สุวรรณภูมิในอาเซียน : เหล็กสร้างรัฐ บนเส้นทางการค้าและสงคราม เตาถลุงเหล็ก 2,000 ปี บ้านแม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน

ที่ราบในหุบเขา แหล่งเตาถลุงเหล็ก 2,000 ปีมาแล้ว กระจายตัวอยู่ทั่วไป ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน

“เมืองลี้ มีเหล็ก” (อ.ลี้ จ.ลำพูน) แหล่งทรัพยากรสำคัญมากและหลากหลายแห่งหนึ่ง ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดรัฐหริภุญชัย ตามรายงานการสำรวจและขุดพบแหล่งเหล็กกับเตาถลุงเหล็ก ที่บ้านแม่ลาน ของกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

เทคโนโลยีขั้นสูง

การถลุงเหล็กเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง จึงไม่เป็นสมบัติของชาวบ้านสามัญชนคนทั่วไปสมัยนั้น

แต่เทคโนโลยีถลุงเหล็กเป็นความรู้ของคนชั้นนำผู้มีอำนาจระดับเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่ ที่มีข้าทาสบริวารจำนวนมากเป็นแรงงานถลุงและหลอม

Advertisement

อ.ลี้ (ลำพูน) มีคนตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนถลุงเหล็กตั้งแต่เรือน พ.ศ. 500 มากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หลักฐานสำคัญมาก ได้แก่ เตาถลุงเหล็ก พบที่บ้านแม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน

ขณะนั้นมีชุมชนระดับเมืองอยู่บ้านวังไฮ อ.เมืองฯ จ.ลำพูน ที่จะเติบโตต่อไปเป็นรัฐหริภุญชัย โดยมีแหล่งทรัพยากรสำคัญแห่งหนึ่งอยู่บ้านแม่ลาน

คนในชุมชนเหล่านี้เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ล้วนเป็นบรรพชนทางวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่งของคนไทยและคน อ.ลี้ (ลำพูน) ทุกวันนี้

Advertisement

สมัยแรกคนกลุ่มนี้อาจพูดตระกูลภาษาต่างๆ เช่น มอญ-เขมร, พม่า-ทิเบต, ม้ง-เมี่ยน ครั้นราวหลัง พ.ศ. 1800 ทยอยเปลี่ยนไปพูดตระกูลภาษาไต-ไท แล้วกลายตนเป็นลาว และท้ายสุดเป็นไทย

เรียนรู้เทคโนโลยีถลุงเหล็กโบราณของนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน

เหล็กสร้างรัฐ

เหล็กน่าจะเป็นทรัพยากรสำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่กระตุ้นให้เกิดรัฐและเส้นทางการค้าทางไกลระหว่างรัฐรอบอ่าวไทย กับชุมชนบ้านเมืองดินแดนภายในภาคพื้นทวีป ได้แก่ ปิง, วัง, ยม, น่าน และแม่น้ำโขง

ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้า (บนเส้นทางการค้าทางไกล) ของดินแดนภายในตั้งแต่สมัยแรกๆ กระทั่งมีอำนาจในสมัยหลังๆ

คนพื้นเมืองดั้งเดิมของดินแดนโยนก-ล้านนา (พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร และอื่นๆ) ชำนาญถลุงโลหะ โดยเฉพาะเหล็ก แล้วมีการค้าเหล็กกับชุมชนห่างไกลไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 500 มีบุคคลสำคัญในตำนาน ได้แก่ ปู่เจ้าลาวจก เป็นใหญ่อยู่ดอยตุง ทิวเขาขุนน้ำนางนอน (จ.เชียงราย) ลุ่มน้ำกก-แม่สาย-โขง ขุนวิลังคะ เป็นใหญ่อยู่ดอยสุเทพ (จ.เชียงใหม่) ลุ่มน้ำปิง-วัง

รัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการค้าขึ้นไปทางเหนือ พบชุมชนกระจายบนเส้นทางการค้าเป็นระยะๆ ตามสองฝั่งแม่น้ำปิง, วัง, ยม, น่าน ตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000

รัฐละโว้ (คนชั้นนำพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร) ขยายอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าขึ้นไปถึงลุ่มน้ำปิง-วัง ดินแดนเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ดูจากตำนานเรื่องจามเทวี และซากศิลปกรรม เช่น พระพุทธรูป, สถูปเจดีย์ ฯลฯ ราวเรือน พ.ศ.1700 (หลังจากนั้นขยายเส้นทางการค้าขึ้นไปถึงลุ่มน้ำสาละวิน พบร่องรอยอยู่ในพงศาวดารโยนก)

