คิดถึง SOAS (ตอนจบ) โดย ลลิตา หาญวงษ์

นักศึกษาที่ถูกส่งไปเรียนภาษาที่โซแอสระหว่างสงคราม ถ่ายที่หน้าอาคารเรียนกลาง (Main College Building) ซึ่งยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน (ภาพจากห้องสมุดโซแอส)

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนใช้อภิสิทธิ์การเป็นเจ้าของคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” เล่าเรื่องที่ไม่ค่อยจะ “พม่า” เท่าใดเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้ห่างจากเรื่องพม่าๆ ที่ผู้อ่านติดตามกันมากนัก เพราะสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนเรียนจบมา (วิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกันศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน หรือ “โซแอส”) เคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ทั้งเอเชียศึกษาและแอฟริกาศึกษา (รวมภาษาพม่าด้วย) มาตั้งแต่ปี 1917 หรือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศอดีตอาณานิคมทั่วโลกได้รับเอกราช ศูนย์กลางจักรวาลย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา อาณาบริเวณศึกษาได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากความต้องการของสหรัฐอเมริกาเพื่อ “รู้เขา-รู้เรา” และสานสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ในบริบทของความหวาดระแวงในยุคสงครามเย็น แน่นอน สมรภูมิการรบหลักตลอดสงครามเย็นอยู่ในเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ
ยิ่งสำหรับสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลสหรัฐทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขึ้นในทศวรรษ 1950 เริ่มที่มหาวิทยาลัยเยล และมหาวิทยาลัยคอร์แนล

แต่ก่อนที่จะเกิดกระแสการตื่นตัวในการเรียนการสอนด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสหรัฐอเมริกา โซแอสเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมในเอเชียและแอฟริกามาตั้งแต่ปี 1917 แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น บทบาทของโซแอสเปลี่ยนไป จากเดิมเป็นวิทยาลัยเพื่อสอนภาษาให้กับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปประจำในอาณานิคมของอังกฤษทั่วโลก กลายเป็นที่ฝึกภาษาของเจ้าหน้าที่และทหารจำนวนมากที่จะถูกส่งไปร่วมรบทั้งในหลายสมรภูมิทั่วทั้งเอเชีย และอีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือการเป็นหูเป็นตาให้ทางการอังกฤษ เพื่อคอยเซ็นเซอร์จดหมายภาษาแปลกๆ ที่ส่งไปที่อังกฤษ เมื่อเกิดสงครามขึ้น ฝ่ายบริหารโซแอสยื่นคำร้องต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอเพิ่มงบประมาณประจำปีทันที เพราะมหาวิทยาลัยต้องรับผู้เชี่ยวชาญภาษา 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น ตุรกี และอารบิค อันเป็นภาษา “แปลก” ที่สำคัญสูงสุดในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามในเอเชียเริ่มขึ้นในปี 1942 บุคลากรของโซแอสเป็นกำลังหลักที่ช่วยสอนทหารและเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปร่วมรบในเอเชียและแอฟริกา การเพิ่มผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า มาเลย์ อูรดู (ภาษาทางการของปากีสถาน) และภาษาแอฟริกันบางภาษา เป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับโซแอส แต่ในมุมมองด้านการทหารในขณะนั้น การรบที่หน่วยหน้ามีความสำคัญกว่าการฝึกภาษาเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ระหว่างปี 1940-1941 มีทหารและเจ้าหน้าที่จากกองทัพอังกฤษฝึกภาษากับผู้เชี่ยวชาญจากโซแอสเพียง 135 คน ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยกล่าวกับกองทัพอย่างขมขื่นว่ารัฐบาลอังกฤษยังขาดผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นจำนวนมาก จนเมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ตกเป็นของญี่ปุ่นในปลายปี 1941 แล้ว กองทัพจึงเริ่มส่งคนเข้าไปเรียนภาษาญี่ปุ่น และภาษาที่จำเป็นสำหรับสงครามมหาเอเชียบูรพาอื่นๆ โดยเฉพาะภาษาจีนกลาง

จำนวนทหารที่เข้ารับการฝึกภาษาที่โซแอสเพิ่มขึ้นจนเกือบแตะ 2 พันคนในปี 1943 แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ คณะกรรมการด้านการศึกษาและแผนกสงคราม (War Office) จึงริเริ่มให้ทุนการศึกษาเด็กชายอายุระหว่าง 17-18 ปี จำนวน 74 คน เพื่อฝึกภาษาตุรกี เปอร์เซีย จีนกลาง และญี่ปุ่น ที่โซแอส ทุกวันเด็กหนุ่ม 74 คนจะเดินทางจากวิทยาลัยดัลลิช (Dulwich College) ทางตอนใต้ของลอนดอน ไปเรียนภาษาที่โซแอสซึ่งตั้งอยู่ใจกลางลอนดอน เรียกชายหนุ่มกลุ่มนี้ว่า “หนุ่มดัลลิช” (Dulwich Boys) ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปที่ปฏิบัติงานในประเทศเหล่านี้ หนุ่มดัลลิชหลายคนกลายเป็นครู อาจารย์ นักการทูต และเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาตะวันออกในเวลาต่อมา

