำอาหารตั้งแต่ยังไม่ตีห้าก็ได้ แต่นั่นคุณจะเหลือเวลานอนเท่าไร ถ้าคิดว่าหลังเลิกงานคุณก็จะต้องกลับมาออกกำลังกาย อ่านหนังสือหรือเรียนรู้ทักษะต่างๆ ตามแนวคิดของโลกยุคปัจจุบันว่าคนเราจะต้องศึกษาตลอดเวลา เพราะทักษะที่เรามีมันจะล้าหลังอยู่เรื่อยๆ

Advertisement

คุณจะมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจหรือไม่ หรือคุณจะกินคลีนแบบที่ซื้อเขากิน กล่องละ 100-200 บาท ก็ยังไม่อิ่มในทุกมื้อ

และคุณจะออกกำลังกายอย่างไร ถ้าคุณจะต้องไปทำงานในเวลานั้น และเลิกงานกลับมาหลัง 6 โมงเย็น หรือบางวันถึงทุ่มหนึ่ง หากในซอยบ้านคุณเต็มไปด้วยสุนัข โจรผู้ร้าย หรือรถราที่ขวักไขว่เพราะมันกลายเป็นเส้นทางลัดหนีการจราจรที่ติดขัด สถานออกกำลังกายอาจจะช่วยคุณได้ในกรณีนั้น แต่ก็แลกกับค่าใช้จ่ายรายปีรายเดือนเพราะส่วนใหญ่เป็นบริการของเอกชน ไม่นับว่าคุณจะเหลือพลังงานอยู่เท่าไรหากต้องผ่านวันอันโหดร้ายเหมือนค่ำวันศุกร์ที่แล้วอีก

ก็อาจจะเข้าใจได้ ว่าทำไมประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่จึงบริโภคอาหารเค็มมันหรือหวานจัดที่มีผักน้อยหรือผลไม้ดองหรือแช่สารให้ความหวานเท่าที่พอหาได้ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน รอวันเงินเดือนออกก็ไปปลดปล่อยด้วยบุฟเฟต์อาหารที่ชอบเท่าที่พอจะจ่ายได้ หรือกลับบ้านมานอนสิ้นเรี่ยวแรงดูซีรีส์ผ่านบริการสตรีมมิ่งถูกกฎหมายบ้างผิดกฎหมายบ้างตามความสามารถในการเข้าถึง รอวันไปตรวจสุขภาพประจำปีตามสิทธิหรือสวัสดิการ ค่อยไปตระหนกตกใจในตอนนั้นว่าน้ำตาลสูง ไขมันเกิน เริ่มมีภาวะความดัน หรือมีค่าไตที่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องระวัง

ทั้งหมดที่กล่าวไปอาจจะเป็นข้ออ้าง มันมีแน่นอนคนที่พบกับข้อจำกัดที่ว่าไปแล้วทั้งหมดแต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตที่ดีๆ ได้ แต่นั่นต้องอาศัยวินัย พลังใจ และการควบคุมตัวเองอย่างสูง ก็ย้อนกลับไปถึงประโยคที่ว่า การใช้ชีวิตดีๆ ในสังคมเมืองหลวงเช่นในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก พร้อมคำถามว่า ทำไมการที่จะมีชีวิตดีๆ ได้มีเพียงทางเลือกว่าคุณจะต้องมีเงินมากพอ ทำงานที่ดีมีอิสระเพียงพอ หรือไม่ก็คุณก็ต้องใช้วินัยและความพยายามอย่างยิ่งยวด

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าการมีชีวิตดีๆ ที่ว่านั้นจะมีอุปสรรคภายนอกได้น้อยที่สุด สิ่งเดียวที่จะขัดขวางคือพลังใจของตัวเอง

