คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ยุทธศาสตร์, ยุทธวิธี และปรัชญาแห่งม็อบ

(AP Photo/Vincent Thian)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ยุทธศาสตร์, ยุทธวิธี และปรัชญาแห่งม็อบ

การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงในคราวนี้ ผิดแผกแตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ไม่เพียงต่างที่ความยืดเยื้อ ระดับความรุนแรง เท่านั้น ยังแตกต่างอย่างมากจน ทำให้เกิดภาพอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น หรือมีโอกาสได้พบเห็นในในฮ่องกง ปรากฏขึ้นมากมาย

ท่าอากาศยานนานาชาติต้องปิดทำการก็ดี การออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้ประท้วงคือการก่อการร้ายโดยทางการจีนก็ดี เรื่อยไปจนถึงการบุกอาคารที่ทำการนิติบัญญัติ สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นมากมาย และการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางห่ากระสุนยางและแก้สน้ำตา

Advertisement

ไม่เว้นแม้แต่ในย่านช็อปปิ้งที่ขึ้นชื่อลือเลื่องไปทั่วโลก

เหล่านี้ล้วนพบเห็นกันน้อยครั้งมากในบริบทการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฮ่องกง
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความแตกต่างที่สำคัญที่สุด 2 ประการก็คือ ขบวนการทางการเมืองในฮ่องกงคราวนี้กลับไม่มี “ผู้นำ” ปรากฏขึ้น แม้จะปรากฏอดีตผู้นำการชุมนุมประท้วงในอดีตบางคน อยู่ในม็อบบางครั้ง แต่เห็นได้ชัดเจนว่า คนเหล่านั้นกลับไม่สามารถกำหนดและควบคุมทิศทางของกลุ่มผู้ประท้วงได้เลย

ในบางกรณี ถึงกับมีเสียงต่อว่าต่อขาน และต่อต้านจากกลุ่มผู้ประท้วงด้วยซ้ำไป

Advertisement

ถัดมาก็คือ นี่เป็นการชุมนุมประท้วงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง ที่พุ่งเป้าโดยตรงไปที่รัฐบาลจีนบนแผ่นดินใหญ่ แสดงออกถึงการต่อต้านการครอบงำของจีนอย่างเปิดเผยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เรื่องของการต่อต้าน “หุ่นเชิด” อย่าง แคร์รี หล่ำ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิ่งนับวันยิ่งกลายเป็นเรื่องรองไปมากขึ้นทุกที

การที่กลุ่มผู้ประท้วงไม่มีแกนนำ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควานหาเป้าในการจับกุมคุมขัง โดยหวังประสิทธิผลเพื่อยับยั้งการชุมนุมเป็นไปได้ยากอย่างมาก

แต่ในเวลาเดียวกันสภาพการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ผู้ประท้วงเองบริหารจัดการขบวนการได้ยากเย็นอย่างมากตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

การยืนหยัดจัดการชุมนุมต่อเนื่องมาได้จนถึงทุกวันนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจประการหนึ่ง

น่าสนใจแบบเดียวกันกับปรัชญา ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่หนุ่มสาวชาวฮ่องกงนำมาใช้ในครั้งนี้

******

ถึงตอนนี้เสียงเรียกร้องในการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง ไม่ได้เป็นเรื่องร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เป็นชนวนเหตุอีกต่อไปแล้ว

สโลแกนของผู้ประท้วงกลายเป็น “ปลดแอกฮ่องกง” และ “ฮ่องกงนะ ไม่ใช่จีน” หรือ “ถึงเวลาของการปฏิวัติแล้ว” เป็นต้น

“อาหล่ง” (หล่ง คือ “มังกร” ในภาษากวางตุ้ง) วัย 25 ที่ในยามปกติคือเสมียนประจำบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่ง แต่พอถึงเวลาก็คว้าหน้ากากดำ หมวกกันน็อคสีดำ กับเสื้อกันกระสุนแล้วก็ออกไปลุย “แนวหน้า” ที่เป็นจุดปะทะกันบ่อยๆ ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลอาวุธครบมือบอกว่า ความฝันของตนก็คือ การฟื้นฟูฮ่องกงให้กลับไปสู่ “สภาพเดิม” อีกครั้ง ก่อนหน้าที่จะถูกส่งมอบให้กับทางการจีน

