รื่นร่มรมเยศ : กรรมสนองกรรม โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ทุกเช้าพระองค์จะเสด็จออกไปโปรดสัตว์ (ออกบิณฑบาต) พร้อมเหล่าสาวก ผ่านบ้านของคนฆ่าหมูขายคนหนึ่งชื่อจุนทสูกริก ความจริงแกนามสกุลอื่น แต่เนื่องจากแกฆ่าหมูประจำชาวบ้านจึงเรียกขานแกว่า “สูกริก” แปลว่าผู้ฆ่าหมู

ข้าวแม้ทัพพีเดียว นายจุนทะไม่เคยใส่บาตรพระ เรียกได้ว่า “ปิดประตูสวรรค์” สนิทเลยทีเดียว

นายจุนทะแกมีรสนิยมวิตถารพอใช้ คือแกชอบกินหมูหัน หมูหันที่ว่านี้แกทำพิสดารไม่เหมือนคนอื่น แกจะเลือกเอาหมูรุ่นๆ กำลังพอดีๆ มาฆ่า โดยวิธีใช้ค้อนทุบไม่ให้เลือดออก เมื่อมันตายแล้วก็จะทุบทั่วทั้งร่างให้น่วมไปหมดแล้วเอาน้ำร้อนกรอกปาก หรือเอาขี้ออกจนสะอาด แล้วก็เอาน้ำร้อนลวกทั้งตัว ขูดขนออกให้หมดแล้วนำไปย่างจนสุกได้ที่แล้วก็นำไปนั่งกินต่อหน้าบุตรภรรยา

ธรรมเนียมแขก ยังไงๆ ก็ถือว่าเมียเป็นคนคอยปรนนิบัติรับใช้ ไม่ยอมให้นั่งกินข้าวด้วย ให้กินหลังจากสามีกินข้าวเสร็จแล้ว จนมีคนพูดคำพังเพยให้ฟังว่า “วัวลังกา ม้าอินเดีย เมียฮินดู” คือที่ลังกาใช้วัวลากเกวียนเสียจนผอม ที่อินเดียไม่ใช้วัว เพราะวัวถือว่าเป็นพาหนะพระเจ้า แต่ใช้ม้าผอมๆ แทน

Advertisement

ส่วนผู้หญิงฮินดูนั้นไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม แต่งงานแล้วก็ไปอยู่รับใช้สามีและพ่อแม่สามี ใครไม่สามารถมีลูกชายให้ตระกูลสามี อาจถูกเฉดหัวออกจากตระกูลก็ได้ ถูกเขาไล่ไม่รู้จะไปไหนกลับบ้านเดิม พ่อแม่ก็ไม่รับกลับ เพราะตอนแต่งงานนั้นพ่อแม่เอาน้ำล้างหัวกะไดบ้าน ไล่เสนียดจัญไรเรียบร้อยแล้ว

เฮ้อ! พูดแล้วกลุ้ม เล่าเรื่องต่อดีกว่า

หลายปีผ่านไป นายจุนทะก็เพลินอยู่กับการฆ่าหมูขาย เสียงหมูกำลังถูกทุบร้องทุกเช้าๆ จนชินหูคนเดินผ่านไปผ่านมา เรียกว่ากลายเป็น “สัญลักษณ์” ของตรอกนั้นเลยก็ว่าได้

Advertisement

เช้าวันหนึ่งตรงกับวันพระ พระสงฆ์ออกบิณฑบาตเดินผ่านบ้านนายจุนทะได้ยินเสียงหมูร้องเหมือนกำลังโดนฆ่าเช่นเดิม กลับไปถึงพระเชตวัน พระเหล่านั้นไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่า นายจุนทะแกสร้างแต่กรรมชั่ว ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้กระทั่งวันพระก็ไม่เว้น

พระพุทธองค์ทรงรู้ด้วยญาณ ตรัสบอกเหล่าสาวกว่า

“เสียงร้องที่พวกเธอได้ยินนั้น มิใช่เสียงหมูกำลังถูกฆ่า แต่เป็นเสียงของนายจุนทะเอง”

“แต่เป็นเสียงหมูนะ พระเจ้าค่ะ” เหล่าสาวกค้าน

“ใช่ ร้องออกมาเป็นเสียงหมู แต่ออกจากปากของนายจุนทะ พวกเธอคงไม่รู้ว่าเมื่อคืนนี้นายจุนทะป่วยหนัก จนเพ้อร้องเป็นเสียงหมูกำลังถูกฆ่าทั้งคืน และจะร้องอยู่อย่างนี้ไปอีกหลายวัน”