รัฐโยนก (คนชั้นนำพูดตระกูลภาษาไต-ไท) แผ่อำนาจควบคุมเส้นทางการค้าตามลำน้ำปิง, วัง, ยม, น่าน ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจมากขึ้นทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมือง ดูจากตำนานเรื่องสิงหนวัติ, เรื่องขุนบรม, เรื่องท้าวอู่ทอง รวมทั้งความเคลื่อนไหวของพญามังราย, พญางำเมือง, พญาร่วง (จากพงศาวดารโยนก) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ราวเรือน พ.ศ.1800

พระครูอินทวุฒิคุณ เจ้าคณะอำเภอลี้ ร่วมกิจกรรมจำลองเทคโนโลยีถลุงเหล็กแบบโบราณ

[สงครามแย่งกันควบคุมเส้นทางการค้าเหล็กและทรัพยากรอื่นๆ (เรียกศึกสามพระนคร) ระหว่างรัฐหริภุญชัย (ลำพูน), รัฐละโว้ (ลพบุรี), รัฐศิริธรรมนคร (สะเทิม) พบในพงศาวดารโยนก]

เมืองลี้ เมืองเถิน เส้นทางการค้าและสงคราม

เมืองลี้ น่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรเหล็กสืบเนื่องจนถึงเรือน พ.ศ. 2000 เพราะมีศึกระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ ชิงเส้นทางคมนาคมจากเมืองเถินไปเมืองลี้

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. 1999 “แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทิน” (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) “ลิสบทิน” บางแห่งว่า “ลี้สบเถิน” หมายถึงเมืองลี้ต่อเนื่องเมืองเถิน

เมืองลี้ คือ อ.ลี้ จ.ลำพูน, เมืองเถิน คือ อ.เถิน จ.ลำปาง

ตลาดปัจจุบันในตัวอำเภอ แต่ไกลออกไปในหุบเขาพบเตาถลุงเหล็ก 2,000 ปีมาแล้ว อ. ลี้ จ. ลำพูน

เส้นทางเดินทัพ (ทับซ้อนเส้นทางการค้า) จากอยุธยาขึ้นไปทางเมืองตาก เข้าถึงเมืองเถิน มีช่องเขาไปเมืองลี้ ไปตีเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ได้สะดวก

ขุนช้างขุนแผน

ไต-ไท ขยายอำนาจตามเส้นทางการค้า ลงไปทางฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) และเพชรบุรี แล้วมีการค้าไปมาหากันไม่ขาดสาย พบคำบอกเล่าอยู่ในพงศาวดารเหนือเรื่องพระยาพานยกขึ้นไป “เมืองลำพูน”

ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นต้นตอให้เสภาขุนช้างขุนแผนมีโครงเรื่องหลักอยู่ที่ยกทัพตีเมืองเชียงใหม่ แล้วได้เมียเป็นลาว ได้แก่ พลายแก้วได้นางลาวทอง

[ขับเสภา มีต้นตอจากประเพณีขับซอของลุ่มน้ำโขงตอนบน แถบล้านนา, ล้านช้าง]

พลายแก้ว (ขุนแผน พ่อของพลายงาม) ตีเชียงใหม่ ยกทัพจากอยุธยาไปเมืองเชียงทอง ขึ้นไปรวมพลเมืองกำแพงเพชร แล้วผ่านเมืองตาก (ระแหง) เข้าเมืองเถิน (จ.ลำปาง) มีกลอนเสภาว่า “ตัดทางถึงกำแพงระแหงเถิน” ลัดช่องเขาผ่านเมืองลี้ (จ.ลำพูน) ถึงเมืองเชียงทอง (อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่) ริมแม่น้ำปิง เตรียมตีเชียงใหม่

เหล็กสร้างรัฐ เมืองหริภุญชัยเติบโตด้วยทรัพยากรเหล็กจากแหล่งต่างๆ เช่น อ.ลี้ จ.ลำพูน (ในภาพ) กำแพงเมืองลำพูน ด้านประตูท่าสิงห์ (ภาพเก่าจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พลายงาม (ลูกของขุนแผน) ตีเชียงใหม่ ยกทัพจากอยุธยาไปตีเมืองเชียงใหม่ ขึ้นไปรวมพลเมืองพิจิตร, เมืองพิษณุโลก, เมืองสวรรคโลก (สุโขทัย) ตัดข้ามดงป่าผ่านเขตระแหง (จ.ตาก) แล้วถึงเมืองเถิน (จ.ลำปาง) มีกลอนเสภาว่า “ตัดข้ามเขตระแหงมาแขวงเถิน” ลงเมืองลี้ (จ.ลำพูน) เหมือนคราวพลายแก้ว (ขุนแผน) ผู้พ่อ

