“อนุทิน” ตอกกลับคนสวนกระแส ยัน สธ.หนุน “แบนสารพิษ” ไม่มีวาระซ่อนเร้น

จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร เสนอให้การแบนสารพิษ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เลื่อนจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ไปอีก 6 เดือน หลังจากการทำประชาพิจารณ์ พบว่าประชาชนร้อยละ 75 ยังสนับสนุนให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.มีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า อะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่สมควรให้ใช้ต่อไป ส่วนเรื่องสารทดแทน เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น สำหรับ สธ.มีหน้าที่รักษาพยายาบาล ที่ผ่านมา เห็นผลกระทบจากการใช้สารพิษที่เลวร้าย ดังนั้น ตัวแทนของ สธ.ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงตัดสินใจแบน

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ถ้าดูภาพรวมของมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งคณะจะพบว่าฝ่ายที่แบนมีมากกว่าด้วยสัดส่วน 3 ต่อ 1 ถือว่าชัดเจนแล้วว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ส่วนจะเลื่อนไป 6 เดือน ทำได้หรือไม่ อยากให้ไปดูกฎหมาย แต่ขอวิงวอนว่าการจะทำอะไรต่อจากนี้ ขอให้ตั้งอยู่บนประโยชน์สูงสุดของประชาชน เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ทุกฝ่ายทำงานบนความซื่อสัตย์ ไม่มีวาระซ่อนเร้น พืชผักผลไม้เป็นเรื่องที่ประชาชนบริโภคทุกวัน ต้องคิด ต้องตัดสินใจกันให้ดี

“ผมมั่นใจว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีมติให้แบน 3 สารพิษ ต่างคิดมาดีแล้ว ส่วนใครที่ยกผลการทำประชาพิจารณ์มาสนับสนุนให้ใช้สารพิษต่อ ผมจะถามกลับว่า ในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ยกมือสนับสนุนให้แบนสารพิษ 423 ต่อ 0 เห็นชอบกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาผลกระทบการใช้สารเคมีการเกษตร ซึ่งผลการศึกษาระบุชัดว่า ต้องแบนสารพิษ และให้มีการเตรียมความพร้อมประเทศไทย เป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ในปี 2573 เสียงของผู้แทนประชาชนออกมาแบบนี้ แล้วจะเอาอย่างไร ที่สุดแล้ว เรื่องแบนสารพิษจะเดินหน้าไปทางไหน ก็ต้องรอดูการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน นำคณะผู้บริหาร สธ. อาทิ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัด สธ. ร่วมประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ (ผอ.รพ.) แถลงจุดยืนสนับสนุนการแบนสารพิษ ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นไป ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.ทราบถึงผลกระทบของการใช้สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งไม่ได้เพียงสร้างผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกร เกิดแผลพุพอง ทุกข์ทรมาน แต่ยังตกต้างในผักผลไม้ กระทบต่อผู้บริโภค มีผลวิจัยยืนยันข้อมูล ทั้งนี้ สารดังกล่าวเมื่อถูกชะลงน้ำ จะเข้าไปปนเปื้อนในพืชผักผลไม้ สร้างอันตรายเป็นวงกว้าง

Advertisement

“จุดยืนของเรามีเพียงอย่างเดียวคือ แบนสารพิษ และต้องแบนในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เห็นควรให้เลื่อนออกไปอีก ขอให้รับทราบโดยทั่วกัน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.สุขุม กล่าวว่า การใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด เกิดผลกระทบต่อสุขภาพแก่ประชาชนอย่างมากมาย ดังเช่นผู้ป่วยที่มีการรายงาน รวมทั้งมีผลกระทบต่อประชากรรุ่นใหม่ของประเทศ จุดยืน สธ.คือสนับสนุนการยุติการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้ง 3 ชนิด เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของคนไทย

ด้าน นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า จากข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของ สธ.ในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลวิชาการพบว่า พาราควอตเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปัจจุบันไม่มียาถอนพิษ สำหรับไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ ส่วนคลอร์ไพริฟอส งานวิจัยต่างประเทศพบว่า เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบไทรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้ มีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image