สอนน้องทำ ‘ซีพีอาร์’ เพิ่มโอกาสช่วยชีวิต ‘คนไร้สิทธิ’ ในตะเข็บชายแดน

หมอยุ้ยสอนน้องวินเรียนรู้การทำซีพีอาร์ในขั้นตอนการจับชีพจร

อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือสถานที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนอย่างสุขสบาย ทว่า หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า อ.สวนผึ้ง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่คนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเป็นอำเภอตะเข็บชายแดนไทย-พม่า หลายตำบลหมู่บ้านมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงไร้สัญชาติที่อพยพข้ามพรมแดนมาด้วยปัญหาความไม่สงบในอดีต ปัจจุบันยังคงมีฐานะยากจนและขาดความรู้ นำมาสู่ปัญหาสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายมิติ

ที่สำคัญคือ ปัญหา “ไร้สัญชาติ” ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการทางการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐได้ หากจะเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็ต้องเสียเงินค่ารักษาเองทั้งหมด ดังนั้น หากมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้โรงเรียนในชุมชนเป็นที่พึ่งพิงในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น หากอาการร้ายแรงเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ทางโรงเรียนก็จะประสานส่งตัวไปรักษาในสถานพยาบาลของรัฐซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนกว่า 30 กิโลเมตร

ทำให้ทักษะการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้กลับมาหายใจและการไหลเวียนเลือดกลับคืนสู่สภาพปกติ หรือซีพีอาร์ (Cardiopulmonary resuscitation) เป็นทักษะสำคัญยิ่งสำหรับชาวชุมชนบ้านบ่อหวี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพราะสิ่งนี้หมายถึงการเพิ่มโอกาสช่วยชีวิตของคนในชุมชนในยามมีเหตุฉุกเฉิน

ไม่นานมานี้ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯนำจิตอาสาจากบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย และบริษัท อัพจอห์น ประเทศไทย ร่วมกับจิตอาสาอื่นๆ รวมกว่า 100 คน ลงพื้นที่โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) มอบอาคารศูนย์ปฐมพยาบาล สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และแหล่งเรียนรู้ส่งเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ถ่ายทอดทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ ตลอดจนมอบหุ่นฝึกช่วยฟื้นคืนชีพสำหรับให้นักเรียนและชาวชุมชนใช้ฝึกทักษะซีพีอาร์อย่างถูกต้อง

Advertisement

ด.ช.สุรวินทร์ คล้ายอินทร์ หรือน้องวิน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในนักเรียนชาวกะเหรี่ยงที่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้วิธีการทำซีพีอาร์เล่าว่า ตื่นเต้นและดีใจที่ได้เรียนรู้การทำซีพีอาร์ หากพบผู้ป่วยหมดสติให้ลองเรียกผู้ป่วยก่อน ถ้าไม่มีการตอบรับใดๆ ต้องรีบฟังเสียงหัวใจและวัดชีพจรที่ต้นคอว่ายังเต้นอยู่หรือไม่ ด้วยการใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางแตะบริเวณกลางลำคอติดกับคาง ซึ่งจะพบชีพจรมากกว่าแตะบริเวณข้อแขน จากนั้นให้พิจารณาระยะเวลาการเต้นของชีพจร 5-10 วินาที ถ้าชีพจรไม่เต้นแสดงว่าเข้าขั้นวิกฤต ต้องรีบทำการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตทันที ถือเป็นความรู้ใหม่และสำคัญมากที่ได้รับ เพราะจะทำให้สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นๆ ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากชุมชนของเราอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล

น.ส.รุ่งลาวัลย์ ทองลิ่ม พยาบาลวิชาชีพ ประจำสถานีอนามัยบ้านบ่อหวี หรือหมอยุ้ย บอกว่า นักเรียนโรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิทางการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากเป็นชาวกะเหรี่ยงไร้สัญชาติ ดังนั้น หากเกิดการเจ็บป่วยก็ต้องมาพึ่งพาห้องพยาบาลโรงเรียนเพื่อใช้สำหรับรักษาเบื้องต้น ก่อนจะส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งอยู่ไกลและใช้เวลานาน

Advertisement

“การมีศูนย์ปฐมพยาบาลในชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และการเรียนรู้เรื่องซีพีอาร์จะทำให้เด็กมีความรู้สามารถนำไปช่วยเหลือเพื่อน ญาติมิตร ผู้ปกครองและคนในชุมชนได้ เพื่อเพิ่มโอกาสยื้อชีวิตของคนในชุมชนที่ไร้สัญชาติไร้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ”

เซลิม เซสกิน

ขณะที่ เซลิม เซสกิน ประธานกรรมการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “One Pfizer for Better society ร่วมใจให้สังคม” โดยนอกจากการสร้างอาคารปฐมพยาบาลชุมชน มอบให้แก่โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) แล้ว ยังมอบยาสามัญประจำบ้าน เครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงมอบหุ่นฝึกช่วยฟื้นคืนชีพเพื่อให้เป็นสื่อการเรียนการสอนแก่นักเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังสร้างแปลงเกษตรพืชผักสวนครัวและโรงเลี้ยงไก่ไข่มอบให้แก่โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช อย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอดทั้งปี ตลอดจนเรียนรู้การสร้างรายได้จากการทำการเกษตร รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายผลผลิตจะนำไปเป็นทุนสำหรับอาหารเช้าและกลางวันของนักเรียนในโรงเรียน

เพราะทุกชีวิตมีความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image