คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : ความอภิมหาอลังการ ของ “สนามบินต้าซิง”

จีน เพิ่งจะมีการเปิดตัวสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ คือ “สนามบินต้าซิง” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตต้าซิง ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง หลังจากสนามบินนานาชาติปักกิ่ง ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถูกใช้งานเต็มอัตรา จนไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากไปกว่านี้ ทำให้สูญเสียโอกาสในการรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

โดยในปี 2018 มีผู้เดินทางกว่า 100 ล้านคนที่เดินทางผ่านทางสนามบินนานาชาติปักกิ่ง ที่มีอยู่ทั้งหมด 3 เทอร์มินัลด้วยกัน ทำให้สนามบินนานาชาติปักกิ่ง กลายเป็นสนามบินนานาชาติที่มีผู้เดินทางมาใช้บริการมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสนามบินฮาร์ทส์ฟีลด์-แจ็คสัน แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนามบินแอตแลนตา

จึงกลายเป็นที่มาของการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เพื่อรองรับจำนวนนักเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น

โดยสนามบินต้าซิงนั้น ออกแบบมาให้เป็นสนามบินขนาดใหญ่ อาคารเทอร์มินัลถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นอาคารเทอร์มินัลอาคารเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีรันเวย์มากถึง 8 รันเวย์

Advertisement
(Photo by Chen Xiao/VCG via Getty Images)

โดยการก่อสร้างสนามบินต้าซิง เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ด้วยงบประมาณที่สูงถึง 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่สื่อมวลชนในจีน ให้สมญานามสนามบินแห่งนี้ว่า “ปลาดาว” เนื่องจากโครงสร้างของอาคารมีลักษณะคล้ายกับปลาดาว ที่แยกออกเป็นแฉกๆ 5 แฉก เชื่อมต่อเข้าห้องโถงกลางใหญ่ เป็นการออกแบบที่ต้องการให้ผู้เดินทางลดระยะทางในการเดินให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากมีสนามบินใหญ่หลายแห่งที่ออกแบบมามีทางเดินที่ยาวเกินไป

ซึ่งทางการท่าอากาศยานจีนให้คำมั่นว่า ระยะทางในการเดินระหว่างด่านตรวจกับเกตที่ไกลที่สุด จะไม่เกิน 600 เมตร

Advertisement

ขณะที่ระยะทางจากจัตุรัสเทียนอันเหมินกับสนามบินต้าซิง อยู่ที่ราว 50 กิโลเมตร ซึ่งทางการปักกิ่งยืนยันว่า จะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

สำหรับการรองรับผู้โดยสารของสนามบินต้าซิงนั้น คาดว่า ภายในปี 2021 สนามบินต้าซิงจะสามารถรองรับนักเดินทางได้มากถึง 45 ล้านคนต่อปี และตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคน

เป้าหมายของจีน คือ การขึ้นเป็นอันดับ 1 ของสนามบินที่รองรับนักเดินทางมากที่สุดในโลก ภายในปี 2022!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image