วงเสวนาโต๊ะกลม ‘ยุติการใช้ความรุนแรง’

หมายเหตุ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนาโต๊ะกลมและแสดงความคิดเห็นในเวที “ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ” ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ขอแสดงความห่วงใย ขอให้รัฐบาลทำหน้าที่ของรัฐบาล คือการดูแลความปลอดภัยของประชาชนทุกคน อันที่จริงต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2548-2549 ที่เริ่มมีอาการและแก้ปัญหาไม่ตกมาตลอด อาการคือสร้างความเกลียดชัง แบ่งเขาแบ่งเรา ถึงขั้นหนึ่งก็มีการทำร้ายกัน ที่ชัดเจนคือปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งในการชุมนุมของ กปปส.ก็มีผู้เสียชีวิต แต่เราไม่ค่อยพูดถึง และหลายกรณียังไม่มีการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำของรัฐหรือจากเหตุจูงใจทางการเมือง ตนสันนิษฐานว่ากรณีการทำร้ายร่างกายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เหลือเพียงประเด็นเดียวคือการใช้ความรุนแรงครั้งนี้มีเหตุจูงใจทางการเมือง ดังนั้น อย่าทำตัวเป็น
ตาแป๊ะ แต่ต้องเปิดกว้าง และอย่าทำตัวเกินฐานะ คนจำนวนมากอยากจะเห็นรัฐบาลเป็นเวสสันดร แจกนู่นแจกนี่ตลอดเวลา มันก็ไปไม่ไหว เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้มีการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ขอเสนอในเชิงโครงสร้างสัก 2-3 ข้อประการแรก ต้องปลดปล่อยพลังของคนในท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ อย่าให้การตัดสินใจกระจุกตัวที่อยู่ส่วนกลาง และปรีชาญาณของคนส่วนมากจะประคับประคองเรือของทุกคนให้ไปรอด ฝ่ามรสุมต่างๆ ได้

Advertisement

ประการที่สอง ต้องลดความรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่คงมีศักยภาพดูแลได้ เพราะหลายประเทศพยายามทำเรื่องนี้อยู่ แต่ที่สำคัญ สาเหตุลึกๆ คือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังไม่ปล่อยวางและยังไม่สามารถทำตนเป็นรัฐบุรุษ ดังนั้น สมมุติว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ จะช่วยปลดหนามยอกอกของคนหลายคนซึ่งไม่ไว้ใจและสงสัยเจตนาของนายทักษิณได้ จะช่วยลดความบาดหมางลงไป ขณะเดียวกัน ท่านนายพลทั้งหลายกรุณาอย่าใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงภายในเพื่อคงอำนาจให้ข้าราชการทหารออกมาปฏิบัตินอกกรมกองได้หรือไม่ ให้เป็นเรื่องของตำรวจไป และถ้าเป็นไปได้ให้ตั้งคณะกรรมการมาศึกษาว่าจะก้าวออกไปจากความขัดแย้งอย่างไร และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอุปสรรคสำคัญใช่หรือไม่ เชิญนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาร่วมถกแถลงด้วยก็จะเป็นเรื่องดี

สำหรับกรณีจ่านิว ถ้าจับตัวคนร้ายได้จะเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม แต่ถ้าจับใครไม่ได้เลยจะน่าเสียดายมาก อย่างไรก็ตาม เวลานี้ถ้าเร่งรัดเกินไปก็ไม่อยากให้มีการจับแพะหรือทำสำนวนอ่อน ดังนั้น ต้องให้ความไว้วางใจตำรวจ และเราต้องจับตามอง ไม่ลืมไปง่ายๆ ซึ่งต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจต่อคดีนี้เป็นอย่างยิ่ง และคงสนใจต่อไปจนกว่าคดีจะคลี่คลาย

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
คณบดีคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

Advertisement

สังคมไทยในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งความรุนแรงทางการเมืองและความรุนแรงด้านอื่นๆ และสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงเหล่านี้ดำรงอยู่คือการมีวัฒนธรรมที่ยอมรับความรุนแรง โดยตัวบ่งชี้หนึ่งที่สะท้อนว่าสังคมไทยชื่นชอบความรุนแรง คือการสนับสนุนให้ออกกฎหมายที่เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดให้มากขึ้น เช่น การคุมขังหรือประหารชีวิต นี่เป็นรากเหง้าที่แท้จริงอย่างหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งหากวัฒนธรรมอันนี้ไม่ถูกปรับเปลี่ยน ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และจะยิ่งแสดงออกมาทั้งทางกายและวาจา โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มีสิ่งเร้าคอยกระตุ้นให้สิ่งที่อยู่ภายใต้ความเชื่อหรือวัฒนธรรมออกมาเป็นการกระทำมากขึ้น

