สุวรรณภูมิในอาเซียน : พระเจ้าตาก ไม่อ้อมไปทางชลบุรี และ สังฆราชชื่น เมืองแกลง [จ.ระยอง]

เมืองแกลง มีโลกกว้างโดยผ่านทางปากน้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

1.พระเจ้าตาก มุ่งระยอง

ไม่ต้องอ้อม ชลบุรี

พระเจ้าตากออกจากอยุธยา เชื่อกันมานานว่าไปทางเมืองนครนายก, เมืองปราจีนบุรี, เมืองฉะเชิงเทรา, เมืองชลบุรี แล้วเข้าเมืองระยอง

แต่แท้จริงจากฉะเชิงเทราตัดมุ่งตรงลงไปเมืองระยอง ไม่ต้องอ้อมไปเมืองชลบุรี เพราะมีค่ายพม่าตั้งดักตีไล่อยู่ปากน้ำบางคล้า

อยุธยา-ดงศรีมหาโพธิ์

พระเจ้าตากตั้งค่ายอยู่วัดพิชัยที่อยุธยา โดยชุมนุมพรรคพวกไทยจีนประมาณ 1,000 คน พร้อมเครื่องอาวุธ แล้วยกหนีไปทางตะวันออก มุ่งเมืองจันทบุรี

ออกจากค่ายวัดพิชัยไปทางบ้านหันตรา, บ้านข้าวเม่า, บ้านสามบัณฑิต จนเที่ยงคืนวันนั้นแลเห็นแสงเพลิงไหม้ในกรุง (ขณะนั้นยังไม่กรุงแตก เพราะพม่าตั้งค่ายล้อมนอกกรุง)

Advertisement

รุ่งขึ้นเดินทัพไปถึงบ้านโพสังหาร, บ้านพรานนก วันต่อไปมุ่งทางนครนายก ผ่านบ้านดง, หนองไม้ซุง, บ้านนาเริ่ง เข้าถึงเมืองปราจีนบุรีที่บ้านกบแจะ ต่อจากนั้นยกทัพเดินทุ่งและเดินดงเลาะชายดงศรีมหาโพธิ์

มุ่งระยอง ไม่ต้องอ้อมไปเมืองชลบุรี

พระเจ้าตากจากดงศรีมหาโพธิ์ (อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี) ยกผ่านเขาดงยาง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เข้าเมืองระยองโดยไม่อ้อมไปเมืองชลบุรี

อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ตรวจสอบภูมิประเทศแถบนั้น แล้วพบเส้นทางที่ควรจะเป็นของพระเจ้าตาก จึงเขียนบอกนาน 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 (บทความเรื่อง “สมเด็จพระวีรมหาราชเจ้าตากสินและความสำคัญของเมืองระยอง ในฐานะศูนย์กลางการตั้งทัพกู้ชาติ ในภูมิภาคตะวันออก” พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2559 หน้า 86-96) ดังนี้

Advertisement

จากดงศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี อ.ศรีศักร วัลลิโภดม บอกว่าพระเจ้าตากยกทัพไปทาง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีลำน้ำท่าลาดไหลผ่านไปออกแม่น้ำบางปะกง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา บริเวณปากน้ำเรียก ตำบลเจ้าโล้ (หรือโจ้โล้) มีค่ายพม่า

ต้องปะทะกองกำลังพม่า แต่พระเจ้าตากตีพม่าแตกพ่ายไปก็มุ่งระยองทันที ผ่านไปทาง อ.พนัสนิคม-อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี แล้วตัดตรงลงไปเมืองระยอง

ชุมชนเมืองระยอง (สมัยนั้น) อยู่ตรงบ้านค่าย (มีวัดบ้านค่ายและศาลเจ้าแม่หลักเมือง) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ส่วนชุมชนเก่าสุดอยู่บ้านเก่า (มีวัดบ้านเก่าเป็นศูนย์กลาง)

