ตามทูตไทยสำรวจเส้นทาง การค้า-การลงทุน ‘เวียดนาม-จีน'(1)

“เวียดนามเป็นประเทศที่นักธุรกิจไทยมาลงทุนมากที่สุดนอกประเทศหรือราว 536 โครงการ มูลค่าการลงทุนของไทยในเวียดนามปัจจุบันอยู่ที่ราว 4,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยมาลงทุนในเวียดนามมากเป็นอันดับ 9 และน่าจะปรับขึ้นมาเป็นอันดับ 8 ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ทุนสะสมของนักลงทุนไทยในเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยยังเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในอาเซียนอีกด้วย” เพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นที่ ท่านทูตธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามเกริ่นให้ฟังก็น่าจะพอทำให้เห็นภาพว่า เวียดนามมีความสำคัญกับการค้าและการลงทุนของไทยในปัจจุบันมากเพียงใด

นับตั้งแต่ท่านทูตธานีมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามได้ 7 เดือน หนึ่งในกิจกรรมที่มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยร่วมมือกับทีมประเทศไทยในเวียดนาม คือการนำคณะลงพื้นที่เพื่อศึกษาและส่งเสริมลู่ทางทางการค้า การลงทุน สำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนามในภูมิภาคต่างๆ พร้อมกับการไปเยี่ยมชมโรงงานและการประกอบธุรกิจของคนไทยที่มีอยู่ในเวียดนาม ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม แต่การลงพื้นที่ทุกครั้งยังเปิดรับให้คณะนักธุรกิจไทยที่สนใจได้เดินทางไปด้วย เพื่อให้เห็นถึงภาพของโอกาสและการพัฒนาที่แท้จริงในเวียดนาม และยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับนักธุรกิจไทยรายอื่นๆ ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเวียดนามอีกด้วย

ไม่นานมานี้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำฮานอยได้จัดโครงการศึกษาและส่งเสริมลู่ทางการค้า การลงทุน และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในเวียดนามและจีน โดยเส้นทางในคราวนี้ไล่เรียงตั้งแต่กรุงฮานอยไปยังนครไฮฟอง กว่างนิงห์ และลางเซิน ของเวียดนาม จากนั้นได้ข้ามเข้าไปยังนครหนานหนิงในมณฑลกว่างสีของจีน ซึ่งเป็นจุดที่จีนกำหนดให้เป็นประตูเชื่อมสู่อาเซียนของจีน และยังเป็นจุดสำคัญสำหรับการส่งสินค้าจากไทยเข้ามาในจีนโดยเฉพาะผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน และมังคุด

ความสนใจในเวียดนามมีมากเพียงใดดูได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมคณะที่มากถึง 62 คน ขณะที่คณะที่เดินทางมาจากฝั่งไทยยังนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึง 2 ท่าน คือ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 3 ท่าน โดยจังหวัดที่มีคณะมาเพิ่มเติมคือนครพนม ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดก็ได้นำคณะนักธุรกิจจากหอการค้า สภาอุตสาหกรรม รวมถึงนักธุรกิจอื่นๆ ในจังหวัดของตนเดินทางมาร่วมคณะในครั้งนี้ด้วย

Advertisement

สถานทูตไทยในฮานอยร่วมกับทีมประเทศไทยจัดงานครั้งนี้ขึ้นอย่างครบวงจร เริ่มจากการจัดบรรยายสรุปเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนในเวียดนาม โดยมีทั้งผู้แทนฝ่ายเวียดนามและผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนไทยในเวียดนามมาให้ความรู้ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำธุรกิจในเวียดนามอย่างตรงไปตรงมา ตามด้วยการจับคู่และสร้างเครือข่ายธุรกิจ

น.ส.พรรณกาญจน์ เจียมสุชน อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ให้ข้อมูลว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เวียดนามปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 13.3% ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)ของเวียดนามมีมูลค่ามากกว่าไทย

การลงทุนในเวียดนามต้องดูนโยบายของรัฐบาลเวียดนามว่าเป็นไปในทิศทางไหน และต้องทราบว่ากฎหมายที่เวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ขณะที่นักลงทุนไทยต้องเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เรามีความถนัด ต้องตระหนักว่าการประกอบธุรกิจในต่างประเทศภูมิคุ้มกันจะน้อยกว่าในประเทศ ดังนั้นต้องมั่นใจในสิ่งที่เราทำ ขณะที่ทีมงานต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าคนไทยมีประสบการณ์ในการลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เราไม่ค่อยออกมานอกบ้านเพราะมีปัญหาเรื่องภาษาและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของท้องถิ่น หลายคนทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเพราะใช้ความเข้าใจจากประเทศไทยมา แต่ในความเป็นจริงการทำธุรกิจในแต่ละประเทศนั้นมีสิ่งที่แตกต่างกัน เวียดนามมีระเบียบวิธีคิดของเขาเอง เราต้องมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้

Advertisement
อรรจน์สิทธิ์ สร้อยทอง

ด้าน นายอรรจน์สิทธิ์ สร้อยทอง ผู้ช่วยทูตฝ่ายการลงทุน ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนไทย(บีโอไอ)ประจำเวียดนาม กล่าวว่า เราเห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่ควรคิดว่าเขาเป็นคู่แข่ง แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งเราก็จะมีส่วนร่วมในการได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน บริษัทขนาดใหญ่ของไทยมาลงทุนในเวียดนามอยู่แล้ว อาทิ กลุ่มอมตะ และเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ซึ่งทำธุรกิจในเวียดนามมากกว่า 25 ปี และธุรกิจก็ยังขยายตัวได้ดี

