ส.อ.ท.ลุ้นจี20กระตุ้นเทรดวอร์เดือด หวังครม.ใหม่เร่งคลอดรับมือศก.ชะลอ

ลุ้นจี20
ลุ้นจี20กระตุ้นเทรดวอร์เดือด หวังครม.ใหม่เร่งคลอดรับมือศก.ชะลอ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.กำลังติดตามใกล้ชิดถึงการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่ม จี20 (ซัมมิตจี20)จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่าหาก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ สหรัฐเตรียมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเพิ่มอีกขั้นต่ำมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐทันทีหากขึ้นจริงสงครามการค้าจะตึงเครียดและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้นและไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นขณะนี้สำหรับไทยควรเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อเร่งเข้ามาแก้ไขและรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ปัจจุบันการส่งออกส่งสัญญาณถึงผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว

“การส่งออก4เดือนแรกลดลง1.86%ผลกระทบจากสงครามการค้า ดังนั้นการฟอร์มทีมรัฐบาลเสร็จเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเพราะปัญหาข้างหน้ารอเราอยู่เพราะขณะนี้พอไม่มีรัฐบาลการขับเคลื่อนงานต่างๆก็ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น”นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า โฉมหน้ารัฐบาลใหม่โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ เอกชนต้องการให้มีการทำงานเป็นทีมเดียวกัน ในอดีตขึ้นตรงต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ภายใต้รัฐบาลใหม่กระทรวงเศรษฐกิจบางส่วนถูกกระจายไปยังพรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องการให้มีกลไกการทำงานที่เป็นทีมเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนงานต่างๆที่ค้างอยู่โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนชดเชยส่งออกที่ชะลอตัว

“สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขเร่งด่วนคือ การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะการยกระดับราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ทั้งข้าว น้ำตาล ปาล์ม ยางพารา ที่ผ่านมาราคาสินค้าเหล่านี้ตกต่ำต่อเนื่องทำให้รายได้ของเกษตรกรลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สิน สะท้อนจากล่าสุดไทยมีหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพีติดอันดับ 10 ของโลกจาก 89 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องเร่งกระจายรายได้ให้กับประชาชน”นายเกรียงไกรกล่าว

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับนโยบายค่าแรงที่หลายพรรคชูหาเสียงไว้ที่ระบุจะขึ้นค่าแรงระดับ 400 กว่าบาทขึ้นไป ส.อ.ท.มีจุดยืนว่าขึ้นได้แต่ขอให้เป็นการขึ้นตามระดับฝีมือแรงงานและไม่ใช่ขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ เพราะต้นทุนดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีลำบาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image