บทนำมติชน 13 สิงหาคม 2562 : 3 ปีประชามติรธน.

ก่อนจะมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. นอกจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีคำถามพ่วงว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะกำหนดว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผลการลงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ความเห็นชอบ 16,820,402 เสียง เท่ากับ 61.35% ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง หรือ 38.65% และเห็นชอบคำถามพ่วงซึ่งต่อมากำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล

การออกเสียงประชามติในครั้งนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างเสรี เพราะมีการประกาศใช้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดโทษจำคุก หากมีการแสดงความคิดเห็นก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ การเผยแพร่ข้อความในลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญา และคำสั่ง คสช.อย่างเข้มข้น ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจทำได้อย่างกว้างขวาง และต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นระหว่างการลงประชามติรัฐธรรมนูญหลายรายด้วยกัน

แม้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงได้โหวตรับรองรัฐธรรมนูญดังกล่าวในปี 2559 แต่เมื่อกระบวนการลงประชามติ ไม่ได้เป็นไปด้วยความอิสระและโปร่งใส จึงกลายเป็นปัญหาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การยกร่างก็ดำเนินการโดยบุคคลที่แต่งตั้งจากคณะทหาร มิได้ยึดโยงกับประชาชน กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อคนบางกลุ่ม สิ่งที่จะต้องดำเนินการในเวลานี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เปิดทางให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญภายในเวลาที่กำหนด แล้วจัดทำประชามติจากประชาชนในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เปิดกว้างและเป็นอิสระ ให้รัฐธรรมนูญใหม่มีที่มาอันชอบธรรม ผ่านกระบวนการอันชอบธรรม จึงจะเป็นหนทางนำไปสู่ทางออกและความปรองดองของประเทศอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image