คุณค่าและมูลค่า

ความสัมพันธ์ของบ้านเมืองและรัฐบริเวณลุ่มน้ำปิงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องตั้งแต่ 2,000 ปีมาแล้ว จนถึงหลัง พ.ศ.2000 (ความขัดแย้งระหว่างเชียงใหม่กับอยุธยา) พบหลักฐานและร่องรอยในพงศาวดาร, ตำนาน, วรรณกรรม, ศิลปกรรม

ที่ได้อธิบายกว้างขวางออกไปถึงเศรษฐกิจ-การเมือง เรื่องการค้าเหล็ก ก็ด้วยผลงานสำรวจและขุดค้นอย่างภาคภูมิยิ่งของกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับชาวบ้าน และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน

นับเป็นคุณูปการล้ำค่ามหาศาลต่อความก้าวหน้าทางวิชาความรู้ทางประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองสมัยแรกๆ ที่มีส่วนสำคัญกระตุ้นให้เกิดรัฐหริภุญชัยตลอดจนรัฐล้านนา

มีทั้งคุณค่าทางวิชาการ และต่อไปจะส่งผลให้เกิดมูลค่าทางรายได้ของชุมชนมิรู้สิ้น

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับทีมงานกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้ดำเนินการศึกษาขุดค้นทางโบราคดีแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน ระหว่างช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมานั้น

เตาถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลาน สภาพสมบูรณ์ พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

การขุดค้นศึกษาครั้งนี้ได้พบหลักฐานที่สำคัญ คือส่วนฐานของเตาถลุงเหล็กโบราณที่ยังอยู่ในบริบทดั้งเดิม (in situ) ปรากฏลักษณะเป็นผนังเตาถลุงทำด้วยดินเหนียวปั้นเผาไฟ ตั้งแต่ส่วนฐานที่มีช่องระบายตะกรัน สูงจนถึงส่วนห้องไฟที่มีช่องเติมอากาศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเตา 90 เซนติเมตร

เพื่อไขปริศนาประเด็นแรกเกี่ยวกับอายุสมัยของเตาถลุงเหล็ก ทีมงานผู้ศึกษาจึงได้สกัดตัวอย่างถ่านที่ตกค้างอยู่ภายในก้อนตะกรัน (Slag) ก้นเตา ส่งไปศึกษาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี Accelerator mass spectrometry (AMS) dating

นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ และนายประพจน์ เรืองรัมย์ ปราญช์ภูมิปัญญาด้านการถลุงเหล็ก ร่วมวิเคราะห์รูปแบบสันนิษฐานของเตาถลุงเหล็กโบราณ

ผลจากการศึกษาค่าอายุด้วยวิธีการดังกล่าว พบว่าเตาถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่บ้านแม่ลาน อ.ลี้ มีอายุสมัยกิจกรรมการถลุงเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.327-361 หรือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 (ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐหริภุญชัย ระยะเวลาร่วมกว่า 1,000 ปี)

ทีมนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ฝ่ายปกครอง อ.ลี้ และทีมงานกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.แม่ลาน ร่วมกันเคลื่อนย้ายเตาถลุงเหล็กโบราณมาศึกษาและจัดแสดงศูนย์เรียนรู้ชุมชน ต.แม่ลาน
ถลุงเหล็กโบราณ (จำลอง) กิจกรรมแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะ จัดโดยฝ่ายปกครอง อ.ลี้ จ.ลำพูน ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนที่กลุ่มคนในวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางจะเคลื่อนตัวขึ้นมามีบทบาท และเป็นพื้นฐานให้เกิดเป็นรัฐขนาดใหญ่ในช่วงเวลาต่อมา

ในขั้นตอนต่อไปทางทีมงานกลุ่มโบราณคดีจะทำการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีเพื่อตอบคำถามในเชิงลึก เช่น รูปทรงสันนิษฐานของเตาถลุงเหล็ก, เทคนิคที่ใช้ในการถลุง, ระดับของการผลิต รวมถึงตีความเชื่อมโยงกับหลักฐานจากแหล่งอื่นๆ เพื่ออธิบายพัฒนาการทางสังคมให้มีความชัดเจนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image