บอร์ด กพฐ.สั่งรื้อบัญชี ‘ร.ร.ดัง’ ทั่ว ปท.เรียกโรงเรียนลักษณะพิเศษ สอบ 100%

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือนโยบายการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 ซึ่ง กพฐ.เร่งรัดให้ สพฐ.เร่งดำเนินการ เพื่อประกาศให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน มีเวลาเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เบื้องต้นเห็นตรงกันว่าควรให้โรงเรียนที่มีศักยภาพรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 เข้าเรียนด้วยวิธีการสอบ 100% หากเด็กสอบไม่ได้ ก็สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไปในพื้นที่บริการ

“อย่างไรก็ตาม จะต้องกำหนดรายชื่อโรงเรียนที่จะจัดสอบ 100% ให้ชัดเจน ดังนั้น อาจจะต้องทบทวนจำนวนโรงเรียนอัตราแข่งขันสูง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 380 แห่งทั่วประเทศ ว่ายังคงมีศักยภาพเป็นโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงจริงหรือไม่ โดยโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ต่อไปอาจไม่ต้องเรียกโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูง อาจกำหนดชื่ออื่น เช่น โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ รับด้วยวิธีการสอบ 100%” นายเอกชัยกล่าว

นายเอกชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กพฐ.ยังหารือกรณีที่จำนวนเด็กเข้าเรียนลดลง บางโรงเรียนที่เคยเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 2,000 กว่าคน ก็ลดขนาดลง เหลือนักเรียนไม่กี่ร้อยคน ดังนั้น คณะกรรมการ กพฐ.จึงมีข้อเสนอว่า หากโรงเรียนใดที่จำนวนนักเรียนลดลง อาจใช้วิธีการควบรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงในพื้นที่ ส่วนอาคารสถานที่ก็สามารถปรับไปใช้ประโยชน์ทางราชการได้ และหากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด ก็สามารถเป็นโรงเรียนที่เปิดสอบ 100% ได้

“ผมเองได้หารือแนวทางการรับนักเรียนกับนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ.แล้ว เบื้องต้นมีความเห็นสอดคล้องกัน นอกจากให้โรงเรียนที่มีศักยภาพสอบ 100% แล้ว ยังเห็นว่าควรให้พื้นที่มีส่วนในการกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเองด้วย ส่วนจะเป็นวิธีการใดนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องรอข้อมูลสภาพปัญหาการรับนักเรียนแต่ละจังหวัดที่ สพฐ.ได้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศรวบรวม คาดว่าจะได้ข้อมูลภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นคณะกรรมการการรับนักเรียนที่ สพฐ.แต่งตั้งขึ้น จะหารือจัดทำแนวทางการรับนักเรียน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ กพฐ.พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้” นายเอกชัยกล่าว

Advertisement

นายเอกชัยกล่าวว่า จากนั้นจะแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่รับทราบต่อไป โดยการอนุมัติและประกาศหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการ กพฐ.

นายสุเทพกล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานวิเคราะห์แนวทางการรับนักเรียนที่ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการรับนักเรียนว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และมีเรื่องใดควรปรับปรุงบ้าง คาดว่าคณะทำงานจะรวบรวมข้อมุูลเสร็จภายในเดือนนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุม กพฐ.พิจารณา และให้ข้อเสนอแนะต่อไป ทั้งนี้ นโยบายการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ของ สพฐ.ต้องการที่จะกระจายอำนาจลงไปสู่พื้นที่ ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และ สพท.ทั่วประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบ

“สาเหตุของการกระจายอำนาจ เนื่องจากบริบทของแต่ละพื้นที่ต่างกัน มีความต้องการการรับนักเรียนที่ไม่เหมือนกัน และตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดไว้ชัดเจนว่าการจัดการศึกษาต้องกระจายอำนาจให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เรื่องการรับนักเรียนจะต้องหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงบุคคลหลายฝ่าย ดังนั้น ทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างละเอียดและรอบคอบ” นายสุเทพกล่าว

Advertisement

นายสุเทพกล่าวอีกว่า หลายคนกังวลหากกระจายอำนาจให้พื้นที่จัดการเรื่องรับนักเรียน จะเกิดปัญหาแป๊ะเจี๊ยะหรือไม่ เห็นว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานจากส่วนกลาง เช่น สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หน่วยงานพื้นที่เข้ากำกับดูแลอยู่แล้ว และทุกจังหวัดต้องหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image