ก.ท่องเที่ยวจับมืออพท. จัดเสวนา ‘มองมิติใหม่เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน’

วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดงานประชุมสัมมนา DASTA Forum 2019 “มองมิติใหม่เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน” โดยมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท.มีบทบาทภารกิจที่สำคัญ ในการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยว
อย่างยั่งยืนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ประชาชน หน่วยงานทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการที่อพท.ได้รับมอบหมายจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เร่งหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนให้มากขึ้น โดยได้พัฒนาชุมชนต้นแบบในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้มากขึ้นจากเดิม ที่มี 14 ชุมชน ขยายไป 80 ชุมชนออกมาให้ชัดเจนมากขึ้น และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการช่วยประชาสัมพันธ์ด้านต่างๆ

“การพัฒนาให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย เติบโตอย่างยั่งยืน แบ่งเป็นหลานด้านหลายมิติ โดยในมิติการบริหารจัดการ ก็ต้องมีนโยบายในการบริหารจัดการที่ดีและชัดเจน ในมิติสังคมและเศรษฐกิจ ก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนหรือสังคม เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมขึ้น เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ เพื่อให้ไปถึงในมิติของวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยในส่วนของสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่ททท.ออกแคมเปญ การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมา เพื่อกระตุ้นให้การท่องเที่ยวทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด รวมถึงยังทำการพัฒนาชุมชนต้นแบบขึ้น เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนเหล่านั้นมีรายได้เสริม จากการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างชาติ แต่จะเริ่มเข้าไปช่วยในส่วนของชุมชนที่มีความพร้อมและมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดีก่อน เพราะไม่สามารถลงไปพัฒนาชุมชนทุกแห่งพร้อมกันได้ เนื่องจากไม่ได้มีงบประมาณที่มากเพียงพอ หรือได้งบประมาณเพิ่มขึ้น”นายทวีพงษ์กล่าว

นายทวีพงษ์กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชน ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาเพื่อผู้อยู่ในชุมชนนั้นๆ เอง รวมถึงสามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ที่มีเฉพาะในชุมชนตนเอง ซึ่งถือเป็นความภาพภูมิใจหนึ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยหากชุมชนเหล่านั้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ ก็จะมีรายได้เสริมเข้ามามากขึ้น และหากทำได้ดี ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นรายได้หลักอีกทางได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ มองว่าการให้ความสำคัญกับดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ไม่ได้เป็นผลดีกับภาคการท่องเที่ยวไทย เพราะความจริงแล้วจะต้องพัฒนาและทำทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป

Advertisement

นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างสูง เพราะการที่คนมีเงินในกระเป๋าหรือไม่มี ส่งผลต่อความต้องการและความพร้อมในการออกเดินทางท่องเที่ยวสูงมาก เนื่องจากหากคนไม่มีเงินก็ไม่สามารถออกเที่ยวได้ โดยเป้าหมายการท่องเที่ยวเติบโตที่ 10% ทุกปี มองว่ายิ่งฐานทำไว้สูง ก็ยิ่งทำได้ยากในปีถัดไป พร้อมทั้งประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวไทยในขณะนี้เติบโตมากขึ้นก็จริง แต่ปัญหาด้านความปลอดภัยก็ดูยังไม่ได้ดีมากเท่สที่ควร ทำให้การเติบโตด้านการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต จะเป็นการเติบโตที่สุ่มเสี่ยงและมีความประมาทมาก เนื่องจากไม่สามารถการันตีความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาได้ ทั้งที่มีการทำการตลาด เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาอยู่ตลอดเวลา

“การที่ปัจจุบันข่าวสารไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ถูกส่งต่อและเกิดการตีแผ่ไปยังสื่อต่างประเทศด้วย ทำให้เกิดผลกระทบตามมา โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่ผู้คนมักชื่นชอบการนำเสนอข่าวในแง่ลบ ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า พอมีการเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยแล้ว จะสามารถรับรองความปลอดภัยของคนเหล่านั้นได้หรือไม่ จึงต้องหาจุดแข็งในการนำเสนอต่อต่างชาติ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยแล้วชื่นชอบมากที่สุดคือ อาหารไทย ความคุ้มค่า ราคา และความมีน้ำใจของคนไทย จึงต้องชูจุดเด่นและความชื่นชอบเหล่านี้ เพื่อให้ตอบโจทย์ของต่างชาติ รวมถึงแก้ไขปัญหาในหลายๆ ด้านไปพร้อมกันด้วย”นางน้ำฝนกล่าว

นางน้ำฝนกล่าวว่า หากประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมได้ จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึงจุดจบแน่นอน เพราะไม่สามารถเดินต่อไปถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ ทำให้การดำเนินการในปี 2563 จะมุ่งเน้นไปที่การใส่ใจกับการสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อพัฒนาด้านซัพพลายให้เพียงพอกับดีมานด์ที่จะเข้ามามากขึ้นในอนาคต

Advertisement

นายธเนศ วรศรัณย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอเสนอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะอพท.เร่งรัดเข้าไปปลูกฝังให้เยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาและสร้างแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนตัวเองขึ้นมา ซึ่งอาจทำได้โดยประสานกับโรงเรียนในพื้นที่จัดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ อาทิ ในทุกเดือนทางโรงเรียนต้องจัดกิจกรรมพาเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นไปทัศนศึกษาชุมชนตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าชุมชนตัวเองมีอะไรดี มีอะไรเด่น เพื่อให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ โตขึ้นมาสามารถทำงานด้านการท่องเที่ยวหรือเป็นทูตท่องเที่ยวได้ อย่างน้อยก็ต้องทำให้สามารถบอกได้ว่าในชุมชนของตนเองมีอะไรดี รวมถึงต้องบริหารจัดการในด้านซัพพลายและการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวใหม่ เพราะจากสถิติพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวไทย มักไปเที่ยวใน 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี ทำให้เกิดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว จึงต้องกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น

นายธเนศกล่าวว่า ขณะเดียวกันในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ภาคเอกชนมองว่า การขับเคลื่อนนโยบายจากทางภาครัฐอาจต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการมุ่งดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหน้าใหม่ที่ไม่เคยมาเที่ยวประเทศไทยเป็นหลัก จนลืมไปว่าความจริงนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 65% ที่เดินทางมาไทย จะเป็นกลุ่มที่เคยมาเที่ยวไทยแล้วและกลับมาซ้ำๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งเสริมใหม่ โดยจะต้องให้ความสำคัญและดูแลนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มาซ้ำให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้ เมื่อมาหลายครั้งก็ต้องเกิดการอยากเปลี่ยนแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งตอบโจทย์กับการกระตุ้นให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวพอดี อย่างไรก็ตาม มองว่าการหากสามารถกระตุ้นให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไทย มากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติได้จะดีที่สุด เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย ภาคการท่องเที่ยวไทยก็จะไม่ได้รับผลกระทบสูงมากเหมือนที่เคยเกิดขึ้น

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image