ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ ภารกิจสำคัญในมือ ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล

เกินครึ่งศตวรรษ คือห้วงเวลานับแต่สถาบันการศึกษาด้านศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกของไทยถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นที่รู้จักในนามมหาวิทยาลัยศิลปากรในวันนี้ ไม่เพียงวังท่าพระ สนามจันทร์ และเพชรบุรี จะเป็นฐานที่ตั้งมั่นแห่งวิชาความรู้หลากหลายแขนง ทว่า ยังมี”วิทยาลัยนานาชาติ” เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญตั้งแต่ พ.ศ.2546 เป็นต้นมา

“ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล” คณบดีคนปัจจุบันผู้มีประสบการณ์ระดับ “อินเตอร์” มานานถึง 23 ปี ปักธงเดินหน้าไม่หยุดยั้ง โดยไม่หลงลืมละทิ้งรากเหง้าและอัตลักษณ์ของ “ศิลปากร”

ปัดฝุ่นโครงการงานอนุรักษ์ศิลปกรรมเมื่อ 15 ปีก่อนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังก้าวกระโดดอีกหลายขั้นด้วยปณิธาน “มุ่งสู่สากล”

การกระชับมืออย่างอบอุ่นระหว่างรั้วศิลปากร และ University of Applied Arts แห่งกรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรีย จึงถือกำเนิดขึ้น

Advertisement

นำมาซึ่งการก่อตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ” ภายใต้ความหวังในการเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์งานศิลปะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งหลักสูตรปริญญาโทในสาขาดังกล่าว ที่ผู้เข้าเรียนจะได้รับปริญญา 2 ใบ นับเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ในแวดวงศิลปะที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

จุดเริ่มต้นของแนวคิดในการก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติมาจากไหน?

ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล

จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เมื่อ 15 ปีก่อน มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่โด่งดังด้านศิลปะและการออกแบบ เคยทำโครงการซ่อมภาพฝีพระหัตถ์มาแล้ว แต่หยุดไป เพราะมีปัญหาด้านงบประมาณ ตอนนี้เริ่มขึ้นมาอีกครั้งเพราะท่านเอกอัครราชทูตออสเตรียมองเห็นว่าประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์ในการอนุรักษ์ศิลปกรรมทั้งหลายในภูมิภาค เนื่องจากมีความพร้อมกว่าประเทศอื่น ท่านจึงมาหาเรา หลังจากพูดคุยกัน ผู้บริหาร ม.ศิลปากร ก็เดินทางไปชม University of Applied Arts ที่เวียนนา ซึ่งเก่าแก่ถึง 150 ปี พบว่าเขาพร้อมมาก โดยเฉพาะ Institue of Conservation และ Reservation ซึ่งมีชื่อเสียงมากในการซ่อมภาพของพิพิธภัณฑ์ พอกลับมาก็ลงนามความร่วมมือกันระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย แล้วเริ่มต้นทำเวิร์กช็อป โดยทางเวียนนาส่งนักอนุรักษ์มา 2 คน หลังจากนั้นจึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะตั้งศูนย์ขึ้นมา ทั้งด้วยความพร้อม การลงนามเอ็มโอยู และเสียงตอบรับจากกรมศิลปากรรวมถึงอีกหลายภาคส่วน

ทำไมต้อง ‘นานาชาติ’ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะมีกิจกรรมหรือการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง?

ต้องยอมรับว่าตอนนี้เราไม่มีหลักสูตรตรงๆ แบบฝรั่ง ขณะนี้เรามีหลักสูตรไทยเช่นกัน แต่ต้องพึ่ง “โนว์ ฮาว” ของเขา ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ จะมีการดำเนินงาน 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือ การซ่อมงานศิลปกรรมซึ่งเราได้ซ่อมภาพเป็นการอุ่นเครื่องไปแล้ว 2 ภาพ คือภาพที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแด่ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และภาพของศาสตราจารย์ ปรีชา เถาทอง

Advertisement

ส่วนที่ 2 คือ หลักสูตรปริญญาโท 2 ปริญญากับ ชม University of Applied Arts Vienna 2 ส่วนนี้เป็นสิ่งที่จะดำเนินการอย่างคู่ขนาน เนื่องจาดศูนย์อนุรักษ์นี้ไม่สามารถผลิตบุคลากรที่รับปริญญาได้ เพราะเป็นศูนย์ แต่ต้องเป็นวิทยาลัยนานาชาติจึงจะผลิตปริญญา ผลิตบุคลากรได้

กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้มีอะไรบ้าง?

