เสียง ‘ผู้หญิงแถวหน้า’ ถึงเวลา ชาย-หญิง เท่าเทียม

เสียง ‘ผู้หญิงแถวหน้า’ ถึงเวลา ชาย-หญิง เท่าเทียม

ผู้หญิงแถวหน้า – หลายความเห็นของคนในแวดวงต่างๆ มักมองว่า “ผู้หญิงไทย” ได้รับโอกาสมากกว่าที่อื่นๆ ในโลก ได้ก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมือง เป็นซีอีโอ รับหน้าที่สำคัญๆในประเทศ

แต่ก็ยังมี “ผู้หญิง” อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกกระทำความรุนแรง และเข้าไม่ถึงโอกาสหลายๆ อย่าง

และไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง กลุ่มใด อาจมีประสบการณ์การถูกกีดกัน แม้ว่าพวกเธอจะมีศักยภาพมากเท่าใด

ทำให้ แพม-ประนัปดา พรประภา นักธุรกิจสาวมากความสามารถ ผุดโครงการ “ดราก้อนฟลาย 360” สร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมไทยและเอเชียให้ตระหนักถึงความเสมอภาค โดยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการและแอมบาสเดอร์ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น 1 บริเวณลานแฟชั่นแกลเลอรี่

Advertisement

และยิ่งคนมีส่วนร่วมเท่าใด ยิ่งทำให้เสียงดังขึ้นเท่านั้น แพม ประนัปดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการ จึงได้ดึง 5 สาวเก่ง มาถ่ายทอดแนวคิดหลักการใช้ชีวิต ได้แก่

ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ในแนวคิด be educated ที่เชื่อว่าความรู้เป็นเครื่องมืออันทรงพลัง, โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล กับ be yourself ผู้ฉีกกรอบภาพจำสังคม ด้วยการพิสูจน์ความสามารถและตัวตนที่ชัดเจน, เข็มอัปสร สิริสุขะ กับ be a role model ผู้เป็นบรรทัดฐานใหม่ ให้สังคมก้าวข้ามทัศนคติทางเพศแบบเดิม, แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่มาใน be financial independent แบบผู้หญิงมุ่งมั่น ทำงานจนสำเร็จ เป็นที่ยอมรับในสังคม และ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา พร้อมแนวคิด be the change สร้างจุดเปลี่ยนเรื่องความเสมอภาคทางเพศให้เป็นที่ยอมรับ

Advertisement

เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงแถวหน้า ได้ถ่ายทอดความคิดของพวกเธอเรื่องนี้

ประนัปดา พรประภา เผยว่า เราโตมาในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีพี่น้องผู้ชายกว่า 20 คน การทำงานในสังคมเอเชีย แม้จะเป็นซีอีโอ เวลาไปดีลงานกับญี่ปุ่น ก็ถูกตั้งคำถามบ้าง นอกจากแพม ผู้หญิงหลายคน มักถูกตั้งคำถามมากกว่าผู้ชาย เช่น อายุ 40 ทำไมยังไม่แต่งงาน แต่กับผู้ชายสิ่งนั้นเป็นความเท่ ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเยอะ แต่ก็ยังต้องกลับไปทำงานบ้าน หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ

“จริงๆ ผู้หญิงเก่งและมีศักยภาพ นี่ถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่สังคมต้องเปลี่ยน ผู้หญิงไม่ควรถูกกำหนดว่า ไม่ควรฉลาดเกินไป แล้วต้องลดความสามารถตัวเองลง การเปลี่ยนความคิดนี้ ต้องเดินทางไปพร้อมกันทุกๆ คน” ประนัปดากล่าว

ประนัปดา พรประภา

ซินดี้ สิรินยา เผยว่า หลังจากออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมและความรุนแรงทางเพศ เราพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากทัศนคติ “ชายเป็นใหญ่” ของคน ที่มีผลต่อชีวิตของผู้หญิงไทยและเอเชีย

“การรณรงค์เปลี่ยนทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเหนื่อย แต่การพูดกับอนาคตคือ ลูกและหลานเราก็สำคัญ เราควรสอนลูกชายให้เคารพเพศอื่น และลูกสาวให้กล้าตามหาความฝัน ให้ทุกคนรู้ว่าแม้จะแตกต่างแต่ก็ต้องเคารพกัน” ซินดี้ย้ำ

สิรินยา บิชอพ

ขณะที่ แพร วทานิกา เผยว่า สำหรับแพร เราไม่ควรวัดคุณค่าของคนจากเพศ แต่ควรเป็นการทำงานของเขา ผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะทำอะไรที่อยากทำ สามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่ได้หมายถึงเรามีอิสรภาพทางการเงิน แต่เรายังมีคุณค่า มีเกียรติ และมีคุณค่าในตัวเองไม่ต่างกับคนอื่น

ฟาก ดร.จุรี วิจิตรวาทการ หนึ่งในผู้หญิงเก่งแวดวงการเมือง เผยว่า แม้จะเป็นผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงการเมือง ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมทางเพศ หลายครั้งมักถูกเรียกว่า “พวกผู้หญิง” หรือถูกพูดถึงว่า ผู้หญิงพวกนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน ในการทำงานก็มักถูกรุ่นพี่นักการเมืองผู้ชาย บอกว่า “รอไปก่อน” เมื่อมีตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง

“หากจะเปลี่ยนโครงสร้าง ต้องเปลี่ยนที่ความคิดและมายาคติที่มองว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องดึงผู้หญิงคนอื่นขึ้นมา เป็นกำลังใจให้กัน” ดร.จุรีแนะ

วทานิกา
ดร.จุรี วิจิตรวาทการ (ขวา)

ส่วน อลิสา พันธุศักดิ์ ผู้บริหารสาวทิฟฟานี่ เผยว่า ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่แค่ชายหญิง และต้องรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมา ทิฟฟานีได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ว่าจะเพศใด ก็มีส่วนสร้างรายได้ให้กับประเทศ และพัฒนาประเทศ แต่พวกเขายังต้องเจอกับปัญหา เช่น คำนำหน้านาม ที่ทำให้ปฏิเสธวีซ่าทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

“เรื่องความเท่าเทียม ต้องสร้างความเข้าใจในระดับผู้นำ ต้องทำให้เป็นรูปธรรม world equality นี้ เป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจ” อลิสากล่าว

อลิสา พันธุศักดิ์

ขณะที่ วรนัยน์ วาณิชกะ ที่ปรึกษาโครงการ เผยว่า มายาคติเรื่องความไม่เท่าเทียมของชายหญิงนั้น เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว ที่เด็กถูกบอกว่า ลูกผู้หญิงจะต้อง… สถาบันการศึกษา ที่ไม่ว่าผู้หญิงจะเก่ง ขยันแค่ไหน แต่ก็ต้องเป็นผ้าพับไว้ ช้างเท้าหลัง ไปจนถึงสถาบันบันเทิง จากละครต่างๆ

“การเปลี่ยนมายาคติ หญิง ชาย อยากให้ผู้ชายทุกคนคิดว่า คุณมีแม่ มีแฟน มีเพื่อนเช่นกัน โลกต้องมีศรัทธาในความเท่าเทียม ผู้หญิงเก่งนั้นไม่ได้ต้องการให้เราช่วย แต่ว่าต้องการความคิดและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน” วรนัยน์ทิ้งท้าย

วรนัยน์ วาณิชกะ, ประนัปดา พรประภา, ซอนญ่า สิงหะ

อีกก้าวของความเท่าเทียม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image