คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ทำกันถึงไหนแล้ว : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ “คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่อง “Thailand 4.0” พอสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของนโยบาย “Thailand 4.0” ก็คือ การสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าหรือบริการของไทยด้วย “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวม

“นโยบาย Thailand 4.0” มุ่งแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ 2 เรื่อง คือ (1) กับดักรายได้ปานกลางของคนไทย และ (2) สังคมผู้สูงวัย

(1) การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

Advertisement

ทุกวันนี้ ประชากรมีรายได้อยู่ในระดับปานกลาง คือประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี มาเป็นระยะเวลาร่วม 20 ปีแล้ว เพราะยังยึดรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ คือทำมากได้น้อย แต่วันนี้รัฐบาลจึงมีนโยบาย “Thailand 4.0” ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ ทำน้อยแต่ได้มูลค่ามาก ดังนั้น หากยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิมๆ อยู่ แม้ว่าจะมีอัตราเติบโตทุกปีแต่ก็ค่อนข้างช้าจะเห็นจากตัวเลข GDP ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโตเพียงปีละ 3-3.5% เท่านั้น การจะก้าวไปสู่ประเทศที่มีประชากรมีรายได้ระดับสูงขึ้นคือต้องสูงกว่า 12,500 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีนั้นอาจต้องใช้เวลานาน

(2) ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ

ด้วยเหตุที่ไทยมีอัตราการเกิดของประชากรอยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้ช่วงวัยที่เป็นแรงงานหายไป ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวหลายล้านคน จึงเป็นที่มาของการกำหนดอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve Industry) แต่เดิมนั้น เรามี 5 อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูงและเป็นผู้นำอยู่แล้ว (First S-Curve) แต่เพื่อการเตรียมตัวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จึงกำหนด 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เรายังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

Advertisement

ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมไทยนอกจากจะเจอกับปัญหาถูก Disrupt จากเทคโนโลยีด้านดิจิทัลแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง เพราะจะต้องใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงและใหม่ๆ

ดังนั้น การก้าวเดินพร้อมกับนโยบาย “Thailand 4.0” และตามให้ทัน “Industry 4.0” เพื่อความอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้นั้น ทุกอุตสาหกรรมจะต้องเร่งในการปรับตัวและพัฒนาตัวเอง เพื่อหนีจากการถูกไล่ล่าโดยเทคโนโลยี คือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด ต้องนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมาเสริม มีการใช้เครื่องจักรเครื่องมือที่ทันสมัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตลอดจนทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเดิมของตนเอง เช่น จากเคยสนใจแต่ลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มียอดปริมาณการซื้อขายจำนวนมาก มาให้ความสำคัญกับลูกค้ารายเล็กจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในยุค 4.0 จะต้องรู้จักการทำตลาดออนไลน์ด้วย การสร้างและพัฒนา Application ที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ยิ่งปัจจุบันเกือบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone อยู่ในมือ และสามารถสร้างอิสรภาพในการเลือกซื้อสินค้าได้เอง ตลาดออนไลน์จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

เรื่องที่สำคัญที่สุด ก็คือทักษะและความสามารถของ “ผู้บริหารยุค 4.0” เพราะนอกจากเรื่องของ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” แล้ว บทบาทด้าน “การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) ก็สำคัญยิ่งเพราะความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ (ทั้งโครงสร้างและบุคลากร) จะเป็นการยกระดับองค์กรสู่ความทันสมัยใน ยุค 4.0 ได้

แต่ความจริงในวันนี้ ก็คือ ส่วนใหญ่แม้จะ “รู้ทุกเรื่อง” แต่ก็ยังนิ่งเฉย กล้าๆ กลัวๆ กับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ SMEs ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image