เดือนธันวาคมนี้ เราจะเปิดการประชุมนานาชาติ ทางออสเตรียจะมาพูดคุยว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรประเภทไหน แน่นอนว่า ภาคปฏิบัติที่นี่ยังไม่พร้อม เราจะส่งนักศึกษาไปฝึกภาคปฏิบัติที่เวียนนา เด็กจะได้ 2 ปริญญา

นอกจากนี้จะเปิดตัวศูนย์อนุรักษ์โดยเชิญประเทศเพื่อนบ้านทุกแห่งมาชมเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราสามารถรับงานมาซ่อม ซึ่งเป็นการบริการวิชาการแบบหนึ่ง ทั้งยังสร้างรายได้ให้ประเทศไทยด้วย โดยจะเริ่มรับซ่อมภาพได้ในเดือนมกราคม 2563

จากนั้นประมาณเดือนสิงหาคม จะเปิดรับนักศึกษาสำหรับหลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรมได้ในระดับปริญญาโท

ผู้ที่สนใจอยากสมัครเข้าเรียนหลักสูตรนี้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

ต้องจบจิตรกรรม หรือมีความรู้ด้านจิตรกรรม และวิทยาศาสตร์ด้วยซึ่งหายาก คือเบื้องต้นจบจิตรกรรมมาก่อน แล้วมาเรียนเพิ่มด้านเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพียว แต่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในงาน

คนเรียนจิตรกรรม เขาเรียนสร้าง ไม่ใช่เรียนซ่อม คนที่จะมาซ่อม เขาต้องชอบด้วย แปลว่าถ้าอยากเป็นนักซ่อม ต้องมาเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะจะต้องรู้เรื่องสารต่างๆ อย่างภาพของ มจ.สุภัทรดิศ นักอนุรักษ์จากเวียนนามาดู เขาบอกว่ามีรอยเหลืองๆ สีน้ำตาลขึ้นมา เหมือนกับว่ามีคนสูบบุหรี่ในขณะที่ชมภาพหรือเปล่า เรามองไม่ออก แต่นักอนุรักษ์จะรู้

แล้วขั้นตอนการอนุรักษ์ทั้ง 2 ภาพแรกที่กล่าวถึงมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?

ทั้ง 2 ภาพไม่ได้เสียหายมากนัก ยังเป็นงานเล็กๆ เพราะในระยะเวลาที่เรามีนักอนุรักษ์เวียนนามาอยู่ 2 สัปดาห์ ถ้าทำได้ 2 ภาพได้ แสดงว่าเป็นงานเล็กๆ ต้องพูดตรงไปตรงตรงมาว่าเป็นการทำความสะอาดมากกว่าซ่อมแซม ซึ่งการทำความสะอาดก็เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์

ถ้างานใหญ่คือพวกภาพแตก ภาพเป็นรอย ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะเครื่องมือยังไม่พร้อม อยู่ระหว่างการสั่งซื้อ

นอกเหนือจาก ‘จิตรกรรม’ แล้ว ในอนาคตจะขยายงานอนุรักษ์ไปถึงศิลปกรรมแขนงอื่นหรือไหม?

ขยายแน่นอนค่ะ ตอนนี้เราเริ่มจากการอนุรักษ์จิตรกรรมก่อน เพราะเรามีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งมีภาพเขียนเด่นๆ จึงคิดว่าจะเริ่มที่ภาพเขียนก่อน แต่ต่อไปจะขยายไปทุกอย่าง ทางเวียนนาก็มีชื่อเสียงด้านการซ่อมผ้าและวัตถุทางศิลปะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ หิน และอีกหลายอย่าง วันข้างหน้าเราก็จะทำครบวงจร เพราะแต่ละอย่างใช้เครื่องมือที่ต่างกัน ตอนนี้เราจะลงเครื่องมือสำหรับงานจิตรกรรมก่อน

จากที่อาจารย์กล่าวมาข้างต้นว่า งานอนุรักษ์แบบนี้เป็น ‘โนว์ ฮาว’ ที่ฝรั่งเชี่ยวชาญในเชิงเทคนิค แล้วในแง่มุมของ ‘ฝีมือ’ หากซ่อมศิลปะไทยแบบประเพณี ก็ต้องเป็นคนที่ทักษะในงานช่างไทย?

