อาศรมมิวสิก : เพลงภูไทสามเผ่า โดยรัฐศาสตร์ เวียงสมุทร : สุกรี เจริญสุข

ได้ฟังเพลงภูไทสามเผ่า ของอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร โดยการนำเพลงท้องถิ่นภูไทมาเรียบเรียงใหม่ ทำเป็นเพลงสำหรับเล่นด้วยกีตาร์ ซึ่งผลงานเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนดนตรีอยู่ในระดับอุดมศึกษา อาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร เรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านดนตรี โดยเรียนกีตาร์เป็นเครื่องมือเอก เมื่อสอนในระดับอุดมศึกษาก็ใช้ความสามารถทางกีตาร์แล้วนำบทเพลงที่อยู่ในชีวิตประจำวันมานำเสนอในรูปแบบใหม่ได้อย่างงดงาม

“นำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์บทเพลงใหม่”

เดิมนั้น เพลงภูไทสามเผ่า ประพันธ์และเรียบเรียงโดยครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ โดยนำทำนองเพลงของชาวภูไทสามเผ่ามาเรียงร้อยต่อกัน ทำนองแรก คือ เพลงของชาวภูไทกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในฟ้อน “ลายภูไทเลาะตูบ” ทำนองที่สอง เพลงภูไทสกลนคร ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า “ลายภูไทน้อย” และเพลงภูไทเรณูนคร ซึ่งนักดนตรีที่เล่นประกอบหมอลำ อาทิ หมอแคน หมอพิณ หรือหมอโหวด จะเรียกว่า “ลายลมพัดพร้าว”

โดยธรรมชาติของเพลงพื้นบ้าน จะมีทำนองสั้นๆ เพราะมีความจำเป็นและต้องการทำนองสั้นๆ เพื่อเล่นให้สนุกสนานแล้วก็ไหลลื่นไปสู่ทำนองใหม่ เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องทำให้เพลงยาวขึ้นเพื่อประกอบการฟ้อน นอกจากนักดนตรีจะนำทำนองเดิมมาพลิกแพลงแล้ว (แปรทาง) ก็เอาทำนองเพลงต่างๆ ที่จำได้มาเล่นเรียงร้อยในอารมณ์ที่ต้องการจะใช้ในขณะนั้น สำหรับดนตรีไทยจะเรียกวิธีร้อยเพลงต่อกันว่า เพลงตับ คือการเอาเพลงมาเรียงต่อกันให้เป็นตับ คล้ายกับตับจาก (มุงหลังคา) หรือตับปลา คือตากปลาแห้ง ซึ่งจะเรียงตากแดดไว้เป็นตับ

Advertisement

อาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ได้นำเพลงภูไทสามเผ่าของครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ มาอีกทอดหนึ่ง เพื่อเรียบเรียงให้เป็นเพลงสำหรับกีตาร์ ประหนึ่งว่าดีดพิณ (อีสาน) เนื่องจากอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร เป็นคนรุ่นใหม่ ได้เรียนดนตรีในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ถือว่าเป็น “ศิษย์มีครู”

ข้อแตกต่างระหว่างนักดนตรีชาวบ้านกับนักดนตรีที่ผ่านการศึกษาในสถาบันนั้น ชาวบ้านเป็นศิษย์มีพระหรือการเรียนเป็นแบบมวยวัด ก็ต้องอาศัยวิธีเลียนแบบแล้วก็ทำซ้ำๆ อาศัยประสบการณ์ล้วนๆ “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” ซึ่งการใช้วิธีของชาวบ้านนั้น ส่วนใหญ่นักดนตรีจำทำนองได้อยู่แล้วในใจ ท่องจำ “ขึ้นใจ” นำทำนองที่ขึ้นใจอยู่แล้วมาเล่นต่อกันไปเลย เพราะในเมื่อช่างฟ้อนยังรำไม่จบ ดนตรีจะเล่นจบไปก่อนไม่ได้ ก็ต้องเล่นต่อไปให้ช่างฟ้อนรำให้จบ

เมื่อต้องการใช้เพลงยาวขึ้น วิธีที่ง่ายที่สุดก็ต้องเอาทำนองสั้นๆ มาเล่นต่อกันให้ยาวขึ้น ยาวไปจนกว่าช่างฟ้อนจะฟ้อนจบ

Advertisement

ตัวอย่างที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ “ปี่มวย” การเป่าปี่ให้มวยชกกัน เพลงปี่ชกมวยนั้น เป็นเพลงอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็รวมเรียกว่า “ปี่มวย” อาจจะมี “บุหลันชกมวย” นักปี่จะต้องเป่าเพลงให้สนุก เป่าไปจนกว่ามวยจะชกครบยก ในแต่ละยกอาจจะใช้เพลงเดียวกัน แต่อารมณ์ที่เป่าจะต่างกัน หน้าทับ (กลองเชิด) ปี่มวยก็จะตีแตกต่างกันในแต่ละยก หากว่ามวยชกกันแล้วไม่ครบยก ถูกคู่ต่อสู้น็อกหลับคาเวทีไปเสียก่อน นักปี่ก็ต้องหยุดเป่า เป็นการหยุดกะทันหัน เป่าปี่ไม่ครบเพลง