“ความสนใจทางการเมือง” จึงไม่ใช่เพียงการชมการเชียร์มหกรรมสักอย่าง เหมือนลุ้นให้ทีมที่รักได้แชมป์ฟุตบอล ที่ได้เพียงความสะใจโดยไม่มีผลอะไรต่อความเป็นอยู่ของชีวิต

เพราะหลังจากที่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นคนเดิม แม้ว่าจะมาจากการลากไปถูเอาพรรคเล็กพรรคน้อยมานั่งเป็นพระอันดับยกมือให้ด้วยกลนิติคณิตศาสตร์ของผู้จัดการเลือกตั้ง บวกด้วยเสียงสมาชิกวุฒิสภาที่ตั้งมาเองกับมือโดยไม่แตกแถว

ประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังสนับสนุนเขาก็พยายามไล่ให้ผู้สนใจและตื่นตัวทางการเมืองนั้นยอมรับ แยกย้าย เลิกสนใจ “นายกฯ ของพวกเขา” สักทีหนึ่ง ด้วยการสร้างวาทกรรมว่า “ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล เราก็ต้องทำงานหาเงินเหมือนเดิมอยู่ดี” หรือบ้างก็ลามมาแซะว่า คนที่บ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่ออกหรือทำงานยากขึ้นนั้นเพราะ “ไม่ขวนขวายปรับตัวกันเอง” บ้าง “ก็เห็นโทษว่าเศรษฐกิจไม่ดีได้ทุกรัฐบาลบ้าง”

ตามด้วยประโยคที่เป็นเหมือนไม้ตายว่า ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ตัวเองก่อน…

นรกแช่น้ำในวันศุกร์ที่ต่างคนต่างก็มีประสบการณ์นั้นเองที่แสดงให้เห็นถึงวาทะหนึ่งของเพลโตที่ว่า “คนที่คิดว่าฉลาดเกินกว่าที่จะสนใจการเมืองนั้น ได้รับการลงโทษด้วยการถูกปกครองโดยคนที่โง่กว่า”

จริงอยู่ว่าการจราจรที่ติดขัดเกิดจากฟ้าฝนที่เป็นปัจจัยโดยธรรมชาติแห่งฤดูกาล และรถติดเป็นปัญหาของกรุงเทพมหานครมานับแต่ยุคสงครามเย็น และบางคนก็ก่นกล่าวโทษว่าก็เป็นเพราะชาวกรุงผู้ประสบภัยนั่นแหละ ที่ถ้ามีโอกาสก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวไว้บ้านละคันสองคัน แล้วขับออกมาพร้อมกันทั้งหมด แถมยังไม่รู้จักรักษาวินัยบนท้องถนนด้วย

หรือแม้แต่ปัญหาขนส่งมวลชนไม่ดีก็มีมาทุกรัฐบาล รัฐบาลทหารที่ผ่านมาเสียอีกที่ผลักดันให้จนมีการสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินพร้อมกันทั่วกรุงเทพฯรวดเดียวกัน 5-6 สาย ยังไม่พอใจกันอีกหรือ

แต่เมื่อมาพิจารณากันให้ดี ปัญหาการจราจรและน้ำระบายไม่ทันในกรุงเทพฯนั้น มันก็เพราะว่าเราเลือกที่จะ “แก้ปัญหาที่ตัวเองก่อน” นั่นแหละ

ก็เพราะเรารู้ว่าระบบขนส่งมวลชนนั้นย่ำแย่และถึงขนาดพึ่งพาไม่ได้ เราจึงต้อง “แก้ปัญหาด้วยตัวเอง” ด้วยการที่ใครที่พอที่จะมีความสามารถในการซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ก็จะต้องรีบขวนขวายให้ตัวเองมียานพาหนะของตัวเอง ที่แม้ว่ามันจะหนีรถติดไม่ได้ หากอย่างน้อยก็ไม่ต้องไปยืนแช่น้ำรอรถเมล์หรือรถตู้ที่ไม่รู้ว่าจะมาในอีกกี่ชั่วโมงข้างหน้า แท็กซี่ที่ต้องเสี่ยงว่าจะรับเราขึ้นรถหรือไม่ แต่ถ้าเป็นรถยนต์ของเราเอง เมื่อสตาร์ตรถ จะชั่วจะดีหรือแม้แต่ติดอยู่ในที่จอดรถก็ยังถือว่าเรากำลังเคลื่อนไปสู่จุดหมายแล้ว

