จุฬาฯลุยแก้ ‘น้ำท่วม – PM 2.5’ ผ่านระบบ Smart IoT สู่บิ๊กดาต้า

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในข้อตกลง (MOU)ร่วมกับ บริษัท เดสพาซิโต บูล จำกัด เพื่อร่วมกันวิจัย-พัฒนา นวัตกรรมผ่านระบบ Smart IoT เพื่อบริหารจัดการระบบ Big Data – Smart Water เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โครงการนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน เพื่อวางแผนโซลูชั่นในการนำเอาระบบ IoT โดยการเชื่อมโยงผ่านระบบ Internet 5 G รวมถึงระบบ Wireless ต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) เพื่อให้สามารถนำข้อมูลจากการบันทึกจากแหล่งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำมาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง

ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้หารือและวางแผนการจัดการน้ำครบวงจรโดยผ่าน Smart IoT Smart water ประมวลผลผ่าน Big Data ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และครั้งนี้เป็นการเซ็นเอ็มโอยู ร่วมกัน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านระบบ Smart IoT เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ดร.ณพลเดช มณีลังกา ประธานที่ปรึกษาบริษัท เดสพาซิโต บูล ได้กล่าวว่า จากการเซ็นเอ็มโอยู เบื้องต้นในครั้งนี้ อยากจะนำการบริหารน้ำครบวงจรตาม “ศาสตร์ของพระราชา” ที่มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์แห่งน้ำ” นำมาใช้และพัฒนาและต่อยอด โดยการนำเอานวัตกรรมผ่านระบบเทคโนโลยี เช่น ระบบ Smart IoT นำมาเชื่อมต่อเพื่อให้สามารถทราบแหล่งน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยหากนำระบบ Smart IoT มาช่วย จะสามารถบริหารได้อย่างครบวงจรและบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อมูลที่ไม่แน่นอนของปริมาณน้ำทั้งประเทศว่ามีปริมาณเท่าใดอยู่ที่ไหนบ้างอย่างละเอียด ทำให้ที่ผ่านมายังประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งกันมาอย่างต่อเนื่อง หากทราบผ่านระบบ Smart IoT ประมวลผ่านระบบ Big Data จะทราบทันทีว่าปริมาณน้ำมากอยู่ที่ใดและควรโยกย้ายถ่ายเทไปที่ไหน

รวมถึงสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าน้ำจะเพียงพอต่อการเกษตรหรือไม่ เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูกข้าวและไม้ผลได้อย่างถูกต้องตามเขตพื้นที่ ผลิต จะทำให้ผลการเกษตรได้ผลดี ประชาชนอยู่ดีกินดี หากปีไหนที่ปริมาณฝนมากก็สามารถแจ้งเตือนประชาชนและส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ล่วงหน้าเพื่อให้เฝ้าระวังและมีบริหารจัดการน้ำอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับประชาชนอย่างมากเหมือนที่ผ่านมา ผลเสียกับประชาชนรัฐอาจไม่สามารถตีเป็นมูลค่าความเสียหายได้ ทั้งนี้ระบบ Smart IoT นอกจากจะบริหารจัดการน้ำได้แล้ว ยังจะสามารถบริหารจัดการ PM 2.5 รวมถึง Smart City, Smart Farm ฯลฯ ได้อีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการขับเคลื่อน 5G หนังสือพิมพ์มติชนยังเตรียมจัดงานสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN วันที่ 30 ตุลาคมนี้ 2562 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ เวลา 08.30-12.00 น.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image