หมอลำจะต้องมีหมอแคนคู่ใจ เพราะเมื่อหมอลำขึ้นทำนองเพลง หมอแคนจะต้องเป่าตามได้ เมื่อหมอลำเปลี่ยนทำนอง หมอแคนก็ต้องเปลี่ยนตามได้ เช่นเดียวกับนักลิเก ก็ต้องมีนักระนาดคู่ใจ ซึ่งสามารถตามเพลงลิเกได้ทุกเพลง แบบนักระนาดครูบุญยงค์ เกตุคง คู่กับลิเก พรภิรมย์ เป็นต้น

เช่นเดียวกับปี่โนรา ซึ่งนักปี่จะเป่าตามท่ารำ หน้าทับ (จังหวะกลอง) ของโนราได้ เมื่อโนราเปลี่ยนท่ารำ นักปี่ก็จะต้องเป่าเพลงตามและทับ (กลอง) ก็ตีตามท่ารำได้ด้วย เพราะโนราให้นางรำเป็นหลัก ดังนั้น การใช้นักมวยเป็นหลัก ใช้หมอลำเป็นหลัก หรือการใช้ช่างฟ้อนเป็นหลัก “ช่างฟ้อน โนรา ลิเก ปี่มวย” ใช้ชีวิตและลมหายใจอยู่คู่กัน เป็นวิธีการดั้งเดิมของชาวบ้านที่เรียนรู้ดนตรีและศิลปะการแสดง ก่อนที่จะมีระบบการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาทดแทน

สำหรับนักดนตรีในระบบการศึกษาใหม่ เรียนดนตรีในโรงเรียน “เป็นศิษย์มีครู” ก็มีวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ เป็นวิธีการศึกษาแบบแยกส่วน แยกชีวิตออกจากลมหายใจ เป็นการเรียนรู้ที่มีขั้นตอน บทเพลงไม่ได้อยู่ในจิตใจของนักดนตรีอีกต่อไป จิตใจก็ไม่ได้จดจำบทเพลง เพราะต้องเอาเพลงที่อยู่ในจิตใจเขียนลงไปในกระดาษเสียก่อน เมื่อบทเพลงออกจากจิตใจลงสู่กระดาษ การจดบันทึก (โน้ต) ได้แล้ว นักดนตรีที่เล่น ก็ต้องไปอ่านโน้ตในกระดาษก่อน อ่านให้ออก เขียนให้ได้ และต้องจดจำให้ได้ด้วย

หลังจากนั้น นักดนตรีต้องไปฝึกฝนเล่นให้ได้อย่างที่เขียน ต่อมาจึงเอาจิตใจเข้าไปใส่ในเพลงอีกทอดหนึ่ง กว่าจะรู้สึก กว่าจะเข้าใจ กว่าจะจำได้ กว่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบทเพลง ก็ต้องใช้เวลานาน ซึ่งเป้าหมายก็อยู่ที่เดียวกัน คือ บทเพลงชีวิตและลมหายใจ

ปัญหาของการศึกษาไทย เป็นการนำเข้าองค์ความรู้ นำเข้าความสำเร็จ นำเข้ารสนิยม นำเข้าวิถีชีวิต โดยรัฐและข้าราชการของรัฐ ยอมรับความรู้ ความสำเร็จ รสนิยม และวิถีชีวิตจากตะวันตกทั้งหมด ในที่สุด องค์ความรู้ในท้องถิ่น ความสำเร็จของชาวบ้าน รสนิยมแบบดั้งเดิม และวิถีชีวิตของชุมชน ก็ถูกทำลายไปหมดสิ้น สิ่งเหล่านี้ถูกมองข้าม กระทั่งวิถีไทยแทบจะไม่เหลืออยู่อีกแล้ว ความรู้และวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกกลืน ถูกลืม เป็นการสูญเสียเอกราชทางความรู้และวิถีชีวิตดั้งเดิม เพราะองค์ความรู้ดั้งเดิมไม่สามารถจะให้ประโยชน์ที่เป็นเงิน (เดือน) ได้ ความรู้ดั้งเดิมจึงไม่เข้มแข็งและไม่ได้ให้ประโยชน์ในวิถีชีวิตใหม่ได้อีกต่อไป

สำหรับชาวภูไทนั้นเป็นชนกลุ่มน้อย อาศัยกระจายอยู่ในลาว เวียดนาม และไทย โดยทั่วไปแล้ว ชาวภูไทในไทยนั้น มีหลักฐานว่าปักหลักอยู่ที่เมืองเรณูนคร จังหวัดนครพนม กาฬสินธุ์ และที่สกลนคร จุดเด่นสำคัญของชาวภูไทก็คือ มีวิถีชีวิต มีภาษา การแต่งกาย ประเพณี วัฒนธรรม และมีดนตรีเป็นของตัวเอง

