อาเซียนจับมือทำไกด์ไลน์เมืองวัฒนธรรม-อาหารอร่อย เหมือนมิชลินไกด์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและวัฒนธรรม เพื่อร่วมกันกำหนดและเลือกเมืองที่มีวัฒนธรรม เมืองที่มีอาหารอร่อย เพื่อนำมาจัดทำเป็นไกด์ไลน์ ในการแนะนำให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวในอาเซียนและต่างประเทศ ให้เดินทางไปเที่ยวชมและบริโภคอาหาร เหมือนกับที่มิชลินไกด์ที่แนะนำร้านอาหารของประเทศต่างๆ

เนื่องจากประเทศในอาเซียนมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่มีวัฒนธรรม มีอาหารอร่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ในไทยเอง ก็มี ทั้งในกรุงเทพฯ จังหวัดต่างๆ ซึ่งขณะนี้อาเซียนกำลังร่วมกันคัดเลือก และจะทำเป็นไกด์ไลน์ออกมา เหมือนเป็นคู่มือแนะนำให้นักท่องเที่ยว โดยอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการดึงดูดการท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจในชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนได้เป็นอย่างดี

นางอรมน กล่าวว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากโครงการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียนเป็นอย่างมาก เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก มีจุดขายด้านอาหารและแหล่งผลิตอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสตรีทฟู้ด ตามเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในกรุงเทพฯ พัทยา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น และยังมีแหล่งผลิตอาหารที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ออร์แกนิก มีส่วนผลไม้ ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ในการดึงดูดการท่องเที่ยวได้

ก่อนหน้านี้ ไทยได้เสนอเส้นทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรม “พารานากัน” จังหวัดสตูล เป็นตัวอย่างของเส้นทางที่การท่องเที่ยว ที่ไทยจะผลักดันให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมระหว่างอาเซียน และปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ กำลังดำเนินการคัดเลือกเมืองอื่นๆ เพื่อเสนอเพิ่มเติม

Advertisement

“ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน จะมีการจัดทำแพลตฟอร์มขึ้นมา และจะปักหมุดให้นักท่องเที่ยวดูได้ว่าเมื่อไปประเทศอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่ง จะมีแหล่งท่องเที่ยวอะไรบ้าง อยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้เดินทางไปท่องเที่ยวได้ถูกต้อง”

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือของอาเซียนด้านอื่นๆ ที่มีความคืบหน้า เช่น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายจิ๋ว รายกลางและเล็ก ของอาเซียน มีโอกาสในการค้าขายออนไลน์ เพื่อใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการทำการค้า , การผลักดันให้อาเซียนใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและลงทุนระหว่างกัน เพื่อลดปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน , การทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงาน และการทำประมงที่ขาดการควบคุม (IUU) โดยอาเซียนได้ร่วมมือกันในการดำเนินการ เพื่อต่อต้านการทำประมง IUU

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน ซึ่งอาเซียนได้มีการกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ และการคัดเลือกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของอาเซียนที่มีการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อเสนอแก่นักลงทุนที่สนใจให้เข้ามาลงทุนในบริษัทเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัทในอาเซียน รวมทั้งได้มีการผลักดันการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมาย 23% ในปี 2568

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image