ใช่ค่ะ นี่คือสาเหตุที่คิดว่าต้องมีหลักสูตรขึ้นมาเพื่อผลิตบุคลากรไทย ระยะแรกเราต้องพึ่งฝรั่งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อีก 2-3 ปีข้างหน้าเราจะเริ่มมีบุคลากรสำหรับซ่อมจิตรกรรมไทยหลังจากเรียนจบหลักสูตร

นอกจากการทำงานร่วมกับนานาชาติ ทั้งออสเตรีย และการสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับหน่วยงานในไทยได้ประสานกับส่วนใดบ้าง?

เราร่วมมือกับทุกคนที่ทำงานด้านศิลปะทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านนี้ ได้นัดหมายเข้าพูดคุยกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเรียนท่านว่าเรามีศูนย์อนุรักษ์อยู่ จะร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมแบบไหนได้บ้าง นอกจากนี้ได้เริ่มพูดคุยกับนักสะสมรายใหญ่ๆ บ้างแล้ว ตลาดในการอนุรักษ์ภาพเขียน น่าจะเป็นไปได้ เพราะประเทศไทยมีนักสะสมภาพมากมาย

ศิลปะคือสุนทรียะ ซึ่งมักได้รับการพิจารณาด้านงบประมาณน้อยกว่าด้านอื่น การตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมครั้งนี้ เบื้องต้นใช้งบจากส่วนใดบ้าง เปิดให้เอกชนร่วมสนับสนุนหรือไม่?

ในระยะแรกเป็นเงินของวิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร ซึ่งเราจะนำมาใช้สัก 10 ล้านบาท ซึ่งไม่เยอะเลยสำหรับงานลักษณะนี้ แต่มีความจำเป็นต้องเริ่ม สำหรับเอกชน เรายังไม่ได้ขอความร่วมมือ แต่มีแนวคิด เพราะในวันข้างหน้าจะเป็นที่ซึ่งหารายได้ เอกชนกลุ่มนี้คือคอลเล็กเตอร์ หรือนักสะสมทั้งหลายที่มองเห็นความสำคัญถึงการอนุรักษ์รูปที่เขาสะสมไว้

การเตรียมรับงานจากข้างนอก อย่างงานของนักสะสมมีขั้นตอนอย่างไร?

ในระดับแรก เราจะประชาสัมพันธ์ไปที่คอลเล็กเตอร์ต่างๆ โดยมีคอลเล็กเตอร์คนหนึ่งเข้ามาช่วยงาน เมื่อได้ทำการตลาดแล้ว ก็ได้รู้ว่าคอลเล็กเตอร์หลายคนจำเป็นในการซ่อมภาพ เพราฉะนั้นตลาดของเราตลาดแรก น่าจะเป็นเอกชน ซึ่งเดิมเวลาเขาซ่อมภาพ คิดว่าคงจ้างฝรั่ง เขาถึงดีใจที่มีศูนย์นี้ขึ้นมา และแน่นอนว่าในอนาคตต้องร่วมกับกรมศิลป์ได้ด้วย

อุปสรรคหลักๆ ที่ต้องฝ่าฟันคืออะไร มีความกังวลหรือกดดันไหมในการกลับมาฟื้นศูนย์ฯ ที่เมื่อ 15 ปีก่อนไม่ประสบความสำเร็จ?

อุปสรรคหลักๆ คือเราขาดบุคลากรที่จบการอนุรักษ์โดยตรงแบบฝรั่ง และต้องยอมรับว่าอาชีพนักอนุรักษ์ยังไม่เป็นที่ท้าทาย

คนที่อยากมาเรียนต้องรักจริงๆ เพราะต้องรู้ทั้งศิลปะ และวิทยาศาสตร์ แต่เราก็พยายามจะฟันฝ่าอุปสรรคนี้ด้วยการสร้างหลักสูตรขึ้นมา เพื่อผลิตบุคลากร ส่วนอุปสรรคอื่นๆ คิดว่าไม่น่ามีอะไร

ส่วนความกังวลคือ นักสะสมทั้งหลายจะมอบความไว้วางใจหรือไม่ หากจะไปสู่เป้าหมายความเป็นสากล จะบรรลุไหม นี่กำลังคิดอยู่ว่าวันนั้นจะสร้างชื่อเสียงแบบไหน ส่วนตัวทำเรื่องนานาชาติมาเยอะ ตลอด 23 ปี ก็มองแล้วว่าอะไรทุกอย่างที่ทำมันจะต้องไปสู่สากลให้ได้ อันนี้ก็เครียดเล็กๆ นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัยก็สำคัญมาก ต้องมีมาตรการดูแลอย่างดีที่สุด

ในฐานะที่ทำงานด้านนานาชาติมานาน ‘จุดอ่อน’ ของนักศึกษาไทยที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อการมุ่งสู่สากล?