(ซ้าย) เขาดงยาง (อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา) “แลนด์มาร์ก” พระเจ้าจากมุ่งตรงไปเมืองระยอง ไม่ต้องอ้อมไปเมืองชลบุรี (ขวา) ที่ราบลุ่มๆดอนๆ เชิงเขาดงยาง ต่อเนื่องถึงฝั่งทะเลตะวันออก ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านสายกบินทร์บุรี-สัตหีบ ผ่านพนัสนิคม, บ้านบึง, บ่อทอง ไปท่าเรือแหลมฉบัง ระยอง [ภาพจากโดรน โดย นายพรหมาสตร์ สุขสวัสดิ์ ครูโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา]

2.สังฆราชชื่น สมัยพระเจ้าตาก

เดิมอยู่เมืองแกลง ระยอง

พระเจ้าตากแต่งตั้งพระสังฆราชองค์สุดท้ายช่วงปลายรัชกาล คือ พระราชคณะจากเมืองแกลง (ระยอง) เป็นที่รู้จักในนาม “สังฆราชชื่น” ผู้มีความรู้ในพระไตรปิฏกและมีความสามารถทางการบริหารจัดการ

เมืองแกลง

เมืองแกลงถูกทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไปในเรื่องเดียวว่ามีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ และเรื่องราวเกี่ยวข้องประวัติสุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี”

แต่แท้จริงแล้วเมืองแกลงมีความสำคัญในตัวเองมากกว่านั้น ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งให้มีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ได้แก่

1.ทำเลที่ตั้งของเมืองแกลงอยู่กึ่งทางระหว่างเมืองระยองกับเมืองจันทบุรี อยู่ต้นน้ำแม่น้ำประแสร์ไหลลงอ่าวไทย เป็นชุมทางเส้นทางคมนาคมของชุมชนบ้านเมืองภายใน (ของละแวกนั้น) ออกทะเลสมุทร

2.เป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรซึ่งมีมั่งคั่งทั้งของป่าและแร่ธาตุ จากชุมชนบ้านเมืองภายในและบริเวณโดยรอบ

3.พื้นที่อุดมสมบูรณ์มีลำน้ำหลายสาขา มีที่ราบทุ่งนากว้างขวาง (ชื่อแม่น้ำประแสร์ กลายคำจาก แซรฺ ในภาษาเขมรหรือภาษาชอง แปลว่า ทุ่งนา) มีผู้คนคับคั่งหลากหลายโยกย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นแรงงานการผลิตพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร และเป็นกำลังไพร่บ้านพลเมืองตั้งแต่สมัยอยุธยา

สังฆราชชื่น รูปหล่อที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร (อดีตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงธนบุรี) ประดิษฐานภายในศาลาข้างพระอุโบสถ ที่ฐานรูปหล่อมีจารึกปรากฏข้อความที่อ่านได้ว่า “รูปสมเด็จพระสังฆราชวัดหงส์ฯ หม่อมเจ้าหญิงกระจ่าง หม่อมเจ้าหญิงชม หม่อมเจ้าหญิงสฤษดิ ได้พร้อมใจกันหล่อพระรูปเจ้าของสระ” (ภาพและอ่านข้อความจารึกจาก พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร)

สังฆราชชื่น จากเมืองแกลง

1.เดิมเป็นพระครูอยู่เมืองแกลง (น่าจะเกี่ยวข้องวัดราชบัลลังก์ที่เมืองแกลง) พระเจ้าตากนิมนต์เข้าไปเป็นพระราชาคณะที่พระโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)

2.เมื่อยึดได้เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) อุตรดิตถ์ โปรดให้พระโพธิวงศ์ขึ้นไปจัด “สังฆมณฑลข้างฝ่ายเหนือ” อยู่ที่เมืองศรีพนมมาศ (เมืองทุ่งยั้ง) และเมืองพิษณุโลก ครั้นพระเจ้าตากมีสัญญาวิปลาส เป็นผู้ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้เป็น “สมเด็จพระสังฆราช” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า “เห็นจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์” เมื่อพระเจ้าตากทรงผนวช ตามที่เจรจากับพระยาสรรค์เป็นขบถล้อมพระราชวัง)

