มากกว่าฟันสวย คือสุขภาพที่แข็งแรงของสุนัข!

ทีมงานทันตกรรมทางสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีเขี้ยวงามหลายๆ โดยหนึ่งในคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกแทนสุนัขคือ canine และศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้สื่อถึงฟันเขี้ยว คือ canine teeth นั่นเอง ซึ่งสุนัขเป็นกลุ่มสัตว์ที่กินเนื้อจะมีฟันเขี้ยว ขนาดใหญ่และแข็งแรง ปัจจุบันมีการเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ร่วมกับการพัฒนาการรักษา ในวิชาชีพการสัตวแพทย์ ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยในอดีตสุนัขอาจมีอายุยืนยาวได้เพียง 8-10 ปี แต่ด้วยการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของสัตว์เลี้ยง ร่วมกับเทคโนโลยีด้านการรักษาในปัจจุบัน พบว่าสุนัขในปัจจุบันมีอายุยืนยาวขึ้นถึง 15-20 ปี

การดูแลสุขภาพฟันในสุนัขในปัจจุบันจึงมีความสำคัญมากต่อคุณภาพชีวิต เพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญในการเคี้ยวอาหาร และการกินได้ของสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในสุนัขที่เริ่มมีอายุมากขึ้น ฟันที่ขาดการดูแลจะเป็นที่สะสมของหินปูนและเชื้อแบคทีเรีย นำไปสู่ภาวะเหงือกอักเสบ และฟันถอนหลุดได้เนื่องจากมีการลุกลามของโรคในช่องปากไปมาก

การทำทันตกรรมในสุนัขมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในอดีตการรักษาสัตว์เลี้ยงมีเพียงอุปกรณ์สำหรับ การถอนฟัน และเครื่องขูดหินปูน

ปัจจุบันสัตวแพทย์ได้นำเครื่องมือเฉพาะสำหรับการถ่ายภาพรังสีฟันในซี่ต่างๆ มาใช้ในการวินิจฉัยโรคฟันในสุนัข มีการพิมพ์ฟันสุนัขเพื่อศึกษาการสบของฟันสัตว์ มีการบูรณะฟันโดยการอุดฟัน ด้วยสาร

Advertisement

คอมโพสิตซึ่งเป็นวัสดุสีเหมือนฟัน หรือ อะมัลกัม ซึ่งเป็นวัสดุสีโลหะมีความแข็งแรงพิเศษ โดยเฉพาะในกรณีที่พบฟันมีการแตกหัก หรือกรณีที่พบฟันผุไม่รุนแรง

สำหรับกรณีที่พบการติดเชื้อไปสู่รากฟันโดยทั่วไปจะทำการรักษา โดยการถอนฟัน ยกเว้นในกรณีต้องการรักษาฟันดังกล่าวไว้ การรักษารากฟันสุนัขทางสัตวแพทย์สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากการทำทันตกรรมในสุนัข สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ภายในภาวะการสลบ ความพร้อมของสัตว์ในการวางยาสลบบ่อยๆ จะเป็นข้อจำกัดในการรักษาที่มีความต่อเนื่องหลายครั้ง

ปัญหาฟันผุในสุนัขมีความแตกต่างจากในคน แม้ว่ามีการเปรียบเทียบพบว่าฟันสุนัขจะมีเคลือบฟัน (enamel) ที่บางกว่าในคน แต่สุนัขพบลักษณะฟันผุที่ส่วนเคลือบฟันน้อยกว่าในคน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจาก น้ำลายสุนัขมีค่า pH ที่สูง (เป็นด่าง) จึงป้องกันภาวะสลายของชั้นเคลือบฟัน การพัฒนาเคลือบฟันในลูกสุนัขอาจผิดปกติได้ หากมีการใช้ยาเตตราไซคลิน (tetracycline) ซึ่งทำให้เกิดสีเคลือบฟันที่ผิดปกติ หรือในกรณีลูกสัตว์ติดเชื้อไข้หัดสุนัข (canine distemper) จะพบการพัฒนาเคลือบฟันไม่สมบูรณ์

Advertisement

การศึกษาวิจัยทางคลินิกสัตว์เลี้ยงพบว่าอาหารเม็ดซึ่งเป็นอาหารที่เจ้าของสัตว์นิยมให้สุนัขกินในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การสะสมคราบหินปูน เนื่องจากอาหารเม็ดจะอ่อนนิ่มเมื่อถูกความชื้น ส่วนที่เป็นแป้งในอาหารเม็ดจึงไปเกาะตัวตามซอกฟัน โดยเฉพาะในบริเวณฟันกรามด้านในกระพุ้งแก้ม อาหารที่สะสมอยู่ส่งผลเพิ่มการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยงานวิจัยพบแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศเป็นสาเหตุ หลักที่ส่งผลให้เหงือกอักเสบรุนแรง อันนำไปสู่ภาวะเหงือกอักเสบและเหงือกร่น