อย่างแรกเลยคือการสื่อสาร ภาษาอังกฤษจะต้องคุยได้ อย่างนักอนุรักษ์เวียนนามารอบนี้ เวลาทำงานร่วมกันต้องพูดคุย วิธีการทำงานก็ต้องปรับ เพราะฝรั่งเขาจะวางแผนก่อน เช่น ภาพมีปัญหา ภาพเก่า ต้องล้าง ก็ต้องคุยให้เข้าใจกัน เพราะฉะนั้น 1.คือปัญหาทางภาษา 2.วิธีทำงาน ซึ่งอาจมีปัญหาด้านวัฒนธรรม

ที่สำคัญ ต้องเปิดใจกว้าง การทำงานกับฝรั่งบางทีเขาคิดไม่เหมือนเรา เราคิดไม่เหมือนขา เพราะมีแบ๊กกราวน์หรือภูมิหลังต่างกัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในวันข้างหน้า ถ้าเราไม่สามารถเปิดใจรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสตร์ของเขาทำด้านนี้มาเกือบ 200 ปี ถ้าไม่รับหนทางไปสู่สากล ก็จะเป็นอุปสรรค ช่วงแรกต้องพึ่งเขา ต่อไปเราต้องยืนให้ได้ ต้องผลิตคน

นอกจากหลักสูตรปริญญาโท นักศึกษาสาขาอื่นและบุคคลทั่วไปที่สนใจ จะมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนและทางศูนย์ฯได้อย่างไรบ้าง?

นอกจากรับงานบริการวิชาการแล้ว เรายังมีเป้าหมายทำหลักสูตรระยะสั้น เปิดให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าเรียนได้ด้วย เพราะฉะนั้น นอกจากหลักสูตรปริญญาโท ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะยาว ยังมีหลักสูตรระยะสั้น อาจ 2 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือนก็แล้วแต่ ซึ่งผู้สนใจสามารถเลือกเรียนได้ โดยจะมีนักอนุรักษ์ของเวียนนามาประจำที่นี่ 1 คน หลักสูตรระยะสั้นนี้ ไม่ได้เปิดสอนเฉพาะคนไทย แต่จะเชิญชวนภูมิภาคอาเซียนมาร่วมด้วย

เป้าหมายสูงสุดและความท้าทายที่ปักธงไว้ว่าอยากไปให้ถึงคือจุดไหน?

จุดที่เป็นศูนย์กลางของการอนุรักษ์ภาพ และศิลปกรรมในภูมิภาคซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ นำภาพเขียน หรืองานศิลปะอันโดดเด่นของเขามาให้เราซ่อม เป็นศูนย์ที่ได้อนุรักษ์งานสำคัญๆ ของเพื่อนบ้าน

เป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติที่แท้จริง สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย นี่คือเป้าหมายที่อยากไปถึง


จาก ‘เวียนนา’ ถึง ‘ศิลปากร’

เปิดขั้นตอนอนุรักษ์ ภาพเขียนล้ำค่า

“มือเรามีน้ำมัน เวลาแตะภาพ ความมันความสกปรก จะติดบนพื้นผิว”

คือคำบอกเล่าจากปาก “ญาณิศา ทองฉาย” นักอนุรักษ์งานศิลปกรรมที่สะท้อนถึงความละเอียดลออในทุกขั้นตอนของการทำงาน โดยเจ้าตัวได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ เพิ่มเติมจากนักอนุรักษ์ผู้บินลัดฟ้ามาไกลจากเวียนนา ออสเตรีย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร ระหว่างวันที่ 16-30 สิงหาคมที่ผ่านมา

แม้เป็นระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทว่า ได้เรียนรู้เทคนิคสำคัญมากมายในการซ่อมแซมจิตรกรรม

