หนักข้อขึ้นทุกวัน!!ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ รัฐ-เอกชนระดมสมองสกัด19 กค.นี้

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 19 ก.ค.2562 กรมฯจะจัดสัมมนาเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือกันในประเด็นความร่วมมือด้านการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าบนอินเทอร์เน็ตเพื่อให้แนวทางการแก้ไขปัญหารวดเร็วและมีประสิทธิภาพกับตัวแทนแพลตฟอร์มชั้นนำ ที่เป็นมาร์เกตเพลสในการให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายสินค้า เช่น ลาซาด้า, ช้อปปี้ ,เฟซบุ๊ก,และกูเกิล รวมทั้ง ตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ( ดีเอสไอ ), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้รวดเร็วขึ้น โดยจัดที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี

นายทศพล  กล่าวว่า การจัดสัมมนา ต่อเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าและ ลิขสิทธิ์ว่า มีการใช้แพลทฟอร์ม เหล่านี้ในการขายสินค้าละเมิด และเจ้าของสิทธิ์ต้องการให้ เจ้าของเวปไซต์เหล่านี้ ทำการบล็อก(ถอดผู้ค้าที่ใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก ไลฟ์สด ขายสินค้าละเมิดออกจากแพลตฟอร์มดังกล่าวข้างต้น แต่กระบวนการการบล็อกหรือถอดออกยังล่าช้า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสิทธิ์ กับ เจ้าของเว็บไซต์เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบและ ช่องทางการระงับการขายสินค้าละเมิดทำได้เร็วขึ้น หากรับแจ้งว่ามีการนำของละเมิดมาขายบนเว็บไซต์ จะใช้มาตรการต่างๆ เช่น การระงับการขาย และการตัดสิทธิผู้ขายไม่ให้นำของมาขายอีก

“ ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของสิทธิ์ว่า การระงับ URL หรือไม่ให้ผู้ค้าของละเมิดกลับมาค้าขายบนเว็บไซต์อีกทำได้ช้าเนื่องจากทางเจ้าของเว็บไซต์ ไม่แน่ใจว่าทางตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ในไทยที่ร้องมาจริงหรือไม่จึงต้องมีการตรวจสอบก่อนทำให้ใช้เวลาตรวจสอบหลายวันเพราะไม่ได้รู้จักกันโดยตรง “

นายทศพล  กล่าวว่า สำหรับการดูแลการละเมิดบนออนไลน์ สามารถดำเนินการได้ภายใต้อำนาจของมาตรา 20 ของพรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่กระทรวงดีอีดูแล เมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญารับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว สามารถส่งเรื่องให้กระทรวงดีอีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีอนุมัติเพื่อส่งเรื่องให้ศาลและศาลสั่งให้สามารถ block web หรือ URL ที่ละเมิดได้

Advertisement

 นายทศพล  กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขกม.  เรื่องให้ notice and tack down (ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา) โดยร่างกม.ที่ขอแก้ไข ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยการแก้ไขจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับกติกาสากล ซึ่งการละเมิดงานลิขสิทธิ์ที่มีปัญหามากขณะนี้ คือ การละเมิดของภาพยนต์บนอินเทอร์เน็ต พบว่ามีเว็บไซต์จำนวนหนึ่งเปิดให้ชาวเน็ตเข้าไปชมภาพยนตร์ มีทั้งแบบที่ให้เข้าชมฟรีและแบบที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

“ กรมฯได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโดยใช้การร้องขอต่อศาลเพื่อปิดกั้น (block) เว็บไซต์ละเมิดภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการบูรณาการในการจับกุมปรามปรามผู้กระทำความผิด กรมเดินหน้าแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์จับมือ เว็บไซต์ชั้นนำ ลาซาด้า, ช้อปปี้ เฟซบุ๊ก,กูเกิล  พร้อมเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า หารือ 19 กรกฎาคมนี้  “ นายทศพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image