“ผมฝันจะนำการปฏิวัติมาให้ในช่วงเวลาของเรานี่แหละ ตอนนี้นี่คือความหมายในชีวิตทั้งชีวิตของผม”

ภายใต้สูตร “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จีนให้สัญญาเอาไว้ว่า ฮ่องกง จะยังคงปกครองตนเองได้ต่อไป 50 ปีหลังจากที่รับมอบคืนจากอังกฤษในปี 1997

สำหรับคนอื่นๆ ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นอาจห่างไกล ไกลจนอาจมีอะไรเกิดขึ้นมาได้อีกมากมาย แต่สำหรับ อาหล่ง และคนหนุ่มสาวของฮ่องกงในยามนี้ กำหนดครบ 50 ปีดังกล่าวจะมาถึงในครึ่งอายุคนของพวกเขาพอดิบพอดี

“ในปี 2047 หากกลับไปตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน คนฮ่องกงที่แท้จริงจะผละหนีจากไป กลายเป็นผู้อพยพอยู่ในประเทศอื่นๆ” “อาหล่ง” บอกพลางเตรียมการสำหรับการประท้วงยามค่ำคืนของตนไปพลาง

“ถึงตอนนั้น ฮ่องกงไม่มีวันเป็นฮ่องกงอีกต่อไป แต่กลายเป็นแค่ เซียงกั่ง” “เซียงกั่ง” คือชื่อที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ในการอ้างอิงถึงฮ่องกงในปัจจุบันนี้

แม้ว่านั่นจะเป็นการละเมิดกฎหมายโดยตรง ในทัศนะของ แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงก็ตามที

******

ครั้งหนึ่งเมื่อถูกตั้งคำถาม บรูซ ลี ตำนานกังฟูชาวอเมริกันเชื้อสายฮ่องกงที่มาเสียชีวิตในเกาลูน เคยอธิบายปรัชญากังฟู “จิทคุนโด” ของตัวเองเอาไว้ว่า “จงเป็นน้ำ!”

ไม่น่าเชื่อว่าถ้อยคำสั้นๆ นั้น ถูกหนุ่มสาวชาวฮ่องกงยึดถือเป็นหลักการสำคัญสูงสุดในการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมา แล้วก็ได้ผลดีอย่างยิ่ง

แทนที่พวกเขาจะจัดตั้งอย่างเข้มงวด กลับปล่อยวางโครงสร้างทุกอย่างโดยสิ้นเชิง อาศัยความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ “เฉพาะหน้า” เล่นเจ้าล่อเอาเถิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เคลื่อนไหวกดดันก่อนอย่างได้ผล และล่าถอยได้อย่างไม่เสียเปรียบเมื่อสถานการณ์จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ตัวอย่างที่เห็นกันในการชุมนุมประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือความสามารถในการสลายตัวแล้วไปรวมกันในที่ใหม่ในอีกด้านหนึ่งของเมือง เมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่ถูกระดมกำลังกันเข้ามาในจุดหนึ่ง กลุ่มแนวหน้าของผู้ประท้วงอย่างเช่น อาหล่ง ก็จะเข้าปะทะ ยื้อกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไว้ ปล่อยให้ส่วนที่เหลือสลายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อไปรวมตัวกันในอีกสถานที่ ซึ่งแทบไม่มีวี่แววของเจ้าหน้าที่ปรากฏอยู่

สิ่งนี้แตกต่างอย่างมากกับการยึดท้องถนน ตั้งแนวอุปสรรคขัดขวางเจ้าหน้าที่โดยรอบ แล้วปักหลักชุมนุมกันต่อเนื่องราว 2 เดือนเศษในปี 2014

และกลายเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ สร้างความยุ่งยากลำบาก เหนื้อล้าทั้งร่างกายและจิตใจอย่างใหญ่หลวงต่อกำลังเจ้าหน้าที่ ที่ทำอย่างไรก็จับไม่มั่นคั้นไม่ตาย กล้องวงจรปิดก็ลดทอนประสิทธิภาพลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีหน้ากากและหมวกกันน็อคสวมปิดบังใบหน้า

เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายรายยอมรับกับรอยเตอร์อย่างหน้าชื่นว่า ไม่รู้เลยว่าผู้ประท้วงจะจัดการชุมนุมครั้งต่อไปกันที่ไหน!

การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อ 5 ปีก่อน สร้างชื่อ โจชัว หว่อง ให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เพียงไม่ช้าไม่นานหลังจากเริ่มต้นก่อหวอดประท้วงในครั้งนั้น

แต่เกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏชื่อใครคนหนึ่งคนใด ออกมาเป็นแกนนำในการต่อต้านจีนครั้งนี้เลยแม้แต่คนเดียว แนวหน้าที่รับภาระปะทะกับเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ล้วนปกปิดใบหน้า อำพรางตัวตนที่แท้จริงของตนทั้งสิ้น

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขบวนการประท้วงในฮ่องกง สามารถเป็นขบวนการไร้แกนนำได้ ปัจจัยประการหนึ่งคือ โซเชียลมีเดีย ที่ทรงอิทธิพลในยุคปัจจุบันนั่้นเอง

******

คนที่คลุกคลีอยู่วงในของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้เปิดเผยได้เพียงว่า มีกลุ่มก้อนต่างๆ ทั้งที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในเชิงสังคมอย่างเป็นทางการอยู่ก่อนแล้ว และที่จัดตั้งกันขึ้นมาหลวมๆ แบบไม่เป็นทางการมากกว่า 100 กลุ่มอยู่เบื้องหลังการชุมนุมที่ฮ่องกง

กลุ่มทั้งหลายเหล่านั้น มีแอคเคาท์โซเซียลมีเดียเป็นของตัวเอง เพื่อการสื่อสารซึ่งกันและกัน และยังมี “วง” ของการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียสำหรับใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มก้อนต่างๆ ซึ่งกันและกันอีกต่างหาก

ภายใต้บริบทนี้ จึงมีกลุ่มในแอพพ์ทั้ง เทเลแกรม, อินสตาแกรม, และฟอรัมแชท (ตัวอย่างเช่น LIHKG ) มากมายหลายสิบบัญชีต่อแอพพลิเคชัน สำหรับโพสต์ข้อความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสารพัด ตั้งแต่ข่าวสารเกี่ยวกับการชุมนุมที่จะมีขึ้น เรื่อยไปจนถึงเท็คนิคในการรับมือกับแก๊สน้ำตาและวิธีการจำแนกแยกแยะ “สาย” ของทางการ

มีแม้กระทั่ง “รหัส” สำหรับใช้เปิดทางเข้าอาคารบางแห่ง บางที่ เพื่อใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว ยามฉุกเฉินสุดขีด

นักศึกษาชาวฮ่องกงวัย 22 ปี จากมหาวิทยาลัยในอังกฤษรายหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบเนื้อหาในอินสตาแกรม เพจ “antielabhk” สำหรับให้รายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 50,000 คน บอกว่า การไม่มีผู้นำอาจบางมีก็มีประสิทธิภาพและความหลากหลายของปฏิบัติการยิ่งกว่าการมีผู้นำ

“ไม่มีแกนนำ อาจหมายความง่ายๆ แค่ว่า เพราะทุกๆ คนคือผู้นำของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้” เขาย้ำ

หม่า นักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 28 ปี บอกกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ว่า เธอเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่ มงก๊ก หลังจากอ่านเนื้อหา แจ้งความต้องการผู้ชุมนุมในกลุ่มเทเลแกรม

เป็นเรื่องปกติที่จะมีการแจ้งทำนองนี้ก่อนกำหนดนัดไม่ช้าไม่นาน หม่า บอกว่าในกรณีของเธอนั้น แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้นก็พอเพียงแล้ว

