อจ.ม.อุบลฯ แนะ ‘บิ๊กตู่’ อย่าคิดเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ชี้ นายกฯไม่ได้คุมทุกอย่างเหมือนหน.คสช.

คณบดีรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ แนะ บิ๊กตู่ อย่าคิดเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ชี้นายกไม่ได้มีหน้าทึ่ควบคุมทุกอย่าง

วันนี้ (2 ส.ค.) นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ ดีเอสไอ รวมถึง ครม.เศรษฐกิจ ว่า สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะคุมอำนาจเหมือนตอนที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะตามหลักแล้วนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมทุกอย่าง แต่ต้องบริหารประเทศในภาพรวมจึงควรมีการกระจายงาน ไม่ควรจะคิดว่าเป็นซุปเปอร์ฮีโร่

“ส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะต้องการคุมเพียงเท่านี้ แต่ต้องการชินกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จและยังเชื่อว่าทำเองได้ทุกอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เชื่อว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จคือวิธีที่จะสามารถปกครองประเทศได้ และประชาธิปไตยในความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์คือเสถียรภาพและความมั่นคง เพราะชินกับภาพความสงบที่มองเห็นในอดีตโดยเฉพาะช่วง คสช.ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารใช้อำนาจกดดันประชาชน ดังนั้น จึงเชื่อว่าเหตุผลส่วนหนึ่ง คือการต้องการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมและสั่งการทุกอย่างเองทั้งหมดในทุกหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่สามารถใช้เป็นกลไกควบคุมประชาชนหรือฝ่ายตรงข้ามได้ เป็นกลไกที่จะช่วยในการสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลในช่วงหลังเลือกตั้งที่กลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้ไม่มี คสช. แต่ก็เป็นกลไกที่ยังสามารถเพิ่มอำนาจให้กับตัวนายกรัฐมนตรีเอง จึงไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยในอนาคต แต่จะเป็นผลเสียต่อการปฏิรูปตำรวจด้วยซ้ำ เพราะผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอาชีพก็น่าจะเป็นตำรวจมากกว่าทหาร อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายว่าความว่าต้องเป็นตำรวจเท่านั้นที่จะมาปฏิรูปตำรวจ ความเห็นของบุคคลภายนอกก็มีความสำคัญเช่นกัน พล.อ.ประยุทธ์สามารถที่จะให้ความเห็นได้ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ไม่จำเป็นต้องมาเป็นผู้ควบคุมเอง ดังนั้น เมื่อพูดถึงการปฏิรูปจึงมองว่าไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง

ในส่วนของกองทัพเอง วันนี้เราควรจะพูดถึงการลดงบประมาณกองทัพมากกว่าที่จะเพิ่มงบฯ เพราะอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะไม่มีกองทัพ แต่ประเทศก็มีการพัฒนาอย่างมากในด้านต่างๆ บางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้กองทัพ เช่น การแก้ปัญหาภัยพิบัติ ที่บอกว่าจำเป็นต้องมีทหารในช่วงภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ แต่ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพและยังเป็นประเทศอันดับต้นๆที่มีภัยพิบัติ สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการโครงสร้างของรัฐว่าควรจะเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องพึ่งกองทัพเสมอไป แต่ด้วยความที่เรามีนายกฯเป็นทหาร จึงพยายามสร้างบทบาทให้กับทหาร” นายฐิติพล กล่าว

Advertisement

นายฐิติพล ยังกล่าวด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ยังไม่เป็นผลดีในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะความสงบและความเรียบร้อยในมุมของนายกฯ ที่เป็นทหาร คือการใช้อำนาจที่สั่งการได้ แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการที่ไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ในขณะที่โลกกำลังพูดถึงการส่งเสริมบทบาทด้านประชาชนและประชาธิปไตย

“การเข้ามาคุมดีเอสไอก็ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม และต่อการที่รัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ ซึ่งจะยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ได้ส่งเสริมให้มีระบบการปกครองที่ตรวจสอบและถ่วงดุลได้อย่างแท้จริง

ในระดับท้องถิ่นเอง โดยวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ผ่านมา ถึงแม้จะบอกว่าท้องถิ่นไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก และอิทธิพลจากส่วนกลางก็มีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นและต่อการปกครองการเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีหลายคดีเกิดขึ้นกับนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนนี้ก็อาจจะมีผลต่อนักการเมืองท้องถิ่นในการตัดสินใจสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งจะกลับมาสู่คำถามที่ว่า นี่จะเป็นการทำให้ดีเอสไอกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเป็นกลไกตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่” นายฐิติพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image