Advertisement

การเรียนการสอนภาษาที่โซแอสในช่วงสงครามเป็นภาระที่หนักอึ้งทั้งกับผู้เรียนและผู้สอน แม้โซแอสจะสามารถเจรจากับรัฐบาลเพื่อขออัตราผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นหลายอัตราจากรัฐบาลได้ แต่ก็มีอาจารย์ที่ลาออกด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และมีบางคนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนัก พักผ่อนน้อยจนเกินไป ผู้บริหารโซแอสย้ำกับรัฐบาลอังกฤษว่าการเรียนภาษาเป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป และกว่าที่ผู้เรียนจะฝึกทักษะภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่รัฐบาลต้องการให้ผู้เรียนฟังพูดอ่านเขียนภาษาญี่ปุ่นเทียบเท่าชาวญี่ปุ่นในเวลาเพียง 1 ปี สร้างภาระที่หนักอึ้งให้ผู้สอนภาษาญี่ปุ่นที่โซแอสในยุคนั้นมาก เพราะต้องสอนติดๆ กัน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน

เมื่อสำเร็จการศึกษา “หนุ่มดัลลิช” ส่วนใหญ่ถูกส่งไปประจำที่อินเดีย ในแผนกสอบสวนและศูนย์การแปลที่นิวเดลี ว่ากันว่าบทบาทของหนุ่มดัลลิชในการสอบสวนนักโทษ ดักฟังวิทยุสื่อสารของญี่ปุ่น และการแปลเอกสารที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดได้จากทหารญี่ปุ่นมีคุณูปการอย่างสูงไม่ให้ญี่ปุ่นรุกผ่านโคฮิมา (Kohima) และอิมพัล (Imphal) ทางตะวันตกของอินเดีย เพื่อเข้าไปยึดอินเดียส่วนในได้ และยังช่วยให้อังกฤษกลับเข้าไปยึดพม่าได้ในปี 1944 เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง หนุ่มดัลลิชหลายคนกลายเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น เช่น ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ อดีตประธานบริษัท
รถไฟอังกฤษ ที่ต่อมาจะรับตำแหน่งประธานบริษัทมิตซูบิชิแห่งยุโรป, ฮิวฮ์ คอร์ตาซซี่ (Hugh Cortazzi) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำญี่ปุ่นระหว่างปี 1980-1984 และอีกมากมาย

ภารกิจที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของโซแอสในบรรยากาศของสงคราม นอกเหนือจากการฝึกภาษาให้บุคลากรของกองทัพก่อนถูกส่งไปประจำทั่วเอเชีย ยังมีการแปลเอกสารภาษาที่มีมีผู้รู้น้อย 23 ภาษาจากเอเชียและแอฟริกา แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ วัสดุที่ถูกพบเห็นได้บ่อยและถูกแปลออกมามากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และจดหมายที่พ่อค้าทางเรือเขียนเล่าวัน-เวลาออกเรือ เส้นทางการขนส่ง และการหายสาบสูญของเรือสินค้าบางลำ แน่นอน งานในลักษณะนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายและกินเวลามาก โซแอสไม่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที จึงต้องจัดฝึกอบรบภาษาที่ 3 (หรือมากกว่านั้น) ให้อาจารย์ที่โซแอสมีอยู่แล้ว ในปี 1945 มีบันทึกว่าอัลเฟรด มาสเตอร์ (Alfred Master) อาจารย์สอนภาษาศาสตร์อินเดียของโซแอสเคยอ่านจดหมายมาแล้ว 6,713 ฉบับ จาก 13 ภาษา! ตลอดสงคราม มีผู้เชี่ยวชาญ 121 คนทั้งภายในและภายนอกโซแอสที่ทำหน้าที่อ่านเอกสารภาษาต่างๆ มากถึง 192 ภาษา และคนเหล่านี้อ่านเอกสารไปทั้งหมด 32,312 ฉบับ

Advertisement

ที่ผู้เขียนประกาศเกียรติคุณโซแอสมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสงคราม แต่เพียงอยากกล่าวถึงว่าการเรียนภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะนอกภูมิภาคของเรานั้นมีความจำเป็นตลอดมา แต่ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนไม่ต้องการหาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว หรือมีตัวเลือกในการเรียนภาษาหลากหลายขึ้น มหาวิทยาลัยที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างโซแอสจึงลดบทบาทของตนลง หรือในภาษาของผู้บริหารการศึกษาคือ “ทำเงินได้น้อยลง” สักวันหนึ่งหากมหาวิทยาลัยที่อุทิศตนให้กับการเรียนการสอนด้านเอเชียศึกษาและแอฟริกาศึกษาแห่งนี้ต้องปิดตัวลง หรือถูกควบรวมกับมหาวิทยาลัยอื่นที่ใหญ่กว่าก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image