“อันดับแรก มาดูก่อนว่า ภาพนี้ใช้วัสดุอะไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น โดยดูด้วยตาเปล่า จากนั้น ใช้เครื่องมือวิเคราะห์สาเหตุ แล้วทำความสะอาด ซ่อมแซมด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็เป็นอันเรียบร้อย”

ญาณิศายกตัวอย่างผลงานของ “ศาสตราจารย์ ปรีชา เถาทอง” ศิลปินชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรส่งมาให้ซ่อม

“ตอนยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี อาจารย์ปรีชาส่งภาพไปประกวดได้รางวัล ด้านหลังของภาพถูกเขียนว่า รางวัลที่ 1 และข้อความอื่นๆ อีกเยอะแยะ ส่วนด้านหน้าผ่านการซ่อมและเคลือบวานิชมา โดยติดตั้งเฟรมแล้วค่อยเคลือบ ปรากฏว่าตามขอบมุมต่างๆ ไม่ถูกเคลือบไปด้วย เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดเป็นสีบนพื้นที่ซึ่งต่างกัน เราเลยมาทำพื้นที่ที่ไม่โดนเคลือบให้มีสีเดียวกัน แล้วซ่อมในจุดต่างๆ ที่เป็นรอยโป่ง บวม พองและรอยขาด”

นักอนุรักษ์สาวชาวไทยเล่าลงลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากนักอนุรักษ์เวียนนา ซึ่งสอนวิธีการซ่อมผ้าใบได้อย่างประณีต งดงาม และทนทาน

“จะเห็นว่าผ้ามีเส้นดิ่งกับเส้นนอน ซ่อมอย่างไรให้เนียนและแข็งแรง แต่ไม่ทำให้ดูใหม่ คุณเอน่าเลยให้เอาเส้นใยของผ่าลินินใส่ลงไป สมมุติว่าเส้นผ้ามี 10 เส้น เราดึงออกมาแค่ 2 เส้น แล้วทากาว รอแห้ง ตัดให้พอดีกับรูที่ขาด แล้วใช้ฮอตเพ็นช่วยฟิกซ์ทีละจุดจนแผลสวยงาม นี่เป็นเทคนิคของทางเวียนนาที่ไทยยังไม่มี

แต่ก่อนวิธีของเราคือ ถ้าเป็นรูก็ปะๆ ให้เรียบเนียน รองพื้นแล้วรีทัช แต่เวียนนาใช้วิธีนำเส้นใยเข้าไปในรู แล้วสานเส้นต่อเส้น มีวิธีทากาวที่อเมซิ่งมาก ซ่อมเสร็จแข็งแรงแน่นอน”

อีกภาพน่าสนใจ ที่เจ้าตัวตั้งใจซ่อมแซมเพื่อคืนความสดใสให้กลับมาคงเดิม คือผลงานศิลปินอินโดนีเซีย นามว่า “นากามูระ”

“เป็นงานร่วมสมัยที่นักสะสมไทยซื้อมา ปรากฏว่าสภาพแวดล้อมบ้านเราชื้น จึงเกิดฟ็อกซิ่งบนชั้นสีขาวอย่างชัดเจน ต้องใช้เวลาซ่อมราว 2 สัปดาห์เพราะมีหลายจุด”

ญาณิศาบอกว่า นอกจากเทคนิคในการอนุรักษ์แล้ว ยังได้เรียนรู้ “วิธีการทำงาน” จากนักอนุรักษ์ชาวเวียนนา ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่งานศิลปะมาถึงห้อง การเปิดและนำจากกล่อง วิธีการวาง การเคลื่อนย้าย ซึ่งทุกรายละเอียดต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง

“ทุกอย่างต้องระวัง มีวิธีการถือ การจับที่ถูกต้องไม่ให้สัมผัสกับตัวภาพ ทางเวียนนาทำงานจริงจังมาก ได้การบ้านเยอะมาก แต่ถ้าเครียด กดดัน งานจะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เราต้องใช้สมาธิ มือต้องนิ่ง ต้องจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ บางครั้งมีความสับสน คุณเอน่าก็บอกว่า เราทดลองไปด้วยกัน ลองใช้สารตัวนี้ดู ไม่ออกใช่ไหม งั้นลองเต็มตัวนี้นิดหนึ่ง เรามีการวางแผนทุกวันก่อนทำงาน พอเสร็จ ก็วางแผนงานวันรุ่งขึ้น

ระบบของเขา วิธีจัดการของเขา เป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image