ทางออกของ “เฟซบุ๊ก” เมื่อ “ลิบรา” ถูกต้านหนัก

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเป็นต้นมา “ลิบรา” เงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหนาสาหัสมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดา ผู้ทำหน้าที่กำหนดและกำกับดูแลนโยบายทางการเงินของหลายๆ ประเทศ

สาเหตุหลักเป็นเพราะลิบรา เป็นเงินดิจิทัล ที่สามารถ “เปลี่ยนมือ” ซื้อขาย ถ่ายโอนกันได้ แบบ “เป็นความลับ” เหมือนกับเงินดิจิทัลทั่วไปโดยใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” เช่นเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกัน จะมีมูลค่าที่มี “เสถียรภาพ” มากกว่า เพราะผูกติดอยู่กับ “ทุนสำรอง” ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นรองรับเงินสกุลนี้

ทำให้ลิบรา มีสถานะแบบเดียวกันกับเงินสกุลต่างๆ ของประเทศทั้งหลายในโลกนี้ เพียงแต่อยู่ในรูปของเงินดิจิทัลเท่านั้น

และทำให้ลิบราส่งผลสะเทือน สร้างข้อกังขา วิตกกังวลกันไปในหลายๆ แง่มุมเลยทีเดียว

Advertisement

หลังสุด แม้แต่ สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา กับ เจอโรม เพาเวลล์ ประธานกองทุนสำรองแห่งสหรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาแสดงความคิดเห็น “ทางลบ” ต่อ เงินสกุลดิจิทัลของเฟซบุ๊กด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ ก็ดำเนินกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง และเชิญ เดวิด มาร์คัส ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการลิบราของเฟซบุ๊กเข้าให้ปากคำเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับที่ คณะกรรมาธิการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มแจกจ่ายร่างกฎหมายใหม่ให้พิจารณากัน เป็นการซาวเสียงเบื้องต้นก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งฟังแค่ชื่อกฎหมายก็รู้วัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดีว่า ร่างดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากกรณี “ลิบรา” ของเฟซบุ๊กชัดเจน

ชื่อร่างกฎหมายที่ว่านี้หากถ่ายทอดเป็นไทยก็คงประมาณว่า “ร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยการห้ามบริษัทขนาดใหญ่ทางเทคโนโลยีเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเงิน” (“Keep Big Tech Out Of Finance Act”) บริษัทไหนให้บริการผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ และมีรายได้เกินกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ถือว่าเข้าข่ายต้องห้ามนี้ทั้งหมด

Advertisement

ที่น่าสนใจก็คือ ยังไม่มีกิจการธุรกิจขนาดใหญ่รายไหนออกมาแสดงความสนับสนุนหรือแสดงความต้องการที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “โปรเจกต์ ลิบรา” แบบเปิดหน้าเปิดตา เปิดเผยให้เห็นตัวตนกันกระจะๆ เลยแม้แต่รายเดียว

ไม่ว่าใครเจอไม้นี้เข้าก็คงต้องชะงัก ชะลอดูท่าที และ “เล่น” ไปตามความต้องการของทางการ ไม่เช่นนั้นโครงการมูลค่ามหาศาลที่เป็นอีกฝันหนึ่งของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็มีสิทธิ์แท้ง กลายเป็นฝันค้างเอาได้ง่ายๆ

มาร์คัส เองยืนยันว่า จะไม่มีการดึงดันนำเสนอเงินดิจิทัลใหม่ออกมาใช้ตราบใดที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางการสหรัฐอเมริกา หรือยังไม่สามารถแก้ไข “ข้อกังวล” ของผู้กำกับดูแลกฏระเบียบทั้งหลายจนหมดสิ้นได้ และจะไม่ดำเนินการใดๆที่จะเป็นการแทรกแซง “นโยบายทางการเงิน” ใดๆของรัฐ

“ลิบรา แอสโซซิเอชัน” ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการทุนสำรองของลิบรา “ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะ “แข่งขัน” กับเงินสกุลหนึ่งสกุลใด หรือ เข้าไปยุ่งเกี่ยวในทางหนึ่งทางใดกับนโยบายทางการเงินแต่อย่างใดทั้งสิ้น มาร์คัส แจกแจงเอาไว้อย่างนั้น เพราะถือว่านโยบายทางการเงิน เป็นปริมณฑลจำเพาะของ “ธนาคารกลาง” หรือแบงก์ชาติของแต่ละประเทศเท่านั้น

สำหรับทางออกเพื่อแก้ปัญหากรณีหลายฝ่ายรวมทั้งนาย มนูชิน เองแสดงความกังวลออกมาว่า ลิบรา จะกลายเป็นเครื่องมือของการฟอกเงินหรือการดำเนินการผิดกฎหมายอื่นใด มาร์คัส บอกว่า “ลิบรา แอสโซซิเอชัน” บรรษัทที่เฟซบุ๊กจัดตั้งขึ้นร่วมกับอีกหลายบริษัท มีแผนจะจดทะเบียนในฐานะ “ผู้ให้บริการทางการเงิน” ต่อ เครือข่ายว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายต่ออาชญากรรมทางการเงิน (ฟินเซน) ของกระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา และ คาดว่าจะ ปฏิบัติการทุกอย่างตามกฏเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นภายใต้ “รัฐบัญญัติว่าด้วยความลับของธนาคารและการต่อต้านการฟอกเงิน” (Anti-money laundering and Bank Secrecy Act) ของสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่อีกด้วย

และเพื่อคลายข้อครหาว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล มาร์คัส ชี้ว่า “ลิบรา แอสโซซิเอชัน” จะไม่เรียกร้องเอาข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ นอกเหนือจากข้อมูล “พื้นฐาน” ที่จำเป็นในการถ่ายโอนเงิน กับ ข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ใช้แต่ละรายจำเป็นต้องให้กับ “คาลิบรา” แอพพลิเคชันที่เปรียบเสมือน “กระเป๋าเงิน” ของเฟซบุ๊กที่จะทำหน้าที่เก็บรักษาเงินลิบราเท่านั้น

โดยจะไม่มีการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวกับเฟซบุ๊ก และจะไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อการโฆษณาใดๆ

นี่เป็นทางออกทางเดียว ที่เฟซบุ๊กทำได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมอย่างที่เป็นอยู่และการที่เฟซบุ๊กเพิ่งถูกปรับเป็นเงินมากเป็นประวัติการณ์ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล

แต่ข้อเคลือบแคลงที่ว่า ในอนาคตหลังจากที่ “ลิบรา” จุติแล้วจะเป็นไปตามคำสัญญาเหล่านี้หรือไม่ คงทำให้ผู้ที่กำลังตรวจสอบกรณีนี้ไม่น่าจะพอใจเพียงแค่คำสัญญาเหล่านี้แน่นอน จำเป็นต้องมีกฏเกณฑ์หรือระเบียบอื่นใดอยู่ในมือที่ทำให้แน่ใจได้ว่า ลิบรา กับ เฟซบุ๊ก จะถูก “ควบคุม” ให้อยู่ในกรอบได้แน่นอนในอนาคตอยู่ด้วย

สิ่งที่คนที่ถือเงินเสมือนจริงหรือ คริปโตเคอเรนซีทั้งหลายอยู่ในเวลานี้เป็นกังวลเอามากๆ ก็คือ เผลอๆ กฏหมายและระเบียบข้อบังคับใหม่เหล่านั้นจะไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะลิบรา

หากแต่จะเป็นการครอบจักรวาลเอาเงินดิจิทัลทั้งหมดเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยอีกต่างหากนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image