ภาพเก่า…เล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน…ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (อวสาน)

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” เป็นหลักการของ “ปฏิจจสมุปบาท”

วิกฤตของชาติช่วงหนึ่งที่ใส่ใจ ระลึกถึง สำหรับ สังคมไทยที่เรียกว่า กบฏแมนฮัตตัน เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย มี “ผู้แพ้เป็นกบฏ ผู้ชนะยังคงเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง” เกิดการกำจัดคู่ต่อสู้แบบ ถอนรากถอนโคน คุกตารางแน่นขนัดไปด้วยนักโทษการเมือง

บรรดาผู้คุมกำลัง ศาสตราวุธทั้งปวง คอยจ้องว่า “ใครพวกใคร” สังคมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหอกดาบแหลนหลาว ไม่มีข้าศึกศัตรูที่ไหน จากนอกประเทศ…ข้าศึก คือ คนที่ไม่ใช่พวกกูในประเทศ

กบฏแมนฮัตตัน ตัดสินกันด้วย อำนาจ บารมี และศาสตราวุธ ไม่ว่าจะตั้งใจดีแค่ไหน เมื่อเป็นผู้แพ้ ก็ต้องผิดวันยังค่ำ กลุ่มกู้ชาติ ส่วนใหญ่เป็นนายทหารเรือ มีทหารบก ตำรวจ และพลเรือนบางส่วน เมื่อแพ้จำต้องแยกย้าย-ดาวกระจาย หลบหนีออกนอกประเทศ…

Advertisement

กลุ่มของ เรือโท วีระ โอสถานนท์ และ เรือโท ปัญญา ศิริปูชกะ ที่ร่วมกันกับนาวาตรี มนัส จี้จับตัวจอมพล ป. ต้องระหกระเหินลงภาคใต้ หนีเข้าไปในมาเลเซีย ตำรวจไทยติดต่อไปตำรวจมาเลเซีย แจ้งข้อหาว่านายทหารทั้ง 2 ขโมยเงินทางราชการไป 8 แสนบาท…ที่หนีไปไม่ใช่เรื่องการเมือง ตำรวจมาเลย์จับ 2 ลูกประดู่ขังคุกในกัวลาลัมเปอร์อยู่ราว 1 เดือนเศษ…

ตำรวจมาเลย์เซียตรวจสอบแล้ว..เฮ้ย…ไม่จริง ! จึงไม่ส่งตัวนายทหารทั้ง 2 ให้ตำรวจไทย แถมยังปล่อยตัวเป็นอิสระ.. 2 ลูกประดู่ เดินทางต่อไปสิงคโปร์ ไปประกอบอาชีพเดินเรือทะเลในสิงคโปร์ ราว 8 ปี ชีวิตดีขึ้นมาก ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500 จึงมีพี่น้องทหารเรือติดต่อพากลับไทยมามอบตัว เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

Advertisement

ตำรวจสันติบาลไปรับตัวนายทหารทั้ง 2 ที่ดอนเมือง จับไปขัง แล้วให้ประกันตัวออกไป เพื่อสู้คดีตั้งแต่ พ.ศ.2502 ถึง พ.ศ.2511 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เพราะพยานโจทก์ขาดนัด ไม่ไปให้การต่อศาล…

นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา นายทหารเรือหนุ่มที่จี้จับจอมพล ป. หนีไปใช้ชีวิตในถิ่นชาวมอญในประเทศพม่านาน 8 ปี ดำเนินชีวิตแบบกึ่งทหาร ได้ชื่อว่า “นายซันเดิง” แปลว่า “รักเมือง” เป็นที่เคารพรักของชาวมอญ ได้รับความเคารพจากชาวมอญให้เป็น ผบ.ค่ายทหารมอญ อดีตผู้บังคับการเรือหลวงศรีอยุธยา พบรักระหว่างรบกับช่างตัดเสื้อชาวมอญชื่อ “มะมิ” เข้าพิธีแต่งงาน มีภรรยาเป็นชาวมอญ ติดตาม ตรวจสอบข่าวที่รัฐบาลไทยออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อคราวกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500 ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด

นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา พร้อมภรรยา เดินทางกลับมามอบตัวเมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2503 และใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อสู้คดีจนได้รับอิสรภาพ ท่านใจเด็ด…ไม่ขอกลับเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ด้วยความรู้จากการเป็นทหารเรือ พรรคนาวิน อดีตผู้บังคับการเรือ จึงไปเป็นกัปตันเรือของบริษัทเดินเรือของเอกชน สร้างชีวิตมีฐานะที่สุขสบาย…

ชีวิตบั้นปลาย…นาวาเอก อานนท์ อาศัยอยู่ที่บ้านหลังเล็กๆ ในซอยอินทามระ 59 ต่อมาป่วย และถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อ 29 พฤษภาคม 2528 ขณะอายุ 74 ปี ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระราชทานเพลิง ณ วัดมกุฏฯ กรุงเทพฯ เมื่อ 3 มิถุนายน 2528