จริงดังพระพุทธองค์ว่า นายจุนทะแกป่วยหนักจนเพ้อคลานสี่ขาร้องเหมือนหมูถูกทุบหัว เป็นที่น่าเวทนาของบุตรภรรยาและญาติมิตรทั้งหลาย

ประชาชนที่ทราบเรื่องต่างอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า

“เวรกรรมตามสนอง” ไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร ได้แต่ปลงธรรมสังเวช

แกคลานสี่ขาร้องเป็นหมูถูกฆ่าอยู่ 7 วัน จึงสิ้นลมไปอย่างทรมาน

ตายไปแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่าไปเกิดในนรกหมกไหม้ ใช้เวรใช้กรรมอยู่ ป่านนี้พ้นหนี้กรรมหรือยังก็ไม่ทราบ พระพุทธองค์ทรงปรารภเรื่องนี้ให้พระสงฆ์และประชาชนฟังในวันหนึ่ง ได้ตรัสพระธรรมเทศนา พูดง่ายๆ ว่าได้เทศน์ให้ฟังสั้นๆ ว่า

อิธะ โสจะติ เปจจะ โสจะติ

ปาปะการี อุภะยัตถะ โสจะติ

โส โสจะติ โส วิหัญญะติ

ทิสะวา กัมมะกิลิฏฐะมัตตะโน

เขียนบาลี (สะกดแบบไทย) ให้ขลังไปยังงั้นเอง เชื่อว่าท่านอ่านแล้วก็แปลไม่ออก นอกจากจะเป็นมหาเปรียญ ขอยกคำแปลเป็นกลอน (ซะด้วย) ดังนี้ครับ

ผู้ทำบาปเศร้าโศกในโลกนี้

วายชีวีโศกเศร้าไม่เบาหนา

ย่อมโศกเศร้าหม่นหมองสองโลกา

ไม่สร่างซาโศกีทวีคูณ

เขาเห็นกรรมเศร้าหมองไม่ผ่องแผ้ว

ของตนแล้วสุขหายสลายสูญ

ย่อมเดือดร้อนโศกาแสนอาดูร

ไม่ไพบูลย์พูนสุขต้องทุกข์ทน

คำแปลนี้เป็นของพระมหาชัย รัตสุชาโต ผมคัดลอกมาจากหนังสือ “คาถาพระธรรมบทคำกลอน” ถึงแปลไม่ไพเราะดังเช่นบทกวีของกวีเอกทั้งหลาย ก็ได้ใจความครับ

คนทำบาปทำกรรมไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือละโลกนี้ไปแล้วก็โศกเศร้าทั้งสองสถาน ขณะยังมีชีวิตอยู่ก็ดูเหมือนจะมีความสุขมีเงินมีทองมีเกียรติยศคนนับหน้าถือตา แต่ในส่วนลึกของจิตใจแล้ว คนพวกนี้หาความสุขไม่ได้ นั่งที่ไหน นอนที่ไหน ก็ผวากลัวคนจะมายิง

ไม่เห็นหรือครับ เจ้าพ่อทั้งหลายเวลาไปไหนมีบอดี้การ์ดติดตามเป็นพรวน ล้วนแต่นักแม่นปืนทั้งนั้น สุขสบายที่ไหนเล่า ไม่รู้จะโดนถล่มเอาเมื่อไหร่

หม่อมถนัดศรี (ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) ท่านกล่าวว่า วันหนึ่งไปเจอเพื่อนเก่า ตอนนั้นเป็นเจ้าพ่อจังหวัดแห่งหนึ่งกำลังนั่งกินข้าวอยู่ ล้อมหน้าล้อมหลังด้วยมือปืนสามสี่คน เพื่อนร้องเชิญให้ร่วมวงด้วย หม่อมถนัดศรีท่านตอบว่า

“กูไม่กินกะมึงดอก กลัวโดนลูกหลงว่ะ”

คนสร้างแต่เวรแต่กรรมไม่มีใครเขาอยากเข้าใกล้ กลัวจะโดนลูกหลง ตายไปแล้วไม่แคล้วตกนรกหมกไหม้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image