******

โซเชียลมีเดีย คืออาวุธสำคัญที่ร้อยเรียงผู้ประท้วงเข้าด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน “ดาบแสงเลเซอร์” ของเจได ในภาพยนตร์สตาร์วอร์ ก็ถือเป็นอาวุธอย่างหนึ่งในการประท้วงครั้งนี้เช่นกัน

“อาหล่ง” คือผู้ใช้อาวุธชนิดนี้

ใน ซัม สุ่ย โป เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา อาหล่ง คาดหน้าด้วยหน้ากากอนามัยสีดำอยู่ในแนวหน้าของกลุ่มผู้ประท้วงอีกเช่นเคย เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา ดาบสตาร์วอร์ ที่ซื้อมาจากร้านของเล่นกำอยู่ในมือพร้อมใช้งาน

แนวร่วมจำนวนหนึ่งของเขาที่พกประแจมาพร้อมสรรพ จัดการกับแผงเหล็กกั้นแนวถนนอย่างชำนิชำนาญ ไม่นานแผงเหล็กก็ถูกเขย่าจนหลวมและหลุด อีกกลุ่มจัดการใช้เชือกไนลอนมัดแต่ละแผงเข้าด้วยกัน

ตอนนั้นเองที่ ดาบสตาร์วอร์ในมืออาหล่ง เปิดใช้งานเป็นแสงวาบขึ้นในท่ามกลางความมืดสลัวยามค่ำ กำหนดแนวสำหรับลากแผงเหล็กมาปิดกั้นถนนเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันผู้ชุมนุม ขณะที่หลายคนลงมือลากแผงเหล็กมาประกอบกันเข้านั้น “แมวมอง” อีกกลุ่มก็ใช้กล้องส่องทางไกลตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่วางตา

ธรรมชาติของปฏิบัติการชุมนุมประท้วงที่ว่ากันสดๆ ไม่มีแผนการวางเอาไว้ล่วงหน้าเช่นนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัดเจนมากในกรณีของหน่วยแพทย์สนาม ที่เป็นการระดมกำลังกันมาบางส่วนจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างๆ ในฮ่องกงนั่นเอง

เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเล่าว่าพวกตนต้องพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อโผล่ไปที่ไหนก็ได้ที่มีการปะทะกันเกิดขึ้น เพื่อเยียวยาคนที่บาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา

เคย์ วัย 28 ปี ที่ทำงานด้านไอทีอยู่กับบริษัทแห่งหนึ่งรับหน้าที่เตรียมชุดปฐมพยาบาล, ที่รวมทั้ง ไอโอดีน, พลาสเตอร์ปิดแผล, ชุดห้ามเลือด และน้ำเกลือเจือจาง ให้พร้อมสรรพสำหรับใช้งานก่อนการชุมนุมประท้วงทุกครั้ง เธอบอกว่าทำหน้าที่เหล่านี้อย่างเต็มใจและยินดี เหตุผลง่ายของเธอก็คือ เธอเคยโดนแก๊สน้ำตามาก่อนและเคยได้รับความช่วยเหลือ

“ฉันแค่อยากช่วยคนอื่นกลับคืนบ้างเท่านั้นเอง”

******

ฟรานซิส ลี ศาสตราจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยไชนีส ออฟ ฮ่องกง ซึ่งเคยเขียนหนังสือว่าด้วยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในฮ่องกง อธิบายถึงขบวนการประท้วงที่ก่อให้เกิดวิกฤตครั้งหนักหนาสาหัสที่สุดในสฮ่องกงครั้งนี้ด้วยศัพท์แสงทางวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ว่า

นี่คือขบวนการเคลื่อนไหวแบบ “โอเพ่นซอร์ซ”

ผู้ประท้วงเปิดรับไอเดียทุกชนิด ทุกอย่าง จากทุกคนผ่านแพลทฟอร์ม โซเชียลมีเดีย แล้วนำแนวคิดเหล่านั้นมาคัดสรร เฉลี่ย เกลี่ยให้เหมาะสม

ในบางกรณีถึงกับมีการลงมติกันออนไลน์

อาจบางที นี่คือสิ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ “เป็นของทุกคน” อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image