นี่แหละคือการแก้ปัญหาแบบใครทำได้ทำไปก่อน ช่วยเหลือตัวเองก่อน ทำตัวเองให้รอดก่อน และการแก้ปัญหาด้วยตัวเองไปคนละทิศคนละทางก็สร้างปัญหาตามหา ตราบใดที่เราไม่มองให้เห็นว่าตัวปัญหาที่หลบซ่อนอยู่คือ “รัฐ” และ “การเมือง”

เปล่าเลย ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐจะต้องแก้ไข แต่การเรียกร้องการเมืองที่ดี เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นต่างหากคือรูปแบบหนึ่งของการแก้ปัญหาที่เริ่มจากตัวเราเอง ที่ไม่ใช่เพียงการเชียร์หรือชื่นชมทีมที่รักพรรคที่ชอบเหมือนการเชียร์ฟุตบอล

แต่เราเลือกอนาคตที่ดีกว่าของเราผ่านพรรคการเมือง เราเรียกร้องความรับผิดชอบจากเขาในฐานะของตัวแทนประชาชน

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีประชาธิปไตยนั้น แก่นแกนที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้มีอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นขาดความรู้สึกว่าจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ทำให้ปัญหาที่หนักหนาอยู่แล้วตามธรรมชาตินั้นพัฒนาไปสู่วิกฤตมหาโกลาหล

ด้วยเขาไม่คิดว่าจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เขาจึงปล่อยให้เครื่องสูบน้ำในความดูแลของเขาใช้การไม่ได้ในวันที่ต้องใช้ รวมถึงการถมยกระดับถนนขึ้นมาด้วยการเทยางมะตอยลงไปบนผิวทางดื้อๆ โดยไม่เจาะช่องหรือเตรียมการระบายน้ำ

ทำให้พวกเขาอนุมัติสร้างรถไฟฟ้าทีเดียวห้าหกสาย พร้อมกับการทุบซ่อมสะพานเพื่อซ่อมตามรอบ โดยไม่ต้องสนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อช่องทางไหนบ้าง ก็เพราะเขาต้องรับผิดชอบต่อคนที่แต่งตั้งหรือจะให้ประโยชน์แก่เขาเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องรับผิดชอบต่อเขาลงไปเป็นชั้นๆ ซึ่งในทุกชั้นนั้นไม่มีประชาชนหรือพลเมืองที่เขาจะต้องทำงานให้อยู่ตรงไหนเลย

การเมืองจึงเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเราตั้งแต่ในการเมืองระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น เช่นนี้ ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ “เลือก” ด้วยถูกคนบางพวกบางกลุ่มยึดเอาไป

จากนี้ เมื่ออำนาจในการ “ได้เลือก” ของเรากลับมาแล้ว นอกจากจะต้องเลือกให้ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ในคราวต่อไป อย่ายอมให้ใครมาริบมายึดเอาอำนาจการตัดสินใจอนาคตและคุณภาพชีวิตของเราผ่านช่องทางการเมืองไปได้ง่ายๆ อีก

และอย่ายอม อย่าเชื่อ ใครที่พยายามจะลดทอนคุณค่าของอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองของเรา ด้วยวาทกรรมที่ดูสวยหล่อหลุดพ้นทางการเมือง แต่เป็นประโยชน์ให้แก่พวกผู้อยากมีอำนาจแต่ขาดความรับผิดชอบได้ลอยหน้าลอยตาเป็นเจ้าเป็นนายเราได้อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image