น.3คอลัมน์ : กระแส สังคม ถวายสัตย์ ปฏิญาณตน เรื่องของ คนดี

เมื่อเผชิญประสบกับสภาพการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ ครม.เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ท่าทีของรัฐบาล ท่าทีของฝ่ายค้านแตกต่างอย่างไร

ทั้งๆ ที่นี่คือ “การ” อันเป็นของ “ครม.”

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะคนกล่าวนำรู้ตัวหรือไม่ว่ามีความผิดพลาด ถามว่าบรรดารัฐมนตรีรู้หรือไม่ว่ามีความบกพร่อง

หากดูจากสถานะก็น่าจะรู้

Advertisement

หรือหากรัฐมนตรีอื่นๆ อาจไม่รู้หรือไม่ฉุกคิด แต่ระดับ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นมือกฎหมายระดับเอ้ไม่น่าจะไม่รู้

ถามว่าหากรู้แล้วทำไมจึง “เงียบ”

เงียบจากวันที่ 16 กรกฎาคม กระทั่งเมื่อ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งข้อสังเกตด้วยความห่วงใยต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม จึงได้เริ่มขยับขับเคลื่อน

Advertisement

น่าแปลกที่เป็นการขยับขับเคลื่อนในลักษณะ “ภาคเสธ”

หากประเมินจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานเข้ากับท่าทีอันชวนให้คลางแคลงกังขาของ นายวิษณุ เครืองาม ก็พอจะคลำได้เบาะแสบางประการ

1 ความผิดพลาด คลาดเคลื่อนน่าจะเกิดขึ้นจริง

ยิ่งหากตรวจสอบผ่านคลิป “ข่าวในราชสำนัก” ก็ยิ่งเห็นอย่างเด่นชัดว่า นอกจากถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแล้ว

ที่สำคัญยังมี “เติม” เข้ามาอีก

ขณะเดียวกัน 1 ทางฝ่ายรัฐบาลในเบื้องต้นเลือกที่จะเงียบโดยหวังว่าความเงียบจะยุติทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมว่า

“เรื่องนี้จบไปแล้ว ไม่ขอพูด”

เมื่อทางด้านรัฐบาล ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกยุทธวิธีแบบนี้ ฝ่ายค้านจึงไม่มีหนทางอื่นนอกจากเดินหน้า

เดินหน้าเพื่อทำ “ความจริง” ให้เป็นที่ปรากฏ

สถานการณ์จากวันที่ 27 กรกฎาคมเป็นต้นมา เราจึงเห็นท่วงทำนอง “รุก” ของฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง จากที่เป็นงานของพรรคอนาคตใหม่ก็กลายเป็นงานของ 7 พรรคฝ่ายค้าน

รุกผ่านกระทู้ถามสด

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้กระบวนท่าหลบเลี่ยงและหนีสภา ฝ่ายค้านจึงยกระดับไปเป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังหลบเลี่ยง ไม่ยอมเผชิญหน้าอย่างเดิม

หลบเลี่ยงถึงระดับที่ว่าภารกิจรัดตัวอาจไปตอบคำถามไม่ได้ หลบเลี่ยงถึงระดับจำกัดกรอบการประชุมให้เหลือเพียง 1 วัน หรือครึ่งวัน หากเป็นไปได้

ในที่สุดก็งัดไม้ตายในเรื่อง “ประชุมลับ” เพื่อปิดกั้น

ภาพของรัฐบาล ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสายตาสังคม ในสายตาประชาชน จึงขาดความองอาจ ขาดความสง่างาม

มิได้เป็นภาพของ “คนแก้ไข” หากเป็นภาพของ “คนแก้ตัว”

ยังไม่ทันที่จะเริ่มญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ กระแสอันกำหนดทิศทางของสังคมเป็นไปเช่นนี้

เป็นภาพของความหวาดกลัว

เหมือนกับเป็นความหวาดกลัวต่อสภา เป็นความหวาดกลัวต่อการรุกไล่โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล และฝ่านค้าน

ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นความหวาดกลัวต่อ “ความเป็นจริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image