คอลัมน์ไฮไลต์โลก: สู้เพื่อสิทธิลาเลี้ยงลูกของผู้ชายญี่ปุ่น

Getty Images

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาพนักงานชายชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง วัย 38 ปี ยื่นฟ้องต่อศาลกรุงโตเกียวให้ดำเนินคดีกับนายจ้างที่เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าประเภทกีฬารายใหญ่ของญี่ปุ่น ในข้อหากลั่นแกล้งลูกจ้าง หลังจากพนักงานชายรายนี้ใช้สิทธิการลาเพื่อดูแลบุตร (Paternity leave)

พนักงานชายรายนี้อ้างว่าเขาถูกบริษัทนายจ้างกลั่นแกล้ง หลังจากเขาใช้สิทธิการลาเพื่อดูแลบุตรตามกฎหมาย จำนวน 2 ครั้ง คือในปี 2558 และอีกครั้งในปี 2561 แต่ละครั้งใช้สิทธิลานาน 1 ปี โดยแม้เขาจะถูกชาวเน็ตโจมตีว่าเห็นแก่ตัวเกินไปในการใช้สิทธิลางานเต็มสูบ แต่เจ้าตัวยืนยันว่าเป็นการใช้สิทธิลาอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

โดยหลังจากเขากลับมาทำงานตามปกติหลังจากใช้สิทธิลาดูแลบุตรครั้งแรก เขาถูกโอนย้ายให้ไปทำงานที่คลังสินค้าของบริษัท ซึ่งเจ้าตัวชี้ว่าแม้จะไม่ได้เป็นการลงโทษด้วยการลดตำแหน่งหรือตัดเงินเดือน แต่การต้องไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแบกของ หิ้วกล่องหนักๆ ก็ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่สำหรับเขา จากตำแหน่งหน้าที่เดิมที่เขาทำงานอยู่ในแผนกบุคคล

หลังจากการว่าจ้างทนายสู้และยื่นร้องเรียนต่อนายจ้าง ทางบริษัทก็ยอมให้เขากลับมานั่งโต๊ะทำงาน แต่ก็มอบหมายงานที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรให้ทำ สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนั้นจนกระทั่งเขากลับมาจากการใช้สิทธิการลาเลี้ยงลูกเป็นครั้งที่ 2 ที่สิ้นสุดลงเมื่อต้นปีนี้

Advertisement

พนักงานชายรายนี้ชี้ว่า การได้รับการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการกลั่นแกล้งและทำให้ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบริษัทนายจ้าง

กรณีนี้เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ซึ่งสะท้อนถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิของลูกจ้างในประเทศญี่ปุ่น ที่แม้ญี่ปุ่นจะมีกฎหมายที่ให้สิทธิการลาเพื่อดูแลบุตรของทั้งผู้หญิงและผู้ชายชาวญี่ปุ่นได้นานถึง 1 ปีโดยยังได้รับเงินเดือนส่วนหนึ่งอีกด้วยก็ตาม แต่ในส่วนของการใช้สิทธิลาดูแลลูกของผู้ชายในสังคมญี่ปุ่นนั้นถือว่ายังมีการใช้สิทธิอยู่น้อยมาก จนทำให้บางครั้งบางกรณี การใช้สิทธิลาดังกล่าวอย่างเต็มที่ของผู้ชาย ก็อาจจะถูกมองผิดแปลกไปจากการมีทัศนคติเชิงลบได้ เนื่องจากบรรทัดฐานทางสังคมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นมักโยนภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกและดูแลงานบ้านไปที่ผู้หญิงเป็นหลักมากกว่าที่จะให้ผู้ชายช่วยแบ่งปันภาระหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้

นอกจากกรณีของพนักงานชายรายนี้ที่ยื่นฟ้องนายจ้างเรื่องสิทธิการลาเพื่อดูแลลูกแล้ว ยังมีอีกหลายกรณีที่ยื่นฟ้องนายจ้างเกี่ยวกับการใช้สิทธิลาเพื่อดูแลบุตรในสังคมญี่ปุ่น จนทำให้มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นคือคำว่า พาตะฮาระ (Patahara) ที่เป็นคำย่อจากคำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่าการกลั่นแกล้งหรือการคุกคามความเป็นพ่อ ล้อไปกับคำว่า มาตะฮาระ (Matahara) ที่เป็นการกลั่นแกล้งหรือคุกคามความเป็นแม่ของผู้หญิงทำงานในญี่ปุ่น

Advertisement

จากฐานข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่า ในปีที่แล้ว มีชายชาวญี่ปุ่นที่เป็นคุณพ่อ ใช้สิทธิการลาดูแลลูกเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และส่วนใหญ่จะใช้สิทธิลากันไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีอัตราผู้ชายใช้สิทธิลาเลี้ยงลูกเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่แม้การใช้สิทธิลาเลี้ยงลูกของคุณพ่อชาวญี่ปุ่นจะถือว่ามีเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะมีชายชาวญี่ปุ่นใช้สิทธิลาเพื่อดูแลลูกถึง 13 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563

หลายกรณีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนี้ จึงอาจเป็นเพียงบทเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรมของผู้ชายญี่ปุ่น ที่อาจจะทำให้ได้เห็นผู้ชายในญี่ปุ่นใช้สิทธิลาเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกหลังคลอดกันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image