ถนนยางพังใครผิด? เมื่อ ‘สูตร’ ที่ปิดควรเปิดเผย ท้าพิสูจน์ความโปร่งใส

สภาพถนนพาราซอยล์ซีเมนต์สายบ้านคำม่วน-บ้านป่าก้าว หมู่ 3 ต.โพนสูง อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เคยปรากฏเป็นข่าวร้องเรียน ล่าสุดผู้รับเหมาเข้าไปแก้ไขแล้ว

ไม่ต้องรอให้น้ำจากอุทกภัยลด “ตอ” ก็ผุดขึ้นมา (นาน) แล้ว

เปล่าเลย ไม่ได้หมายถึง “ตอ” ที่แปลว่าโคนของต้นไม้ที่ลำต้นถูกตัดหรือหักลงแล้ว แต่เปรียบเปรยถึง “ถนนยางพารา” ที่ก่อสร้างขึ้นตามนโยบายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งบางแห่งพังเละเทะหลังการก่อสร้างเสร็จราว 1 เดือน บางแห่งเสียหายจากฝนตกในพื้นที่เพียงไม่กี่วัน จนรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้

ปัญหาดังกล่าวปรากฏข้อร้องเรียนตามหน้าสื่อเรื่อยมา บ้างก็ว่ามีการ ล็อกสเปก โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เป็นผลสืบเนื่องจากเดือนธันวาคม 2561 รัฐบาลในขณะนั้นประกาศเดินหน้าโครงการดังกล่าว โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนที่มีความหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร ด้วยหวังให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น

Advertisement

ทว่า ผู้ประกอบการหลายรายไม่นิ่งเฉย กว่าสิบชีวิตได้รวมตัวกันที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เสนอหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม และเรียกร้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้เกี่ยวข้องกับการเขียนหลักเกณฑ์ทดสอบน้ำยางทำถนน แสดงให้เห็นถึงการเอื้อประโยชน์กับบางบริษัท พร้อมขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลในการเปิดให้ผู้รับเหมารายเล็กเข้าร่วมประมูลการทำถนน และยกเลิกหลักเกณฑ์ประกาศประกวดราคา 3 ข้อ คือ

1.ต้องมีเอกสารรับรองการใช้น้ำยางพาราผสมสารเพิ่มที่ได้มาตรฐานจากบริษัท หรือหน่วยงานที่ผ่านมาตรฐานการตรวจรับรองรองมาตรฐานวัสดุ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม (กรณีแต่งตั้งตัวแทน)

2.เอกสารรับรองคุณสมบัติน้ำยางพาราผสมผสารผสมเพิ่มว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามระบุในคู่มือควบคุมคุณภาพน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม จากที่คณะกรรมการตรวจรับรองมาตรฐานวัสดุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Advertisement

และ 3.เอกสารรับรองว่าน้ำยางพาราผสมผสารผสมเพิ่มผลิตจากโรงงานที่ดีรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 มีกระบวนการผลิตที่ได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำยาง

ร้อนถึง ณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. ต้องรีบออกมาชี้แจง พร้อมยืนยันหนักแน่น ไม่มีการล็อกสเปกแต่อย่างใด

รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี

“เบื้องต้น มีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 11 บริษัท แต่ในขณะนี้มีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเชิงวิศวกรรมที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมทางหลวงทั้งสิ้น 5 บริษัท ส่วนอีก 6 บริษัทที่เหลือทาง กยท.ได้เข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำยางในเบื้องต้นแล้ว แต่ต้องรอให้ผ่านคุณสมบัติเชิงวิศวกรรมก่อนถึงจะเข้าร่วมโครงการได้อย่างถูกต้องต่อไป และมั่นใจว่าทั้ง 5 บริษัทที่ผ่านคุณสมบัติแล้วมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้แน่นอน” รองผู้ว่าการ กยท.กล่าว

ยืนยันถนนพังไม่ใช่สูตรของสถาบัน

ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะอีกหนึ่งบุคคลสำคัญอย่าง รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสากรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมงานวิจัย “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ตั้งแต่ปลายปี 2556 ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ยังได้รับการจดอนุสิทธิบัตร เลขที่ 11828 ตั้งแต่ปี 2559 ก็ออกอาการร้อนๆ หนาวๆ ไปด้วย

ไม่นานมานี้ รศ.ดร.ระพีพันธ์นำเอกสารจำนวนหนึ่งเพื่อชี้แจงกับ มติชน ว่า ต้นเหตุของถนนยางพาราพังตามที่ปรากฏในสื่อมิใช่การผสมตามสูตรของ มจพ.แต่อย่างใด นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้บริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เปิดเผยส่วนประกอบ พร้อมดำเนินการสอบสวนที่มาที่ไปของโครงการอย่างจริงจัง

“โครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ของ มจพ.มีการทำแล็บนานกว่า 2 ปี จากนั้นในปีที่ 3 เราถึงเริ่มทำถนนต้นแบบ เพราะมั่นใจว่า 2 ปีที่ทำมาได้รับทราบพฤติกรรมของยางพาราที่มาใส่ทำถนนแล้ว ถ้าอธิบายตามหลักวิชาการง่ายๆ คือ โดยปกติของยางพารา ดิน และซีเมนต์ จะไม่เข้ากัน จำเป็นต้องมีสารผสมเพิ่มหรือน้ำยาดัดแปร เพื่อดัดแปรโครงสร้างของยางพาราให้เข้ากับซีเมนต์ เราไล่ตามสเต็ป ดังนั้น จึงมั่นใจว่าถนนที่ทำมาจะไม่พัง เพราะโครงสร้างทางเคมีของยางมีความเป็นพิเศษ และการทำถนนประเภทนี้ไม่ใช่ว่าเอาอะไรเทๆ ลงไปแล้วใช้ได้หมด

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ มจพ.ไม่ได้ลงไปทำถนนทางภาคใต้เลย แต่ถนนพังหมด เมื่อถนนพังหมด เขาบอกว่าเป็นถนนยางพาราของ มจพ. ซึ่งเรายืนยันว่าถ้าเป็นถนนยางพาราของ มจพ.ที่ทำจริงจังคือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ยาวกว่า 20 กิโลเมตร ขอให้ไปดูได้ว่าถนนพังหรือไม่ หรือมีปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ ดังนั้น หากทำงานด้วยความถูกต้อง ควรเปิดเผยว่าน้ำยาเหล่านั้นคืออะไร ใส่ไปเท่าไหร่ โครงสร้าง คุณสมบัติเป็นอย่างไร ต่างจาก มจพ.ที่เปิดเผยชัดเจนว่าเราใส่อะไรลงไปบ้าง”

อาจารย์ผู้บุกเบิกนวัตกรรมกล่าว ก่อนเน้นย้ำใน 3 สิ่งที่ต้องการว่า 1.ต้องดำเนินการสอบสวนที่มาที่ไปของโครงการนี้ซึ่งมิชอบ เพราะไม่มีหลักวิชาการ ไม่มีงานวิจัยรับรอง นอกจากนี้ยังมาเป็นนโยบายของรัฐซึ่งนำมาใช้งานแล้วเกิดปัญหา แม้ตอนนี้ถือว่ายังไม่เยอะ แต่หากท้องถิ่นทั้งหมดนำไปใช้ อาจเกิดความเสียหายหลักพันล้านบาท

2.ให้บริษัทเหล่านั้นระบุสูตร หรือส่วนผสมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ผู้ใช้รู้ว่าใส่อะไรลงไปบ้าง มิฉะนั้นคนที่กลายเป็นเหยื่อจริงๆ คือผู้รับเหมาและนายช่างของท้องถิ่นทั้งหมด

และ 3.ต้องการให้การคิดราคา หมายถึงราคามาตรฐานของถนนประเภทนี้โน้มน้าวให้เกษตรกรที่เข้ามาอยู่ในโครงการได้ราคาเพิ่มขึ้น สามารถลืมตาอ้าปากได้ และจูงใจให้เกษตรกรนำยางพาราเข้ามาร่วมโครงการ

การทำถนนตามขั้นตอนของของ มจพ.

เมื่อการไร้ชื่อใน ‘กรรมการ’ ไม่ใช่เหตุแห่งปัญหา?

ทั้งนี้ หากอ้างอิง คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 674/2560 พบว่า มีการแต่งตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการศึกษาด้านการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง ต่อมามี คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 347/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ” และไม่มีชื่อ มจพ.เป็นหนึ่งในกรรมการแล้ว

รศ.ดร.ระพีพันธ์อธิบายว่า ส่วนหนึ่งที่มีปัญหาเพราะเมื่อ มจพ.ลงไปทำถนนทุกแห่งทั่วประเทศจะใช้ น้ำยางสด จากชาวบ้านที่นำมาส่งให้สหกรณ์ ทว่า กยท.กลับบอกว่าน้ำยางสดมีปัญหา ต้องใช้ น้ำยางข้น ซึ่งน้ำยางข้นมีต้นทุนแพงกว่าราว 35-40 เปอร์เซ็นต์

“ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นในสูตรของ มจพ. จึงมีการนำสูตรเทียบเคียงประมาณ 3-4 สูตร แล้วให้ผู้อื่นทดสอบ ซ้ำร้ายกว่านั้น แทนที่เขาจะคิดสูตรหรือทดสอบเอง กลับให้เอกชนเข้ามา ณ วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่ได้รับผลทดสอบอย่างเป็นทางการ รู้ตัวอีกทีคือเขาตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาเป็นมาตรฐานแล้ว” อาจารย์แห่ง มจพ.กล่าว

