โฆษก ‘ประชาชาติ’ จวกยิบ 6 ข้อ ปมสรรงบ 15,800 ล. แบ่งแจกทุกจังหวัด ชี้ ‘เหวี่ยงแห’ ขาดวินัย เสี่ยงรั่วไหลสูง

“สุพจน์” ชี้การจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น 15,800 ล้านบาท ให้จังหวัดต่างๆ สำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้ง/อุทกภัย ปลายปีงบประมาณ 2562 : ฉุกละหุกและเหวี่ยงแห

เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า การที่กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0211.6/ ว 5268 ลว. 3 กันยายน 2562 ซักซ้อมและทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจำเป็นเร่งด่วนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและมีโอกาสที่เงินงบประมาณจะรั่วไหลสูงและต้องใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือ จำเป็น เป็นรายการงบประมาณ ที่ตั้งไว้เป็นวงเงินรวม (Lump Sum) โดยไม่มีรายละเอียดโครงการ/ค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยปกติรัฐบาลจะใช้จ่ายเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ตามสถานการณ์หรือ ภัยพิบัติที่จะเกิดในแต่ละพื้นที่ หรือ กรณีเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหาย โดยในปีงบประมาณ 2562 ได้ตั้งงบประมาณรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ไว้ จำนวนทั้งสิ้น 90,500 ล้านบาท

อนึ่ง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ปี 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ รวมจำนวน 15,800 ล้านบาท ในช่วงที่กำลังจะสิ้นปีงบประมาณ ให้แก่จังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 200 ล้านบาท (ยกเว้น 2 จังหวัด ได้ 500 ล้านบาท) และพรรคประชาชาติ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ฉุกละหุกและเหวี่ยงแห พร้อมทั้ง ทำยากภายใต้กรอบระยะเวลาที่จำกัดและมีผลกระทบต่อการพิจารณารายละเอียดของโครงการและราคางาน รวมถึง เพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ อีกทั้ง พรรคประชาชาติ ได้ตั้งประเด็นที่น่าห่วงใยไว้ รวม 6 ประเด็น ดังนี้

1. การใช้งบประมาณ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ที่รัฐสภาอนุมัติให้ใช้งบประมาณดังกล่าว ในกรณีฉุกเฉินหรือกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณในลักษณะปูพรม ให้เท่ากันทุกจังหวัด

Advertisement

2. การจัดสรรงบประมาณรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ดังกล่าว เป็นนโยบายที่กำหนดจากหน่วยเหนือลงไป (Top Down) แล้วให้แต่ละจังหวัดไปจัดทำโครงการตามกรอบแนวทางที่กำหนด ไม่ได้พิจารณาจัดสรรตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ (Bottom Up) จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของงบประมาณ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ

3. การจัดสรรงบประมาณรายการดังกล่าว ให้จังหวัดละ 200 ล้านบาท เท่ากัน ในขณะที่แต่ละจังหวัดมีขนาดของพื้นที่และจำนวนประชากรต่างกันมาก และความรุนแรงของภัยพิบัติก็ต่างกัน การใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องจัดสรรให้มากน้อย ตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่ควรจะเท่ากัน

4. การให้งบประมาณเป็นพิเศษ 2 จังหวัดๆละ 500 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน อย่างไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

5. โครงการที่เสนอของบประมาณ ส่วนใหญ่จะเป็นรายการขุดลอก หรือรายการที่ตรวจสอบปริมาณงานได้ยากมาก ทำให้โอกาสที่งบประมาณแผ่นดินจะมีการรั่วไหลสูงมากๆ

6. การกำหนดนโยบาย ให้ใช้งบประมาณในช่วงเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ เป็นการบริหารงบประมาณที่ขาดวินัย ไร้ประสิทธิภาพ

การใช้จ่ายงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แทนที่จะใช้จ่ายเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หรือปัญหาความเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ แต่รัฐบาลกลับกำหนดนโยบายให้จังหวัดใช้จ่ายตามที่รัฐบาลอยากจะให้ใช้จ่าย เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีวินัย ไร้ประสิทธิภาพ เป็นอย่างยิ่ง

” การจัดสรรงบกลางให้แต่ละจังหวัดเท่าๆกัน จะเป็นเสมือนการเอาเงินงบประมาณแผ่นดิน ไปให้โบนัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด (รึเปล่า) นอกจากนี้ ภัยแล้ง และ อุทกภัย เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ตรงข้ามกัน แต่มาอยู่ในกรอบนโยบาย/วงเงินงบประมาณเดียวกัน (คงยุ่งยากในทางปฏิบัติที่จะทำให้เกิดความคุ้มค่า อย่างหน้าดูชม) และที่สำคัญจังหวัดที่ได้รับงบประมาณเป็นพิเศษ จำนวน 500 ล้านบาท คือจังหวัดสุรินทร์ กับ บุรีรัมย์ซึ่งไม่ใช่จังหวัดใหญ่และไม่ใช่เป็นจังหวัดที่มีภัยแล้ง หรือ อุทกภัยมากมาย แต่จัดสรรให้มากด้วยเหตุผลอื่นและถือว่าไร้วินัยในการบริหารงบประมาณเป็นอย่างยิ่ง “ นายสุพจน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image