ก่อนเสียชีวิต…“นายทหารใจเพชร” สั่งเสียว่าให้สวด 3 คืนแล้วเผาทันที ให้นำอัฐิทั้งหมดไปลอยที่หน้าศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ในขณะที่อัฐิของทหารเรือที่เสียชีวิตจากการสู้รบในพระนคร-ธนบุรีจำนวนหนึ่งบรรจุรวมกันไว้ในสถูปวัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่

กลับมาติดตามชีวิตของฉลามหนุ่มชื่อ นาวาตรี มนัส ครับ…

หลังพ่ายแพ้…นาวาตรี มนัส จารุภา หลบหนีออกไปใช้ชีวิตในประเทศพม่าเกือบ 1 ปี ขอแยกทางกับนาวาเอก อานนท์ หลบหนีกลับเข้าประเทศไทย เพื่อพบกับครอบครัว ตำรวจอัศวินแหวนเพชร ของ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ ตะครุบตัวเอาเข้าคุก ขึ้นโรงขึ้นศาล ติดตะราง หมิ่นเหม่เฉียดตายหลายเพลาในมือตำรวจ ใช้ชีวิตพร้อมนักโทษการเมืองที่รัฐบาลทหารจอมพล ป. จับเข้าคุกมหาศาล

นาวาตรี มนัส ลูกผู้ชายตัวจริง เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ กล้าสารภาพ ยอมรับผิด ที่กระทำการล้มล้างรัฐบาลเมื่อ 29 มิถุนายน 2494 หนุ่มเลือดลูกทะเลจากโรงเรียนนายเรือ ลูกชายอดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ลงมือจี้จับจอมพล ป. เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลที่ฉาวโฉ่ คอร์รัปชั่นอื้อฉาว ต้องติดตะรางในไทยอยู่ราว 4 ปีเศษ ต่อมาได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปล่อยตัวเป็นอิสระ

นาวาตรี มนัส ไม่ขอกลับเข้ารับราชการ ออกไปเดินเรือ ทำธุรกิจส่วนตัว มีฐานะดี ไม่ข้องแวะกับ “การเมือง” อีกต่อไป แม้ในเวลานั้น การเมืองในสยามประเทศยังคงคุกรุ่น จ้องล้มล้างกันไม่เลิก กลุ่มผู้มีอำนาจในกองทัพคิดจะทำรัฐประหารกันไม่เลิกไม่ลา

ทีใคร ทีมัน…และในที่สุด เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกำลังทำรัฐประหาร โค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์… ทั้ง 2 ท่านขอลี้ภัยหนีตายไปต่างประเทศ

จอมพล ป. เดินทางหลบหนีไปพำนักในประเทศญี่ปุ่น ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เพื่อนรักจอมพล สฤษดิ์ ขอไปพำนักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

ตรงกับสุภาษิตไทยว่า…“สมบัติผลัดกันชม” …

หลังจากพ้นคดี นาวาตรี มนัส ยังมีน้ำใจเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อไปกราบคารวะ เยี่ยมเยือน กราบขอโทษต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ส่วนซากเรือหลวงศรีอยุธยาที่ท่านผู้อ่านสอบถามกันมานั้น..กองทัพเรือเคยเผยแพร่ข้อมูลว่า…กรณีกบฏแมนฮัตตัน ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 เรือหลวงกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบินจนจมลงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2494 บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ได้ถูกกู้ขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2496 กองทัพเรือได้ว่าจ้างช่างญี่ปุ่นให้กู้เรือ แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2502 ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 350/21315 ให้ปลดระวางประจำการเรือหลวง

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2503 การกู้เรือเป็นผลสำเร็จตามเอกสารจากบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เรื่อง การขอส่งมอบงานกู้เรือหลวงศรีอยุธยา ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2503..และนำเรือไปจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์…

ผู้เขียนขอนำเรื่องราวของการนิรโทษกรรมครั้งประวัติศาสตร์ ที่เป็น “ยาวิเศษ” มาบอกเล่านะครับ…

…มีความเชื่อแต่โบราณว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่แค่ 5,000 ปี แล้วจักเสื่อมสลายลง สยามประเทศที่เป็นเมืองพุทธจึงจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือพุทธชยันตี 2500 ปี เมื่อปี พ.ศ.2500 เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ยังเรียกว่า “งานฉลองกึ่งพุทธกาล”

ในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ากว่า 5 ปี นับแต่ปี พ.ศ.2495 มีการสร้าง “อนุสรณ์สถานพุทธมณฑล” และการจัดกิจกรรมทั่วประเทศตลอดปี เพื่อเฉลิมฉลองพร้อมกันกับประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล และประเทศที่มีประชากรนับถือพุทธทั่วโลก โดยในประเทศอื่นใช้คำว่า “พุทธชยันตี 2500 ปี”

