‘คุณหญิงกัลยา’ จี้ สกศ.ปรับตัวรับ ‘บทบาท-โครงสร้าง’ พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายงานให้ดูแลสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น ตนหารือกับ สกศ.พร้อมให้กลับตั้งคำถาม และหาแนวทางที่จะพัฒนา สกศ.ให้เป็นขงเบ้งของ ศธ.จะเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้จัก และเห็นถึงความสำคัญของ สกศ.ที่ทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนเกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ

“นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวอีกครั้งถึงข้อกังวลต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้ โครงสร้าง และภารกิจของ สกศ.จะเปลี่ยนผ่านเป็น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ดังนั้น สกศ.ต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น” คุณหญิงกัลยา กล่าว

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า สิ่งที่คุณหญิงกัลยาอยากให้ สกศ.พัฒนา คือการพัฒนานโยบายที่นำไปใช้งานได้จริง และอยากให้เป็นผู้ชี้นำการศึกษา ซึ่ง สกศ.เตรียมปรับแผนการทำงานอยู่แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับใหม่บังคับใช้ สกศ.จะปรับบทบาทไปมาก สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างมากคือข้อมูล และการกำกับติดตาม พร้อมกับการมีอำนาจในการประเมิน และกำกับติดตามในการดำเนินงานตามนโยบาย ดังนั้น สกศ.จะเปลี่ยนเป็นผู้กำหนดโยบาย และผู้คิดแผนแม่บท เรื่องนี้ สกศ.ไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ ต้องทำงานร่วมกับ ศธ.เพียงแต่ สกศ.จะมีหน้าที่เป็นแม่งานทั้งหมดในการออกแบบ แก้ไขปัญหา ทำโรดแมป หรือแผนการปฏิบัติงานทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image