รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ ความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายดูแลถึง ‘คู่รัก’

รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ ความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายดูแลถึง ‘คู่รัก’

เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันและเดือนแห่งการ “ยุติความรุนแรง” ต่อผู้หญิงสากล เครือข่ายสตรี นำโดย เครือข่ายสตรี 4 ภาค เครือข่ายผู้ชายไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี และมูลนิธิชุมชนไท เผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรี โดย นายบัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนด้านสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ความรุนแรงมีมิติที่สลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ดังที่เห็นจากกรณีผู้หญิงถูกคุกคามจากสามีที่หย่าร้างกันไปแล้ว เพราะไม่ยอมคืนดีจึงถูกทำร้าย ประกอบกับปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มมึนเมา และยาเสพติด

กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ชนบทหรือชุมชน ยอดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมาก บางคนทำร้ายครอบครัว และหลายคนบำบัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น “ศูนย์พัฒนาครอบครัวในพื้นที่” ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้านคือกลไกสำคัญ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังขาดทักษะ ความรู้ และความเข้าใจในกลุ่มคนที่เป็นจิตเวช รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมีความรู้และทัศนคติในการมองว่า “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป” รวมถึงพร้อมที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย

อีกเรื่องที่สำคัญคือ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ที่ไม่ควรส่งเสริมแค่เรื่องการเสริมสร้างอาชีพ แต่ควรส่งเสริมการพัฒนาบทบาทสตรีจริงๆ ใช้เงินในการพัฒนาสิทธิและบทบาทของสตรี ไม่ว่าจะเป็นการคิด การเขียน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งสามารถยุติปัญหาความรุนแรงได้ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวในงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ ว่านิยามความรุนแรงในครอบครัว ในทางกฎหมายไม่ได้ระบุเพียงการทำร้ายร่างกายจนมีบาดแผลเลือดตกยางออก แต่ระบุถึงการสะกดรอยตาม ครอบงำ หรือการกระทำที่ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำกระทบต่อสภาพจิตใจ และไม่ได้พูดถึงแค่คู่สมรสที่จดทะเบียนกันเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงคนรักกัน ที่แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน หรือหย่าร้างแล้ว กฎหมายก็ดูแล

เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้มีเพียง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่นำมาใช้แทน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 มาดูแลเท่านั้น แต่ยังมีกลไก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีครอบครัว พ.ศ.2553 หมวด 15 ตั้งแต่มาตรา 171 ถึงมาตรา 178 ที่นำมาใช้คุ้มครองดูแลได้เช่นกัน

“ข้อดีของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ เขียนไว้ว่า สามารถร้องขอให้ศาลฯ คุ้มครองสวัสดิภาพ โดยออกคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ โดยไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินคดีอาญา ในความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรืออธิบายง่ายๆ คือไม่ต้องไปแจ้งความ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่สามารถยื่นร้องเอง หรือยื่นร้องผ่านอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ศาลออกคำสั่งฉุกเฉินได้”

Advertisement

“เมื่อศาลไต่สวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่จะก่ออันตรายจริง ศาลสามารถออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ เช่น สั่งห้ามเข้าใกล้ผู้ถูกกระทำ สั่งให้เข้ารับการบำบัดการติดสุรา หรือพฤติการณ์ใดที่เป็นเหตุนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ในระยะเวลาที่กำหนด และสามารถสั่งกำกับติดตามพฤติการณ์ว่าเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่”

“สำคัญคือ ศาลสามารถสั่งให้ผู้กระทำ จ่ายบรรเทาทุกข์เบื้องต้น เช่น ค่าที่พัก ค่ายานพาหนะ แม้คู่รักนั้นจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตามได้”

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ประชาชนได้รู้และเข้าถึงสิทธิตรงนี้ เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็เหมือนไฟ ที่หากก่อติดแล้วก็จะค่อยๆ ลุกโชนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะแก้ได้ต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ตัวเราเองที่ต้องเปลี่ยน ไม่กระทำความรุนแรงเสียเอง ขณะเดียวกันก็คอยช่วยสอดส่องเตือนสติกัน แทรกแซงไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย สำคัญไม่แพ้กันคือ มาตรการทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ

ยุติความรุนแรงเพื่อสตรี เด็ก และครอบครัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image