อาการที่พบในสุนัขได้แก่ กลิ่นปากที่รุนแรง และอาจแสดงอาการปวดฟัน น้ำลายไหล มีเลือดออกและฟันร่วงหลุด เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพฟันสุนัข ให้ดีอยู่เสมอมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การแก้ไขปัญหาคราบหินปูนและกลิ่นปากโดยทั่วไป สัตวแพทย์ทำการรักษาโดยการขูดหินปูนและถอนฟันผุออก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่พบในหินปูนฟันสุนัขมีปริมาณมาก จึงแนะนำให้ฉีดยาปฏิชีวนะก่อนและภายหลังการขูดหินปูน เพื่อป้องกันการกระจาย

อุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดฟันโดยเฉพาะสำหรับสุนัข
สินค้าทำจากหนังสัตว์และกระดูกเพื่อให้สัตว์กินเล่นและช่วยขัดฟันในสุนัข
น้ำยาดับกลิ่นปากและลดคราบหินปูนในสุนัข

ของเชื้อแบคทีเรีย ไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายสุนัขได้ เช่น ส่งผลให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบ และกรวยไตอักเสบ เป็นต้น

การทำความสะอาดฟันในสุนัขโดยเจ้าของสัตว์สามารถทำได้หลากหลายวิธี ในอดีตเจ้าของสัตว์นิยมเลือกใช้สินค้าที่ทำจากหนังสัตว์ โดยมีลักษณะรูปร่างหลากหลาย เพื่อให้สัตว์กัดแทะเล่น อย่างไรก็ดี วิธีดังกล่าวได้ผลน้อย ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวิจัยเพื่อทำความสะอาดคราบฟัน และหินปูนในสุนัขโดยตรง โดยวิธีที่ได้ผลคือการแปรงฟันวันละ 1 ครั้ง โดยแปรงสีฟันที่ใช้ในสุนัขจะมีลักษณะยาวเรียวกว่าปกติ เพื่อเข้าไปแปรงฟันในส่วนกระพุ้งแก้ม และสุนัขขนาดเล็ก แนะนำให้ใช้แปรงชนิดปลอกสวมนิ้วมือ

สำหรับยาสีฟันที่แนะนำให้ใช้ในสุนัขควรมีสารฟลูออไรด์ที่ต่ำ ไม่ควรใช้ยาสีฟันคน เนื่องจากสุนัขจะกลืนยาสีฟันดังกล่าวและอาจเกิดพิษจากการได้รับสารฟลูออไรด์มากเกินไป ยาสีฟันที่ออกแบบสำหรับสุนัขมักมีรสชาติดีคล้ายอาหาร ทำให้สัตว์ร่วมมือในการแปรงฟันดีขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำยาดับกลิ่นปากและน้ำยาลดคราบหินปูน ออกมาเอาใจผู้รักสัตว์เลี้ยง

เจ้าของสัตว์ที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถซื้อสินค้าดังกล่าวได้ ท่านสามารถทำยาสีฟันสำหรับสุนัขโดยใช้ผงฟู (baking soda) ผสมน้ำในปริมาณเล็กน้อย และใช้เศษผ้าพันรอบปลายนิ้วในการแปรงฟันสุนัข ผงฟูจะช่วยขัดคราบหินปูนได้ดีเช่นกัน เป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอีกวิธีหนึ่ง

เจ้าของฟาร์มสุนัข หรือผู้ที่พัฒนาสายพันธุ์สุนัขเพื่อการประกวด การดูแลฟันสุนัขต้องเริ่มตั้งแต่ การพัฒนาของฟันน้ำนมในลูกสัตว์กันเลยทีเดียว หลายท่านอาจไม่ทราบว่าในสุนัขก็มีฟัน 2 ชุดเช่นเดียวกับในคน โดยฟันน้ำนมในสุนัขจะมีลักษณะ ฟันซี่เล็กมีสีขาว จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ลูกสุนัขอายุได้ 3-4 สัปดาห์แรก และเมื่อลูกสุนัขอายุครบ 2-3 เดือนจะพบฟันน้ำนมขึ้นครบ 28 ซี่

การพิมพ์ฟันในสุนัขที่เข้ารับการรักษาการสบฟันผิดปกติ
โมเดลการจัดฟันในสุนัขเพื่อแก้ไขการสบฟันผิดปกติ

