‘อีลิอุด คิปโชเก้’ การชนะขีดจำกัดที่ยังไม่จบแค่นี้

อีลิอุด คิปโชเก้ นักวิ่งชาวเคนยากลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ทลายกำแพง วิ่งเข้าเส้นชัยในระยะฟูลมาราธอน 42.195 กม. ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ในโปรเจ็กต์ อีนิออส 1.59 ชาลเลนจ์ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

คิปโชเก้พุ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1.59.40.2 ชั่วโมง ถึงแม้การวิ่งรายการนี้จะไม่ได้รับรองสถิติจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ เพราะไม่ใช่การแข่งขันแต่เป็นโปรเจ็กต์ที่ต้องการเอาชนะขีดจำกัดของมนุษย์ แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นเรื่องที่น่าทึ่งหรืออาจจะถูกเรียกเป็นภารกิจของยอดมนุษย์เลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้ ยอดปอดเหล็กเคนยาเคยพยายามมาแล้วครั้งหนึ่ง ในโปรเจ็กต์ เบรกกิ้ง 2 ที่ร่วมกับไนกี้ เขาเตรียมพร้อมอย่างดี และลงวิ่งที่สนามแข่งขันรถมอนซ่า ในอิตาลี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2017 แต่วันนั้นเวลาของเขาอยู่ที่ 2.00.25 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังไม่สำเร็จ

Advertisement

เบร็ตต์ เคอร์บี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านความแข็งแกร่งทางร่างกายของมนุษย์ ทำงานร่วมกับคิปโชเก้ในโปรเจ็กต์ เบรกกิ้ง 2 เคยบอกเอาไว้ว่า การทำสถิติวิ่งต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ในระยะมาราธอนเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก นักวิ่งหลายคนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโปรเจ็กต์แบบนี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่คิปโชเก้ไม่คิดแบบนั้น เขาพร้อมจะเอาร่างกายและจิตใจมาทุ่มเทกับการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก คิปโชเก้มีคุณสมบัติพิเศษในการวิ่งด้วยความเร็วอย่างสม่ำเสมอ และมีวินัยในการใช้ชีวิตที่น้อยคนจะทำตามได้

“การจะเป็นนักวิ่งระดับนี้ได้ จะต้องมีวินัยตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่ 2 ชั่วโมงในการซ้อมหรือแข่ง” เคอร์บี้กล่าว

Advertisement

ในวันที่คิปโชเก้เข้าเส้นชัยที่มอนซ่า เขารู้ว่าเบรกกิ้ง 2 ไม่สำเร็จอย่างที่หวัง แต่กลับมองโลกในแง่บวกเพราะรู้ว่ายังมีเวลาและโอกาสในการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับโลกได้อีกพอสมควร แล้วก็ทำให้ได้จริงๆ หลังจากนั้น 2 ปี 5 เดือน 5 วัน

อีนิออส 1.59 ชาลเลนจ์ ใช้กลไกหลายอย่างในการผลักดันให้คิปโชเก้ทำลายขีดจำกัดของมนุษย์ได้ ตลอดการแข่งขัน 42.195 กม. จะมีเพเซอร์หรือผู้ร่วมวิ่ง 7 คน คอยประกบคิปโชเก้ ด้านหน้า 5 คน และด้านหลัง 2 คน เพื่อช่วยลดแรงต้านของลม โดยจะมีเพเซอร์ 6 กลุ่ม รวม 41 คน รับหน้าที่เป็นผลัดต่อกันไป ส่วนด้านหน้าของกลุ่มนักวิ่งจะมีรถยนต์ที่มีแสงเลเซอร์ยิงมาที่พื้นถนนเพื่อกำหนดอันตราการเร่งของฝีเท้าให้ได้ตามที่กำหนดเอาไว้

เพเซอร์ทั้ง 41 คน ไม่ใช่นักวิ่งทั่วไป แต่ทุกคนมีดีกรีในระดับโลกทั้งสิ้น เจฟฟรีย์ คัมวอเรอร์ เพื่อนร่วมชาติเคนยา แชมป์โลกฮาล์ฟมาราธอน 3 สมัย, โจชัว เชปเตเก แชมป์รายการวิ่งครอสคันทรีชิงแชมป์โลก 2019 ชาวอูกันดา เป็นเจ้าของสถิติโลกวิ่ง 15 กม. เพิ่งคว้าแชมป์โลกวิ่ง 10,000 เมตร ในศึกกรีฑาชิงแชมป์โลก 2019 มามหาดๆ ด้วย, ฌูเลียน วันเดอร์ส เจ้าของสถิติยุโรป ระยะ 10 กม. และฮาล์ฟมาราธอน(21.1 กม.) รวมทั้งนักวิ่งอีลิทจากทั่วโลก ที่ต่างร่วมใจกันมาสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

นอกจากปัจจัยรอบข้างแล้ว รองเท้าก็ยังออกแบบมาเพื่อการวิ่งทำลายขีดจำกัด 2 ชั่วโมงโดยเฉพาะ ไนกี้ออกแบบรองเท้ารุ่น เวเปอร์ฟลาย ให้กับคิปโชเก้ ซึ่งตัวรองเท้าจะทำให้นิ้วเท้าเหยียดตรง ไม่งอในขณะวิ่ง เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ ซึ่งเริ่มใส่มาตั้งแต่ปี 2016 และตลอดระยะเวลา 13 เดือน ปอดเหล็กเจ้าของสถิติโลกใส่รองเท้าคู่นี้ คว้าแชมป์มาแล้ว 5 มาราธอนระดับเมเจอร์

รอสส์ ทัคเกอร์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาเปิดเผยว่า เวเปอร์ฟลายจะช่วยให้นักวิ่งระดับโลกที่ใส่นั้นช่วยลดเวลาการวิ่งได้ถึง 60-90 วินาที ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เวเปอร์ฟลายคู่ที่คิปโชเก้ใส่วิ่งที่เวียนนา มีส่วนช่วยให้เขาวิ่งได้เร็วขึ้นกว่า 7-8 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ถึงแม้จะทุบกำแพงทลายขีดจำกัดที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้แล้ว แต่สถิติก็ยังไม่ได้บันทึกอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าสิ่งที่คิปโชเก้อยากจะทำต่อไป คือ ทำในสิ่งนี้ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนจริงๆ ที่ไม่ได้เซตสถานการณ์ขึ้นมา เพราะถ้าวันนั้นมันเกิดขึ้นจริงๆ คงอีกนานกว่าที่จะมีใครทำลายสถิติ 1.59.xx ลงได้

อย่างไรก็ตามความเชื่อในโลกกีฬาที่บอกไว้ว่า “สถิติมีไว้ทำลาย” ก็จะทำให้ตัวเองคิปโชเก้เอง และยอดปอดเหล็กจากทั่วโลก ยังคงเดินหน้าเอาชนะขีดจำกัดกันต่อไป จนกว่าที่มนุษย์จะเปลี่ยนวิวัฒนาการไม่ต้องใช้ขาอีกแล้ว

ติดตามข่าวเด็ดกีฬาดัง ทาง Line@ มติชนกีฬา (@matisport) คลิกเลย
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image