คอลัมน์ โลกสองวัย : ยุค 5G ทำอย่างไรไม้ผลพารวย

บ่ายวันนี้ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 มีรายการเสวนาเกษตรแห่งปีของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน “ไม้ผลพารวย ยุค 5G”

ผู้นำการเสวนารายการแรก ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร” จาก อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

ชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 6 กูรูทุเรียนระดับประเทศ เรื่อง “ผลิตทุเรียนให้รวยอย่างยั่งยืน”

Advertisement

ณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุธน บริษัท เอ็มซีโคโคนัท จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมวันละ 100,000 ลูก เรื่อง “มะพร้าวน้ำหอมไทยไปนอกไม่ใช่เรื่องยาก”

เสาวณี วิเลปะนะ เจ้าของแบรนด์ คิงส์ฟรุทส์ ส่งกล้วยหอมขึ้นห้างฯ วันละ 15 ตัน เรื่อง “สูตรความสำเร็จกล้วยหอมทองร้อยล้าน”

ประพันธ์ จิวะพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหา ชน) (ดีแทค) เรื่อง “ดีแทค สมาร์ทฟาร์มเมอร์”

Advertisement

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกาตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เรื่อง “เทคโนโลยียุค 5G เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร”

ห้วงเวลา 3 ชั่วโมง หากเกษตรกรและน้องหนูตั้งใจรับฟังการบรรยายพร้อมตัวอย่าง รับรองได้ว่าจะได้เนื้อหาสาระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 ตามเก็บเอกสารที่นำมาแจก หรือโทรศัพท์ไต่ถามหรือติดตาม “กูรู” ทั้งห้าทั้งหก จากหมายเลขโทรศัพท์และ อีเมล์ หรือ “ไลน์” ของท่านเหล่านั้น รับรองไม่ผิดหวัง

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังเนื้อเพลงที่ว่า “กสิกรแข็งขัน เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจ เพราะเราเป็นชาติกสิกรรม”

ประเทศไทยให้กำเนิดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ทุ่งบางเขน มาตั้งแต่ปี 2486 ถึงวันนี้กว่า 77 ปีแล้ว ผลิตบัณฑิตตั้งแต่สาขาการเกษตร การประมง วนศาสตร์ และคณะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรและวิศวกรรม เทคโนโลยีการเกษตร ทั้งยังจัดตั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์

วันนี้ เมื่อทั้งสองกระทรวง กระทรวงหนึ่งผลิต อีกกระทรวงหนึ่งขาย รวมอยู่ในพรรคการเมืองเดียวกัน หากที่ปรึกษากระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ จับเข้าพูดคุยกัน วันนี้ทั้งประเทศ และชาวโลกต้องการบริโภคผลไม้อะไร จะได้ส่งเสริมผลิตผลไม้นั้นให้ดี มีคุณภาพ แล้วประสานกันส่งออกไปให้ผลไม้นั้นมีคุณภาพและรสชาติตามที่ประชากรในประเทศนั้นต้องการ

อย่างนี้ รับรองว่า ผลไม้ที่ผลิตจากเกษตรกรจะเป็นไปตามที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่มีขาดมีเกิน

ทั้งนี้ อย่าลืมร่วมมือกับเกษตรกรทั้งหลายไม่ใช่ว่า ความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างนั้น แล้วเกษตรกรต่างโหมปลูกโหมผลิตพืชผลชนิดนั้นออกมาจนล้นตลาด อย่างงี้ราคาก็ตกต่ำลงเป็นธรรมดา

หรือแม้แต่ในกระทรวงเดียวกัน บางกรมควรอยู่ด้วยกัน กลับแยกกันอยู่ มีอธิบดีกรมละคน ไม่เหมือน กับ “ไต้หวัน” กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ด้วยกัน มีอธิบดีคนเดียวกัน ผู้บริโภคต้องการผลผลิตชนิดไหน ฝ่ายวิชาการเกษตรจะคิดค้นกรรมวิธีการผลิตให้ได้คุณภาพ แล้วส่งให้ฝ่ายส่งเสริมการเกษตรไปส่งต่อเกษตรกรผลิต

เมื่อกระทรวงเกษตรนำผลผลิตการเกษตรนั้นไปให้กระทรวงพาณิชย์จำหน่ายในตลาด จะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคขณะนั้น อย่างนี้ เกษตรกรจะได้จำหน่ายผลิตผล ประเทศจะมีรายได้จากการนั้นเข้าประเทศ เศรษฐกิจจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี จริงไหมท่านรัฐมนตรีประชาธิปัตย์ โปรดพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image