สำหรับฟันแท้จะเริ่มขึ้นเมื่อลูกสุนัขอายุได้ราว 4 เดือน โดยฟันแท้จะดันให้ฟันน้ำนมหลุดไป และพบว่าฟันเขี้ยวและฟันกรามจะขึ้นครบสมบูรณ์ เมื่อลูกสุนัขอายุได้ 6-7 เดือน โดยจำนวนฟันแท้ที่สมบูรณ์ในสุนัข จะมีจำนวน 42 ซี่ การสบของฟันที่ถูกต้องในสุนัขมีผลต่อการเจริญของ โครงสร้างทางใบหน้าสุนัข สำหรับสุนัขโดยทั่วไปยกเว้นสายพันธุ์หน้าสั้น จะมีการสบของฟันตัด (ฟันหน้า) ในลักษณะการสบแบบกรรไกร (scissor bite) โดยฟันตัดของกรามบนจะสบคร่อมฟันตัดของกรามล่าง ซึ่งลักษณะฟันดังกล่าวจำเป็นสำหรับสุนัขในการกัดกินเนื้อ

ลักษณะการสบฟันที่สำคัญอีกประการคือ การสอดประสานกันระหว่างฟันเขี้ยวบนและล่าง โดยฟันเขี้ยวของกรามล่างจะวางตัวอยู่ตำแหน่งด้านหน้าฟันเขี้ยว ของกรามบนคล้ายกับการล็อกนิ้วประสานกัน ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้สุนัขสามารถ ใช้ปากในการคาบอาหารและวัตถุ หรือใช้ปากในการจับถือสิ่งของ การสอดประสานกันของฟันเขี้ยวยังมีสำคัญต่อ การเจริญเติบโตที่ปกติของ โครงสร้างใบหน้า ให้กรามบนและกรามล่างยื่นยาวออกมาอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งการตรวจฟันสุนัขเป็นมาตรฐาน สายพันธุ์ที่สำคัญ คล้ายกับการประกวดนางงามเลยทีเดียว เฉพาะคนที่ฟันสวยถึงจะได้มงกุฎมาครอง

ผู้เลี้ยงสุนัขที่เข้าประกวดสายพันธุ์ควรตรวจการสบฟันตั้งแต่ในลูกสุนัข อีกทั้งหมั่นเอาใจใส่ดูแลให้สุนัขฟันสวย เรียงเป็นระเบียบ และมีการสบฟันแบบกรรไกร หากพบว่าฟันบนและฟันล่างไม่สบก็ควรพบนายสัตวแพทย์เพื่อทำการแก้ไข

ปัญหาฟันน้ำนมตกค้างในลูกสัตว์เป็นหนึ่งในปัญหาทางคลินิกสัตวแพทย์ที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะฟันน้ำนมที่ตำแหน่งฟันเขี้ยวบน การค้างอยู่ของฟันน้ำนมดังกล่าวส่งผลเสียทำให้ฟันแท้ที่งอกขึ้นใหม่ อยู่ผิดตำแหน่ง

และเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การสบฟันที่ผิดปกติ มีผลกระทบต่อการพัฒนา โครงสร้างใบหน้าที่ถูกต้อง อีกทั้งฟันที่สบผิดปกติจะง่ายต่อการสะสมของคราบหินปูน เหงือกอักเสบ และฟันร่วงหลุดก่อนเวลาอันควร ซึ่งสัตวแพทย์สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการถอนฟันน้ำนม

สําหรับการทำการทันตกรรมจัดฟันในประเทศไทย สามารถทำได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศซึ่งได้ผลดีในสุนัขที่อายุไม่เกิน 1 ปี ส่งผลให้โครงหน้าสุนัขพัฒนาไปอย่างปกติ แต่สัตวแพทย์ใช้การจัดฟันเพื่อการรักษาเท่านั้น สุนัขสายพันธุ์หน้าสั้นจะตรวจพบฟันล่างยื่นออกมา แตกต่างจากสุนัขทั่วไป โดยการสบฟันที่ผิดปกติดังกล่าวเป็นผลจากพันธุกรรมจากการพัฒนาสายพันธุ์สุนัข มีความสวยงามตามธรรมชาติ ไม่ต้องได้รับการแก้ไข

สิ่งสำคัญในการดูแลรักษาด้านทันตกรรมในสัตว์เลี้ยง คือ เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความสุข ที่ได้เห็นสุนัขมีสุขภาพฟันที่ดี และร่างกายที่แข็งแรง เป็นเป้าหมายสำคัญมากกว่าฟันสวย หรือถ้วยรางวัล

รศ.นสพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image