การที่อาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ได้นำเพลงดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งยังเป็นที่นิยมเล่นกันอยู่ในกลุ่มนักดนตรีในท้องถิ่น เมื่อนำเพลงภูไทสามเผ่ามาเรียบเรียง แล้วนำมาแสดงเผยแพร่ โดยไม่รู้สึกขัดเขินนั้น ได้สร้างความภูมิใจให้กับตัวนักดนตรีอย่างมาก ผู้ฟังรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้ยินเพลงที่คุ้นเคย ทำให้บทเพลงเป็นที่รู้จัก ซึ่งในเวลาเดียวกัน ผู้ชมหรือนักดนตรีต่างชาติก็ประทับใจ เพราะเสียงเพลงภูไทสามเผ่า ฟังแปลกใหม่ คล้ายๆ เสียงพิณ นักดนตรีต่างถิ่นก็อยากนำเพลงไปเผยแพร่ต่อ ทำให้เพลงท้องถิ่นของภูไทกลายเป็นเพลงที่ขยายไปสู่ความเป็นเพลงนานาชาติ

การทำ “เรื่องกระจอกๆ ให้โลกรู้จัก” เป็นหน้าที่ของศิลปินในทุกสาขา เพราะพลังความรู้สึกนึกคิด ลมหายใจและดวงไฟของจินตนาการนั้น ยังซ่อนอยู่ในจิตวิญญาณ อยู่ในบทเพลงและงานศิลปะได้ทุกสาขา พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปลุกดวงวิญญาณอื่น (ผู้ฟัง) ให้โชติช่วงชัชวาลได้ทุกเมื่อ

เพลงภูไทสามเผ่า ของอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร นั้นเป็นตัวอย่าง “ดวงไฟน้อยๆ” ที่มีพลังที่แรงมาก สามารถเจาะทะลุจิตใจ สร้างแรงสะเทือนไปสู่จิตใจได้อีกหลายดวงในเวลาเดียวกัน บทเพลงภูไทสามเผ่าของอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ยังเป็นตัวอย่างที่นำร่อง เพื่อให้ครูดนตรี นักดนตรีคนอื่นๆ ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทย ได้มองเห็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในชุมชน

“ยาจกนั่งอยู่บนถุงทอง”

อย่าลืมว่า คนไทยเรามีพื้นฐานฐานะที่ยากจน เพราะคนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร หาเช้ากินค่ำ หรือหาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ ไม่สามารถที่จะยกฐานะสู้กับทุนใหญ่ของชาติได้ แต่ก็มีสิ่งใหม่ที่สามารถแข่งในตลาดโลกได้ก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ” ซึ่งไม่มีขอบเขต

เรามีวัตถุดิบมากมายซ่อนอยู่ในทุกๆ ท้องถิ่น หากศิลปินในแต่ละสาขานำเอาถุงทองที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ ชาวบ้านก็จะกลายเป็นผู้มีอันจะกินได้

เพลงภูไทสามเผ่า ของอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร เป็นตัวอย่างของการนำทรัพย์สินของท้องถิ่น นำเอามรดกทางวัฒนธรรมมาใช้ในรูปแบบใหม่ ในรูปแบบที่ “คนจร” หรือนักท่องเที่ยวซื้อได้ ซึ่งในการซื้อนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ ซื้อมาขายไป เป็นเจ้าของสินค้านั้นเป็นวิธีหนึ่ง แต่การนำมาแสดงให้คนจรได้ดู โดยชุมชนได้จัดกิจกรรมดนตรี กิจกรรมการแสดง โดยนำสื่อเทคโนโลยีมาสื่อสารให้ถึงคนจรทั้งหลาย ซึ่งไม่นานเมื่อกิจกรรมเกิดขึ้นทุกชุมชน ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย

เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องให้การสนับสนุนให้เพลงภูไทสามเผ่าของอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ได้เดินทางไปแสดง เพื่อปลุกพลังให้เกิดขึ้นในชุมชนไทยและวัฒนธรรมในทุกชุมชน เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงท่องเที่ยวที่จะเผยแพร่ให้คนจรได้รับรู้ ได้พบกับศิลปะดนตรีที่ดีในชุมชนทั่วท้องถิ่นไทย เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องนำศิลปินอย่างอาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ออกไปเผยแพร่ผลงานของชาติในต่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน อาจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ต้องสร้างผลงานใหม่ต่อไปเรื่อยๆ อย่าท้อ อย่าเหนื่อย และอย่าหยุด อีกสิบปี ยี่สิบปี ก็จะเห็นพลังอันมหาศาล จะทำเพลงท้องถิ่นไทยเป็นมรดกอันล้ำค่า ยิ่งกว่าเหมืองทองคำเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image