บีโอไอสนับสนุนคนไทยให้มาทำธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งนอกจากภาคการผลิตแล้ว เวียดนามยังดึงดูดการลงทุนในภาคอื่นๆ ด้วย อาทิ ภาคบริการซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงเรื่องขนส่ง โลจิสติกส์ มีการเก็บรักษาและการกระจายสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทย ขณะที่ในภาคการผลิตก็ไม่ได้ผลิตสินค้าอย่างเดียว แต่ยังมีบริบทแวดล้อม อาทิ ร้านอาหาร หรือกิจการอื่นๆ ที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีการใช้จ่าย อาทิ กลุ่มเซนทรัลที่เข้ามาทำห้างบิ๊กซีและร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเล็งเห็นถึงการเติบโต

เมื่อถามว่ามองว่าอะไรเป็นปัญหาสำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม นายอรรจน์สิทธิ์กล่าวว่า ความเข้าใจที่แตกต่างของกฎระเบียบที่มีการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน เพราะกฎหมายเวียดนามเปลี่ยนบ่อย แม้เขาบอกว่าทำไปเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่บางครั้งไม่ทันได้คำนึงถึงคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วว่าจะได้รับผลกระทบกับกฎหมายใหม่อย่างไร อาทิ การเช่าที่ดิน การปรับเปลี่ยนภาษีบุคคลธรรมดา ขณะที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเวียดนามยังไม่ดีพอ ทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคในการขนส่ง และถือเป็นการเพิ่มต้นทุน เราต้องศึกษากฏหมายแรงงานของเวียดนามให้เข้าใจ เพราะเขาเป็นประเทศสังคมนิยม นอกจากค่าแรงแล้วยังมีค่าประกันสังคม และสวัสดิการเข้าไปอีก ทำให้ต้นทุนจริงสูงกว่าตัวเลขอย่างน้อย 20-30% ถ้าเราศึกษาไม่ดีพอก็จะมีปัญหา เพราะทั้งหมดนี้ถือเป็นต้นทุนของสินค้า

กระนั้นก็ดี นายอรรจน์สิทธิ์ยืนยันว่า ในภาพรวมเวียดนามถือว่ามีศักยภาพสูงมากสำหรับนักลงทุนไทย แต่ธุรกิจที่มาลงทุนในเวียดนามต้องคิดใหญ่ เพราะตลาดเวียดนามใหญ่กว่าตลาดกัมพูชาและลาว และตลาดของเขายังมีการพัฒนาที่จะเติบโตขึ้นอีก

ศรัณยา สกลธนารักษ์

น.ส.ศรัณยา สกลธนารักษ์ ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนาม(ทีบีเอ) กล่าวว่า จุดแข็งของเวียดนามคือมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีแรงงานในวัยทำงานเยอะ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ คนเริ่มเป็นชนชั้นกลางมีรายได้ต่อหัวเกิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เทคโนโลยีที่เวียดนามถือว่าดีและมีราคาถูก แม้แต่ร้านข้างถนนก็มีไวไฟให้ใช้ แต่ข้อควรระวังคือกฎหมายเปลี่ยนเร็วมาก ผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามจึงต้องดูสิ่งเหล่านี้ให้ดี ขณะที่บางธุรกิจที่เข้าไปทำต้องถือหุ้นร่วมกับชาวเวียดนาม บางธุรกิจแม้จะบอกว่าเปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% แต่หากไม่มีคู่ค้าท้องถิ่น บางครั้งการดำเนินการในเรื่องต่างๆ อาจล่าช้ากว่า

อย่างไรก็ดีแนวโน้มธุรกิจในเวียดนามยังคงเติบโตแบบต่อเนื่อง และเวียดนามยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ ขณะที่สินค้าของไทยถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาน่าพอใจ คนเวียดนามยังไว้วางใจกับสินค้าแบรนด์ไทยสูง สำหรับคนที่สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม ถ้าเป็นผู้ค้าที่ไม่ใช่รายใหญ่ อยากให้มาติดต่อกับสำนักงานพาณิชย์หรือบีโอไอในเวียดนามที่จะสามารถให้ข้อแนะนำได้ หรือมาที่สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ ทีบีเอ หรือที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถช่วยตรวจสอบและให้คำแนะนำให้ได้ว่าควรจะมาพบใคร และขอให้เข้ามาตามช่องทางปกติ เพราะไม่อยากให้โดนหลอก ส่วนเรื่องการนำเงินเข้ามาในเวียดนามนั้นไม่ต้องกังวล เพราะหากมีการเปิดบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องก็สามารถนำเงินเข้า-ออกได้อย่างแน่นอน

สัปดาห์หน้าจะพาไปดูศักยภาพตามเส้นทางในพื้นที่ตอนเหนือของเวียดนาม และไปหาคำตอบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ปีนี้ผลไม้ไทยจึงมีปัญหาในการผ่านด่านที่เป็นประตูในการขนส่งผลไม้จากไทยไปยังจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image