‘กสทช.’ จ่อเปิดประมูล 4 คลื่นความถี่ 56 ไลเซนส์ ดีเดย์ 30 ต.ค. ประกาศราคาเริ่มต้นการประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ขณะนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบให้ กสทช. จัดทำวิดีโอพรีเซนเทชั่นความยาว 3-5 นาที เพื่อแสดงถึงประโยชน์และศักยภาพของ 5G โดยคาดว่า ภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นายฐากร กล่าวว่า คาดว่า หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป จะแล้วเสร็จกลางเดือนธันวาคม 2562 โดยจะเป็นการประมูลคลื่นความถี่พร้อมกัน 4 ย่านความถี่ จำนวน 56 ใบอนุญาต แบ่งออกเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต รวม 15 เมกะเฮิรตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต รวม 35 เมกะเฮิรตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 10 ใบอนุญาต รวม 100 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ขนาดใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ใบอนุญาต รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 12 ใบอนุญาต รวม 1200 เมกะเฮิรตซ์

ปัจจุบัน คลื่นความย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ โดย 3 สถาบันในประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ 1 สถาบันต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยคาวมาและเทคโนโลยี ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 700 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะนำราคาสูงสุดจากการประมูลครั้งก่อน มาเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลครั้งต่อไป

“สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ จะนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 และเข้าที่ประชุม กสทช. ครั้งต่อไป วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 จากนั้นนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และนำกลับเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. อีกครั้งช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะสามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลได้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 และช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ผู้ชนะการประมูลจะสามารถเริ่มขยายโครงข่ายได้” นายฐากร กล่าว

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนใจนำคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ไปทดลองทดสอบในพื้นที่แล้ว ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) โดยทั้ง 2 บริษัทต้องทำหนังสือขอใช้งานมายัง กสทช. เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ต่อไป

“กสทช. มีการขยับกรอบระยะเวลาในการผลักดันการขับเคลื่อน 5G เข้ามาให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศต้องตกขบวน โดยวันที่ 30 ตุลาคมนี้ จะประกาศราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์” นายฐากร กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image