โครงร่างตำนานคน : ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ การกลับมาที่น่าติดตาม : การ์ตอง

สภาผู้แทนราษฎร ถึงวาระต้องตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นขับเคลื่อนอย่างน่าสนใจด้วยการ เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้

พรรคประชาธิปัตย์กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ และหากจะนับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นตัวละครเอกของการเชื่อมโยงนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลที่หนักแน่นอยู่ไม่น้อย

เพราะสนับสนุนให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ นำพา “ประชาธิปัตย์” เคลื่อนทัพล้มกระดานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระทั่งเกิดกระบวนการเปิดทางให้กองทัพเข้าทำรัฐประหาร

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครองอำนาจ และ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกมองว่าเป็นความเลวร้ายในโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการประเทศต่อเนื่องมา 5 ปีเต็มๆ

Advertisement

การจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นในกติกาใหม่ในนิยาม “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ของเหล่าพลพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตั้งขึ้นมาด้วยภารกิจชัดเจนว่าเพื่อเป็นฐานให้ คสช.ขับเคลื่อนอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง

ระหว่างหาเสียง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศนำพรรคประชาธิปัตย์ไปในทางไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

อันเป็นที่รู้กันว่าทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” พ่ายแพ้อย่างยับเยิน เพราะผู้สนับสนุนเกิดความสับสนในอุดมการณ์ ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตยไม่เชื่อ และมีทางเลือกอื่นที่ชัดเจนกว่า และฝ่ายที่เอนเอียงไปทางอำนาจเผด็จการเกิดความผิดหวัง จำเป็นต้องกาบัตรในแนวทางที่ชัดเจน

Advertisement

“ประชาธิปัตย์” พ่ายแพ้ยับเยิน กลายเป็นพรรคอันดับ 4 ในผลเลือกตั้ง ตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อ “พรรคประชาธิปัตย์” มีมติว่าต้องร่วมรัฐบาล ทางออกที่พอรักษาหน้าไว้ได้บ้างคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรค และ ส.ส.

ถึงกระนั้นก็ยังต้องเพิ่มเติมเงื่อนไขในการเข้าร่วมว่า “รัฐบาล” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐต้องรับเงื่อนไข เอาภารกิจ “แก้รัฐธรรมนูญ” ไปเป็น “นโยบายรัฐบาล”

ทว่า “เงื่อนไข” ดังกล่าวของ “ประชาธิปัตย์” ปรากฏใน “นโยบายรัฐบาล” ที่แถลงต่อสภา แค่ “ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ไม่มีการยืนยันมั่นเหมาะว่าต้องแก้

และมามีวาระ “ตั้งกรรมาธิการ” เมื่อการประชุมสภาผู้แทนสมัยที่ 2 อันสะท้อนว่า “ไม่ใช่วาระเร่งด่วนอะไร”

แต่ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกเบี่ยงเบนไปถึงเพียงนั้น เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกเสนอให้รับบทบาทผลักดัน ความฮือฮาก็บังเกิด

ด้วยเป็นการกลับมามีตำแหน่งในเวทีที่เป็นทางการอีกครั้ง หลังจากพักฟื้นไประยะหนึ่ง

และเมื่อตำแหน่งที่ถูกเสนอให้เข้ามารับหน้าที่ เกี่ยวพันกับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ และบทบาทของ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ที่ถูกลดค่าไปด้วยข้อกำหนดของ “กติกาโครงสร้างอำนาจ”

การกลับมาของ “อภิสิทธิ์” จึงถูกจับตาอย่างใกล้ชิดยิ่ง

ไม่เพียงการเฝ้ามองว่า จริงจังแค่ไหนในการช่วยฟื้นบทบาทของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” เพื่อได้มีโอกาสฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีงามกลับมา

แต่ความสนใจของผู้คนทั่วไปยังโฟกัสไปที่ “ผู้นำรัฐบาล” ให้ราคากับ “อภิสิทธิ์” แค่ไหนต่อการกลับมาครั้งนี้

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image