แถลงการณ์เครือข่ายกะเหรี่ยงจี้รัฐหาคนฆ่า’บิลลี่’ดำเนินคดี ดันไทยลงสัตยาบันคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษชน

กรณีเจ้าหน้าที่พบถังน้ำมัน 200 ลิตร สภาพถูกเผาไหม้ใกล้กับสะพานแขวน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยภายในถังมีชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะมนุษย์ ต่อมาพิสูจน์ทราบเป็นของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งน้ำลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน ที่หายตัวไปนานกว่า 5 ปี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 กันยายน ที่โรงแรมไมด้า ดอนเมือง เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย 99 องค์กร จัดแถลงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลกรณีการเสียชีวิตของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ เพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 2 มิถุนายน 2553 และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ให้มีผลเชิงปฏิบัติในการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยทางเครือข่ายฯ ได้เคลื่อนไหวทวงถามความเป็นธรรมให้กับบิลลี่และครอบครัว

ต่อมาทางเครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ทุ่มเททำงานด้วยความมานะอุตสาหะจนสามารถพิสูจน์ยืนยันวัตถุพยานหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนคดีอุ้มหาย และสามารถระบุได้ว่า นายพอละจี หรือ บิลลี่ ได้เสียชีวิตแล้ว โดยต้องคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว ชุมชน รวมถึงเครือข่ายกะเหรี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งนี้

2. เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการสืบสวน สอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดรวมถึงผู้ที่มีส่วนทั้งหมดมาดำเนินคดีโดยเร่งด่วน รวมถึงดำเนินคดีผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องในกรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน จำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน รวมทั้งบ้านปู่คออี้  ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ

Advertisement

3.ให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิ.ย. 2553 และ 3 ส.ค. 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน ซึ่งนายพอละจี รักจงเจริญเป็นผู้ประสานงานการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด

4. ให้ประเทศไทยบัญญัติกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติว่าด้วย อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีจึงไม่มีสภาพบังคับอย่างใด

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรภาคีจำนวน 99 องค์กร และบุคคลจำนวน 169 รายชื่อได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ 

Advertisement

1. เร่งรัดนำตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด มาลงโทษตามกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

2. ชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ครอบครัวของบิลลี่อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม แม้ยังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด แต่ความเสียต่อครอบครัวได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว 

3. ให้รัฐบาลไทยพิจารณาเร่งรัดเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ เพราะแม้ว่ารัฐบาลไทยจะได้ลงนาม แล้ว เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 แต่เมื่อยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี จึงไม่มีสภาพบังคับ 

4. ให้รัฐบาลไทยมีมาตรการที่เป็นไปตามหลักการสากลของสหประชาชาติว่าด้วย การปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

5. ให้รัฐบาลไทยเร่งรัดออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในทางกฎหมายโดยมิชอบ ก่ออาชญากรรมต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคนว่าจะไม่ถูกกระทำโดยผู้ใช้อำนาจรัฐ 

ด้านนายประยงค์ ดอกลำใย ประธาน กป.อพช.กล่าวว่า หลังจากนี้จะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลสอบสวนเรื่องนี้ และจะทำการรณรงค์ไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีกพร้อมผลักดันกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เกิดการอุ้มหายและทรมานอีกต่อไป ส่วนพยานคนสุดท้ายที่เห็นนายบิลลี่คือเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาตินั้น ตนอยากให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบิลลี่หรือไม่ด้วย

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ 5 ปีที่ผ่านมา คนกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกะจานถูกบีบให้ยอมรับเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง สำหรับมติ ครม.วันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชนเผ่านั้น ทางกรมอุทยานได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปดูพื้นที่อาศัยของชนเผ่า แล้วลงความเห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นการทำไร่เลื่อนลอยเป็นเหตุต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่นั้น แต่ได้มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนแล้วว่าบริเวณดังกล่าวเป็นไร่หมุนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จิตวิญญาณชนเผ่า ประกอบด้วยที่อยู่อาศัย ผืนป่า และไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในมติสำคัญที่จะเร่งรัดให้ภาครัฐ พิจารณาชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมบังคับใช้ในปลายปีนี้ ซึ่งมีการบัญญัติข้อกฎหมาย เพิ่มอัตราโทษกับชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำกัดขอบเขตการใช้ทรัพยากร โดยทางเครือข่ายจะขอให้ทบทวนข้อกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องหลักสิทธิ และแนวทางการฟื้นฟูสิทธิตาม มติ ครม. ซึ่งการชะลอนี้รัฐบาลสามารถกระทำได้ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา

ต่อมา นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางมารับหนังสือของเครือข่ายเพื่อนำไปเสนอในรัฐสภาและผลักดันในการติดตามคดีนี้ รวมถึงพิจารณามติ ครม.เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศทั้งหมด โดยนายณัฐพลได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของบิลลี่ รวมถึงความสูญเสียของชุมชนแก่งกระจาน ซึ่งการหายตัวไปของบิลลี่เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นคดีฆาตกรรม โดยตนจะนำเรื่องนี้ไปผลักดันในรัฐสภา ซึ่งต้นตอของเรื่องทั้งหมดอาจเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการทำกินในป่าของชนเผ่า ทางตนและพรรคอนาคตใหม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะต้องนำนโยบายคนอยู่กับป่ามาพิจารณา สังคายนาใหม่มาดูว่านโยบายที่ผ่านมานั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือการผลักคนออกจากป่าซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะชุมชนมีสิทธิจะอยู่และสามารถดูแลป่าได้

ต่อจากนี้ในเวลา13.00น. ทางเครือข่ายจะส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือขอบคุณและเร่งรัดคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image