มข.ผนึกซีพีเอฟ ผุด ‘โรงเรือนไก่ไข่อัจฉริยะ’ ต่อยอดการเรียนรู้เกษตรยุคดิจิทัล

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มข.ให้ความสำคัญกับเรื่อง smart digital transformation จึงจับมือกับซีพีเอฟ จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด โดยมีการส่งมอบระบบ IoT หรือระบบ Internet of Things เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการนำเทคโนโลยี IoT ที่มีความแม่นยำ สามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา ช่วยให้วางแผนการผลิต ลดความเสี่ยง และเพิ่มคุณภาพให้กับการผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรือนไก่ไข่ ถือเป็นการยกระดับโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่เดิม โดยได้ผสานเทคโนโลยี IoT, Big Data, Image Processing เข้ามาประยุกต์ใช้ ในด้านการเลี้ยง และด้านการบริหารจัดการโรงเรือน สามารถควบคุมการผลิตได้แบบ real time โดยไม่ใช้คน และยังแจ้งสถานะระบบสิ่งแวดล้อมของโรงเรือนได้ทั้งหมด ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม แสงสว่าง ระบบอาหาร น้ำ และไฟฟ้า แสดงต้นทุนกำไรของไข่เบื้องต้นได้ทันที

ศ.ดร.มนต์ชัยกล่าวอีกว่า สิ่งที่กำลังทำ ถือเป็นการตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 รวมทั้ง นโยบายการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังเป็นการสนองยุทธศาสตร์ของ มข.โดยการสร้างโรงเรือนไก่ไข่อัจฉริยะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอุทยานการเรียนรู้การเกษตรที่มหาวิทยาลัยได้วางไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เกษตรพึ่งพา โรงเรือนอัตโนมัติ ระบบการจัดการทางธุรกิจ ของการปลูกพืชและระบบปศุสัตว์ก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เป็นการเรียนในรายวิชาเท่านั้น โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ที่นี่ถือเป็นโรงเรือนที่ทันสมัยอันดับต้นๆ ของระดับสถาบันการศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ ต้องขอบคุณซีพีเอฟที่ช่วยสร้าง และพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดนี้ให้สมบูรณ์

“โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบนี้ ประกอบด้วย โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ 1 หลัง ความจุไก่ไข่ยืนกรง 20,016 ตัว ตู้ฟักไข่ จำนวน 3 ตู้ ความสามารถฟักไข่ 15,000 ฟอง และตู้เกิด จำนวน 1 ตู้ ความจุไข่ฟัก 5,000 ฟอง ผลิตไข่ไก่คุณภาพดีส่งออกให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และร้านค้าภายใน มข.เพื่อให้ผู้ป่วย บุคลากร และนักศึกษา มข.ได้บริโภคอาหารที่สด สะอาด และปลอดภัย นอกจากนี้ โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่หลังใหม่นี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติ และสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และบุคลากรของคณะ ทำงานร่วมกันภาครัฐ และภาคเอกชน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือทางวิชาการ นอกจากนี้ คณะเกษตรศาสตร์ยังจัดทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพ ซึ่งได้นำมูลไก่ที่เกิดขึ้นลำเลียงสู่ระบบเพื่อผลิตเป็น CBG สำหรับใช้ในการเติมพาหนะของ มข.ขณะเดียวกันกากมูลที่เหลือจากการหมักแก๊ส ยังนำมาบรรจุเป็นปุ๋ยมูลไก่ เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับโครงการ” ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว

Advertisement

นายเรวัติ หทัยสัตยพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า การสร้าง และพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดนี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตไข่ ซีพีเอฟได้ติดอาวุธให้ฟาร์มไก่ไข่ของมหาวิทยาลัยให้สู่ยุคดิจิทัลที่แท้จริง ถือเป็นโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ที่ทันสมัยอันดับต้นๆ ของระดับสถาบันการศึกษาไทย เป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้ และฝึกฝนการใช้เทคโนโลยี 4.0 ให้กับบุคลากรภายใน และภายนอกที่สนใจ โดยพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า ถือเป็นการต่อยอด

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image