ทุ่ม 6 เดือนค้นลึกข้อมูล ‘เครื่องทอง’ พช.เจ้าสามพระยา พบจัดแสดงไม่ตรงแหล่งที่มาเกินครึ่ง

จบลงไปแล้วสำหรับงาน ‘วิจัยวิจักขณ์’ หรือการนำเสนอผลงานทางวิชาการของกรมศิลปากรซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปี 2562 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือผลงานการค้นคว้าเรื่อง ‘เครื่องทองในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา’ โดยนางสาวศศิธร โตวินัส ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) เจ้าสามพระยา ซึ่งใช้เวลาถึง 6 เดือนในการ ‘ชำระแหล่งที่มา’ ของเครื่องทองและโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อัญมณี และเครื่องใช้สำริด รวม 1,053 รายการ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งมาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะกรุวัดราชบูรณะ และกรุวัดมหาธาตุ โดยเป็นการชำระครั้งใหญ่และครั้งแรกนับแต่การก่อตั้งพช.เมื่อ 57 ปีก่อน

ผลของการชำระโดยใช้ข้อมูลด้านต่างๆ อาทิ หลักฐานภาพถ่ายเก่า, หนังสือพิมพ์เก่า, จดหมายเหตุระหว่าง พ.ศ.2499-2510 รวมถึงทะเบียนหลักของพิพิธภัณฑ์ รายงานการดำเนินงานทางโบราณคดี และอื่นๆ พบว่า เครื่องทองในพช.เจ้าสามพระยาที่จัดแสดงอยู่นั้น เกินครึ่งจัดแสดงไม่ตรงตามแหล่งที่มา เช่น เครื่องทองวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุจัดแสดงปะปนกัน โบราณวัตถุวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุอยู่ปนกับโบราณวัตถุจากวัดอื่น เครื่องทองจากวัดอื่นอยู่ปนกับเครื่องทองวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ รวมถึงหลายชิ้นไม่สามารถระบุที่มาได้แน่ชัด 

ตัวอย่างเช่น โบราณวัตถุที่จัดแสดงในตู้ปลาหินเขียนลายทอง 41 รายการซึ่งพบในวัดมหาธาตุเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2499 มีเพียง 17 รายการที่เป็นโบราณวัตถุในชุดนี้ นอกนั้นเป็นโบราณวัตถุจากวัดราชบูรณะและพช.จันทรเกษม นอกจากนี้ แผ่นทองคำจากวัดพระราม หลงไปอยู่ในรายการโบราณวัตถุจากวัดมหาธาตุ เป็นต้น

Advertisement

การศึกษาของ นางสาวศศิธรในครั้งนี้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับที่มาของเครื่องทองใน พช.เจ้าสามพระยาในด้านต่างๆ ที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เช่น กรณีจารึกแผ่นดีบุกซึ่งมีข้อความเล่าถึงการสร้างพระพิมพ์จำนวนเท่าวันเกิดซึ่งเดิมทะเบียนระบุเพียงพบที่วัดมหาธาตุเท่านั้น แต่เมื่อมีการชำระข้อมูลในครั้งนี้ทำให้ทราบว่า จารึกดังกล่าวพบที่กรุมุขทิศตะวันตกของพระปรางค์ประธานร่วมกับพระพิมพ์นับหมื่นองค์

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่ยืนยันว่าในกรุชั้นที่ 3 ของวัดราชบูรณะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่จริงบริเวณกลางห้องกรุภายในตลับทองคำในเจดีย์แก้วผลึกที่ถูกครอบด้วยวัสดุต่างๆ

Advertisement
ครอบพระเจดีย์ 4 ชั้น ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ‘เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน’ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
ช้างหมอบ ทำด้วยทองคำสลักลวดลาย ฝังพลอยมณีสลับสี ตรงคอมีรอบต่อถอดออกจากกันได้ ภายในกลวง อาจใช้บรรจุสิ่งของได้
ซ้าย ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ซึ่งช่างภาพพยายามมุดเข้าไปถ่ายภาพจิตรกรรมที่ค้นพบใหม่ ขวา ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งกรมศิลปากรได้สร้างบันไดสำหรับลงไปเยี่ยมชมด้านล่างได้อย่างสะดวก
สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ. 2499 (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ.2559)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image