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการแนะนำของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ หรือ “2500th Buddha Jayanti Celebration”

รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำโอกาสนี้จัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ.2495

รัฐบาลจัดสร้างพระเครื่องจำนวนมากที่สุด เพื่อระดมทุนในการสร้าง “พุทธมณฑล” มีการออกประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ

27 ธันวาคม 2499 สภาผู้แทนราษฎรผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ล้างมลทิน จอมพล ป. ทำบุญล้างบาป นักโทษการเมืองคดีกบฏ ตั้งแต่กบฏแมนฮัตตัน กบฏสันติภาพ คอมมิวนิสต์ และนักหนังสือพิมพ์ ถูกปล่อยกลับบ้าน แถมค่ารถให้อีกต่างหาก…

เสร็จงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ คะแนนนิยมท่านผู้นำดีขึ้นมาก ….นักโทษจากกบฏแมนฮัตตัน ทั้งปวงจึงได้รับอานิสงส์เต็มๆ

นาวาตรี มนัส ได้รับการประกันตัวออกมาสู่โลกภายนอก เมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ.2500 รวมเวลาที่ถูกคุมขัง 4 ปี 3 เดือน 18 วัน ออกจากคุก ตรงไปวัดกราบเจ้าคุณวัดราชบพิธ เพื่อประพรมน้ำมนต์ตามวิถีชาวพุทธ

คดีความยังไม่สะเด็ดน้ำ..วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2500 นาวาตรี มนัส พร้อมครอบครัว เพื่อนพ้องต้องไปศาลอีกครั้งเพื่อฟังคำพิพากษา…

บรรยากาศในศาล อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม สดใส เบิกบาน ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ ศาลอ่านคำสั่งปล่อยตัวคดี “กบฏแมนฮัตตัน” ทุกคน แล้วออกใบบริสุทธิ์ให้ตามระเบียบ…

นาวาตรี มนัส ไม่มีบ้าน เพราะขายไปหมด ระหว่างหลบหนีและติดคุก จึงต้องไปอาศัยที่บ้านพ่อตาแม่ยาย

บันทึกของนาวาตรี มนัส ที่กลายเป็นกบฏ ติดคุก ติดตะราง ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดในช่วงส่งท้ายครับ
.
..“ไม่มีบทเรียนใดๆ จะล้ำค่าเท่ากับบทเรียนด้วยชีวิตที่ข้าพเจ้าผ่านมา ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ในน้ำใจของเพื่อนฝูง ญาติมิตรในยามลำบากว่าใครเป็นเช่นใด และได้ประจักษ์ในความผิดที่ตนได้มีส่วนร่วมกระทำขึ้น ซึ่งยังผลเสียหายให้แก่ชีวิตประชาชนและทรัพย์สินของประเทศชาติอย่างร้ายแรงที่สุด ข้าพเจ้าเปรียบเหมือนคนเกิดใหม่โดยแท้ และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยปกป้องคุ้มครองนั่นเอง…”

นาวาตรี มนัส จารุภา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 16 ตุลาคม 2516 (ไม่ทราบรายละเอียด : ผู้เขียน)

กบฏแมนฮัตตัน เป็นกบฏครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เป็นหายนะของชาติ ทรัพย์สิน อาวุธ กระสุน ล้วนมาจากเงินภาษีเก็บจากราษฎร ประชาชนเสียชีวิต 118 รายบาดเจ็บ 191 ราย พิการ 9 ราย ทหารเรือเสียชีวิต 43 ราย ทหารบกเสียชีวิต 43 ราย ทหารอากาศเสียชีวิต 17 ราย และตำรวจเสียชีวิต 9 ราย

ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านศึกษาเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะเอกสารของต่างประเทศที่บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้… ความพยายามรัฐประหารครั้งนี้เป็นการพยายามก่อการที่มีความสลับซับซ้อนมากจน ถูกเรียกว่าเป็น “แผนสมคบคิดที่ลึกลับซับซ้อน”

ท่านผู้อ่านคงมีทรรศนะ ความรู้สึกหลากหลายต่อเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งเหตุบ้านการเมือง… ร้อน-หนาว ดี-เลว ที่ผ่านมาในชีวิต… ผู้เขียนเอง ไม่มีวาสนาฐานะจะไปชี้นำ ตัดสินอะไรทั้งนั้น ผมเชื่อว่า ..มาถึง พ.ศ.2562 คนไทยเรียนรู้ และคิดเป็น…

อวสานครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
—————————————————–
ข้อมูลและภาพบางส่วนจาก ทหารเรือ กบฏแมนฮัตตัน โดย นิยม สุขรองแพ่ง หนังสือ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล โดย นาวาตรี มนัส จารุภา และแปดฝนในเมืองมอญ โดย นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image