ทั้งนี้ ความรุนแรงส่วนมากเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐ จะด้วยเจตนาหรือความไม่ตั้งใจก็ตาม พวกเราสัมผัสกับความรุนแรงทุกวัน ทั้งดินและอาหารที่เป็นพิษ นโยบายที่ทำให้อากาศเป็นพิษ นี่เป็นความรุนแรงที่กระทำต่อทรัพยากรและคืบคลานมาอย่างเงียบๆ และในทางการเมืองก็เช่นเดียวกัน นโยบายหรือกฎหมายจำนวนมาก อาทิ พ.ร.บ.ไซเบอร์ พ.ร.บ.ชุมนุม ล้วนแล้วแต่เพิ่มความรุนแรงในการกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง นำไปสู่การปลูกฝังความเชื่อต่อข้าราชการที่ชื่นชอบการใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติและการตัดสินใจ เพราะเห็นว่าง่าย ดูคล้ายทำให้ปัญหาเหมือนหมดไป

การเมืองไทยและการเมืองโลกในปัจจุบันวนเวียนอยู่ใน 3 ภพ ได้แก่ ภพของสภา ซึ่งมีความรุนแรงอยู่ชุดหนึ่ง เช่น การใช้คำหยาบคาย รวมถึงทัศนคติที่นำไปสู่การออกนโยบายที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรง ต่อมา คือการเมืองในภพออนไลน์ ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรงไปยังประชาชน ด้วยการใช้วาจาดูถูกเหยียดหยามต่อคนที่ไม่เห็นด้วย มีการใช้ข้อมูลหลอกลวง เมื่อบวกกับอัลกอริทึมที่ป้อนข้อมูลที่เราชอบมาให้ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำความรุนแรง ทำให้แทนที่คนจะเข้าหาซึ่งกันและกัน กลับกลายเป็นเหินห่างและมองกันเป็นปรปักษ์ และสุดท้าย การเมืองในภพของท้องถนน ทั้งแบบสันติวิธีและแบบที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งจากผู้ชุมนุมเองหรือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งหมดนี้ทำให้สังคมไทยเกิดกระแสของความรุนแรง และไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุด แต่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น เสมือนการสะสมพลังจนวันหนึ่งอาจจะระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องช่วยกันหาวิธีการหยุดยั้งความรุนแรงเหล่านี้

อังคณา นีละไพจิตร
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

การใช้ความรุนแรงในประเทศไทยวันนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนว่าสังคมไทยจะรู้สึกชาชินกับการใช้ความรุนแรงต่อคนที่เห็นต่าง หากดูตั้งแต่อดีต ประเทศไทยเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเกิดจากรัฐหรือจากอิทธิพลอย่างอื่น แต่เราพบว่าความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ ผู้กระทำผิดมักลอยนวล ที่ผ่านมา นโยบายสำคัญบางประการของรัฐทำให้เกิดความรุนแรง เช่น นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ นโยบายปราบปรามยาเสพติด หรือการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่บางคนอาจเชื่อว่าต้องใช้วิธีรุนแรงเพื่อกดดันทำให้คนบางคนรับสารภาพหรือยุติการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบตามมามากมาย คนที่ได้รับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมากมักมีปัญหาทางจิตใจ

ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เรามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกสังหาร อุ้มหายและส่วนใหญ่ยังถูกคุกคามจากกระบวนการยุติธรรม นอกจากการทำร้ายแล้วยังมีการใช้วิธีที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของนักกิจกรรม เช่น กล่าวหาว่าคนพวกนี้เป็นทนายโจร เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ถ้าเป็นผู้หญิงก็มักมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งเป็นประเทศที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม แต่จะสังเกตเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ร่วมกันโดยเคารพคนที่แตกต่างน้อยลง นำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก สร้างวาทกรรมเกลียดชังและนำมาสู่อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง คือมองคนที่เห็นต่างว่าไม่ใช่พวกเรา ซึ่งสื่อมวลชนมีส่วนไม่น้อยในการขยายความเกลียดชัง โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ ที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ไม่ต้องใช้ชื่อ-สกุลจริง คนที่โพสต์บางครั้งไม่ได้โพสต์ข้อความที่ต้องการให้เกิดความเกลียดชัง แต่คนที่มาแสดงความเห็นมักจะรุนแรงเลยเถิดไปถึงขั้นเรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรง และสำหรับผู้หญิง บางครั้งมีการเรียกร้องไปถึงความรุนแรงทางเพศซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างมาก นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบางหน่วยยังนิยมใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ ที่ทำให้เกิดการแพร่ขยายของข้อมูลซึ่งไม่เป็นความจริง

หากดูตัวอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เช่น กรณีนายเอกชัย หงส์กังวาน หรือนายสิรวิชญ์ ถ้าคนเหล่านี้พูดอะไรแตกต่างจากรัฐก็จะกลายเป็นเหยื่อมากขึ้น ความท้าทายที่ต้องถามกลับคือ ทำอย่างไรไม่ให้ความเกลียดชังมาลดทอนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะทำได้สำเร็จ ดังนั้น ต้องเริ่มที่รัฐที่ต้องมีเจตจำนงทางการเมือง โดยสิ่งสำคัญคือการเปิดเผยความจริง ตำรวจต้องเปิดเผยว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจากอะไร คนผิดต้องถูกลงโทษ และอยากให้ทุกคนเชื่อร่วมกันว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่ควรมีใครถูกไล่ออกจากประเทศเพียงเพราะมีความเห็นที่แตกต่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image