ขณะที่ ณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการ กยท. ชี้แจงต่อจาก รศ.ดร.ระพีพันธ์ว่า ถนนจะมีความแข็งแรงหรือทนทานตามมาตรฐานขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.วัสดุที่ใช้ได้มาตรฐานหรือไม่ เช่น น้ำยางผสมสารผสมเพิ่ม (พรีเบลนด์) หรือตัวสารผสมเพิ่ม (สูตรแบบ มจพ.) 2.สัดส่วนการผสม ได้แก่ Jobmix ซึ่งกำหนดตามชนิดของดินในพื้นที่ที่จะดำเนินการ และ 3.วิธีการทำถนนได้ตามมาตรฐานหรือไม่ เช่น การใช้รถเกรดต้องใช้คนที่มีความชำนาญเพียงพอในการผสมหน้างาน รวมทั้งสภาพขณะที่ทำต้องไม่มีฝนตก

ณพรัตน์ระบุว่า ในการรับรองนี้ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องใช้น้ำยางพรีเบลนด์เพียงอย่างเดียว สามารถใช้แบบที่ผสมหน้างานตามแบบของ มจพ.ได้ แต่สารผสมเพิ่มนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ซึ่ง มจพ.ไม่ได้มาขอยื่นการรับรอง ทั้งนี้ ในการดำเนินการ หาก มจพ.ยืนยันว่าถนนที่ทำจากสูตร มจพ.แข็งแรงตามที่ว่าก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องสามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม โดยจะใช้สูตรไหนหรือวิธีการใดก็ได้ หากผ่านตามเกณฑ์กำหนดที่ในคู่มือก็สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ประเด็นที่ มจพ.ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ รองผู้ว่าการ กยท.ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานคู่มือมาจากกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง โดยคณะกรรมการพิจารณามาจากหน่วยราชการเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในขณะนั้น มจพ.ได้มีการจำหน่ายสารผสมเพิ่มในทางการค้า จึงไม่ได้เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการ

ตัวอย่างถนนยางพารา

‘ยางไทยไปไหน?’ โครงการใหม่ที่ควรมี

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้บุกเบิกนวัตกรรมงานวิจัยถนนยางพาราดินซีเมนต์ รศ.ดร.ระพีพันธ์ให้ข้อมูลว่า ณ ปัจจุบันนี้ได้ลงไปสร้างถนนในพื้นที่ต่างๆ ยกเว้นทางภาคใต้ อาทิ จ.เชียงใหม่ ตาก ลำปาง อุตรดิตถ์ หนองบัวลำภู บึงกาฬ ขอนแก่น จันทบุรี ฯลฯ และทุกแห่งไร้ปัญหาใดๆ ตามมา โดยถนนความยาว 1 กิโลเมตร กว้าง 6 เมตร ใช้น้ำยางพาราสดจำนวน 12,000 กิโลกรัม หรือ 12 ตัน

นอกจากนี้ยังพัฒนาผิวถนนกันลื่นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลิตบล็อกปูทางเท้า ตลอดจนคอนกรีตมวลเบาที่พัฒนาต่อเนื่องจากยางพารา

เมื่อลองถามว่า มีโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราไทยเช่นนี้ ควรรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกยางเพิ่มเติมหรือไม่? เขากล่าวเสียงดังฟังชัด ไม่ควร เนื่องจากการบริหารจัดการวัตถุดิบยังไม่ดีพอ ที่สำคัญยังแนะนำให้ตั้งโครงการเพื่อสืบหาว่า ยางไทยไปไหน?

“หากเราทำได้จริงๆ ก็จะรู้ว่าใครที่เป็น ‘ผู้ใช้งาน’ ยางพาราในไทย ทุกวันนี้กว่ากลไกของยางราพาราจะไปถึงผู้ใช้งานจริงมีประมาณ 4-5 ต่อ ไล่ตั้งแต่เกษตรกรส่งไปที่สหกรณ์ สหกรณ์ขายให้บริษัท บริษัทนำไปแปรรูปเบื้องต้น จากนั้นส่งต่อไปที่บริษัทส่งออก ก่อนจะชิปไปที่ท่าเรือ หลังจากนั้นจะมีโบรกเกอร์ต่อไปอีก และสุดท้ายถึงเป็นผู้ใช้งาน ดังนั้น เฉพาะรูทที่ไปก็ยาวแล้ว ถ้าบวกเพิ่มทีละ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าเพิ่มไป 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

“ฉะนั้น การบริหารจัดการของรัฐควรรู้ว่าเขาใช้ยางพาราของเราเท่าไหร่ หากใช้ยางแล้วราคาสมเหตุสมผล ก็ไม่ต้องไปยุ่ง รัฐบาลควรหันไปดูที่เกษตรกร เขาแทบไม่เหลืออะไรเลย” รศ.ดร.ระพีพันธ์เน้นย้ำ

แม้จะมีการชี้แจงชัดเจนว่า “ไม่มีการล็อกสเปก” บริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติแต่อย่างใด ทว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการ “เปิดเผย” สูตรหรือส่วนผสมดังกล่าว ที่สำคัญ มติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณกว่า 2.5 พันล้านบาท ดำเนินโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 670 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,744.138 กิโลเมตร แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

จากนี้คงต้องติดตามว่า หากสถานการณ์น้ำจากอุทกภัยทั่วประเทศคลี่คลาย จะมี “ตอ” ผุดขึ้นที่ไหนอีก และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image