3.หลังปราบดาภิเษก ร.1 ไม่โปรดสังฆราชชื่น แต่เนื่องเพราะมีความรู้ความสามารถ ให้ลดลงชั้นหนึ่งเป็นรองสังฆราช “พระธรรมธีราราชมุนี” ว่าที่ “พระพนรัตน” เจ้าอาวาสวัดหงส์ (ตามเดิม) ต่อมาถูกลดชั้นลงอีกเป็น “พระธรรมไตรโลก” ผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราช ชำระพระไตรปิฏก เมื่อทำสังคายนา

4.ปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก เกิดแตกร้าวในองค์การปกครองคณะสงฆ์ ครั้นต้นแผ่นดิน ร.1 จำเป็นต้องรับสังฆมณฑลที่แตกร้าว (สมัยพระเจ้าตาก) มาไว้จัดการด้วยน่าจะเป็นเหตุหนึ่งให้บิดาสุนทรภู่ออกบวช แล้วถูกส่งไป “ราชการลับ” ที่เมืองแกลง อยู่วัดบ้านกร่ำ เป็นวัดเล็กๆ โดยไม่อยู่วัดราชบัลลังก์ฯ ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าตากเคยประทับก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี และน่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสังฆราชชื่นอาจเคยอยู่วัดนี้

วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่สมัยอยุธยา (น่าเชื่อว่าสังฆราชชื่นสมัยแรกก่อนเข้ากรุงธนบุรี เคยอยู่วัดนี้) ใกล้แม่น้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

เกลี้ยกล่อมเมืองชายทะเลตะวันออก

ร.1 ปราบดาภิเษก ด้วยการกำจัดขั้วอำนาจเก่าของพระเจ้าตาก แต่ไม่กำจัดสังฆราชชื่น โดยทำเพียงลดสมณศักดิ์ แล้วให้เป็นเจ้าอาวสาวัดหลวง (ตามเดิม) ขณะเดียวกันก็ยกย่องไว้ใจให้ร่วมสังคายนาพระไตรปิฎก จึงชวนให้เชื่อว่า

1.สังฆราชชื่นมีความรู้ความสามารถในกิจการพระศาสนาและเป็นที่เคราพนับถือของกลุ่มคนเมืองชายทะเลตะวันออก โดยเฉพาะทางระยอง, จันทบุรี และเมืองแกลง, เมืองประแส

2.หลังเสร็จศึกภายนอก ร.1 ต้องจัดการปัญหาภายในแก้ไขหลายสิ่งหลายอย่าง

มีอย่างหนึ่ง ได้แก่ปัญหาหัวเมืองชายทะเลตะวันออกยังไม่ราบคาบ จึงต้องเกลี้ยกล่อมอย่างใกล้ชิด โดยให้บิดาสุนทรภู่บวชเป็นภิกษุไปอยู่เมืองแกลง (ในความรับรู้ของสังฆราชชื่น) เสมือนทำ “ราชการลับ”

บิดาสุนทรภู่ บวชไปอยู่เมืองแกลง

บิดาสุนทรภู่ออกบวชเป็นภิกษุอยู่วัดที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง

สุนทรภู่เขียนบอกในนิราศเมืองแกลงว่าบิดาของตน “เป็นฐานานุประเทศอธิบดี จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม เจ้าอารามอารัญธรรมรังษี”

นักค้นคว้าต่อมาเชื่อว่าบิดาสุนทรภู่มีสมณศักดิ์เป็น “พระครูธรรมรังษี” เจ้าคณะแขวงเมืองแกลง และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่า

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อ.แกลง จ.ระยอง (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image